จริตที่เหมาะสมกับอารมณ์สมถกรรมฐาน


การปฏิบัติสมถกรรมฐาน
                คำว่า  “จริต”  พระธรรมปิฎก  (ประยุทธ์  ปยุตฺโต)  ได้ให้ความหมายในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรมไว้ดังนี้คือ  “ความประพฤติ  ความประพฤติซึ่งหนักไปข้างใดข้างหนึ่งอันเป็นปกติประจำอยู่ในสันดาน  พื้นเพของจิต  อุปนิสัย  พื้นนิสัย  แบบหรือประเภทใหญ่ ๆ  แห่งพฤติกรรมของคน”

                ดังนั้น  จริต  หมายถึง  ความประพฤติปกติ  ความประพฤติปกติของคนชนิดเป็นอาจิณ  พื้นเพของจิต  ลักษณะความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่งตามสภาพจิตที่เป็นปกติของคนนั้น

                การเจริญสมถกรรมฐานที่จะให้ผลดีนั้น  ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค  กล่าวไว้ว่า  อาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน  ควรเลือกกรรมฐานที่เหมาะกับจริตของผู้ปฏิบัติ  เพื่อให้ปฏิบัติได้ผลดีและรวดเร็ว  ซึ่งอารมณ์กรรมฐาน  40  อย่าง  ต้องเลือกอารมณ์สมถะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเหมาะกับจริต  ซึ่งจริตนั้นมี  6  อย่าง  คือ

1.      คนที่มีราคะจริต

คนที่มีราคะจริต  คือมีนิสัยหนักไปทางราคะ  ชอบรักสวย  รักงาม  ละมุนละไม  นอกจากนี้ยังมีนิสัยไปในทางลบ คือ

 เป็นคนเจ้าเล่ห์  ชอบโอ้อวดชอบถือตัว  มีความปรารถนาลามก  มีความอยากเป็นใหญ่เป็นโต  อยากให้คนอื่นนิยมชมชอบตนเองจนเกินประมาณ  ไม่สันโดษ  เป็นมีอิริยาบถนุ่มนวลไม่รีบร้อน  ทำงานเป็นระเบียบและชอบความสะอาดสวยงาม  ชอบบริโภคอาหารที่มีรสหวานมัน  อร่อย  และมีสีต่าง ๆ

                อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะแก่คนมีราคะจริต  ได้แก่  อสุภะ  10  และกายคตาสติ  1

2.    คนที่มีโทสจริต

คนมีโทสจริต  คือ  มีนิสัยหนักไปทางโทสะ  เป็นคนใจร้อน มีอิริยาบถพรวดพาดรีบร้อน หงุดหงิดหุนหันพลันแล่น

โกรธง่าย  ชอบผูกอาฆาตพยาบาท  เป็นมักลบหลู่บุญคุณคนอื่น  มักอวดดี  มีความริษยาในคุณของคนอื่น  เป็นคนตระหนี่  ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น  ชอบดูการชกต่อยและต่อสู้  ทำการงานสะอาดแต่ไม่เรียบร้อย  ชอบรับประทานอาหารรสจัด  เปรี้ยว  เค็ม  ขม  กินเร็ว  และคำโต

                อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะสมกับคนมีโทสจริต  คือ  พรหมวิหาร  4  หรือ  อัปปมัญญา  4  คือ  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา  มีความรักใคร่เอ็นดูต่อผู้อื่น  รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  และวัณณกสิณ  4  คือ  นิลกสิณ ปีตกสิณ  โลหิตกสิณ  และ  โอทาตกสิณ  ซึ่งมีสาภาพสวยงาม  เจริญตาจะทำให้จิตใจมีปีติโสมนัสอยู่เสมอ  ทำให้โทสะลดลงและเมตตาเกิดขึ้นได้ง่าย  มีจิตใจสงบลง

                3.  คนที่มีโมหจริต

                คนมีโมหจริต  คือมีนิสัยหนักไปทางโมหะ  มีอิริยาบถเซื่องซึม  มีความเหงาซึม  งมงาย  ใครเห็นอย่างใดก็เห็นคล้อยตามไปอย่างนั้น  ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง  ชอบง่วงเหงาหาวนอน  หดหู่ท้อแท้  ปราศจากความเข้มแข็ง  เป็นคนมีความรำคาญเกิดขึ้นในจิตบ่อย ๆ  มีกิจการงานหยาบไม่ถี่ถ้วน  คั่งค้าง  เอาดีไม่ได้  ชอบสงสัยแล้วเข้าใจอะไรยาก  ไม่เลือกอาหารบริโภคทุกประเภท

                อารมณ์กรรมฐานที่เหมาะกับคนมีโมหจริต  ได้แก่  อานาปานสติกรรมฐาน  คือ  กรรมฐานประเภทกำหนดลมหายใจเข้าออก

4.  คนที่มีสัทธาจริต

คนที่มีสัทธาจริต     คือมีนิสัยหนักไปทางศรัทธา     มีอิริยาบถแช่มช้อย   ละมุนละม่อมมีจิตใจซาบซึ้งโดยนิสัยเดิม   มี

 มีศรัทธาแรงกล้า  มีจิตใจเบิกบาน  ใจบุญกุศล  เป็นคนไม่พูดโอ้อวด  ไม่พูดพร่อยและไม่ชอบเอาหน้า  เป็นคนไม่มีเล่ห์  ไม่มีมายา  ชอบสวยงามอย่างเรียบ ๆ  ไม่โลดโผน  ทำการงานมีระเบียบเรียบร้อย  ชอบบริโภคอาหารมีรสหวามันหอม

                กรรมฐานที่เหมาะสมกับคนที่มีสัทธาจริต  คือ  พุทธานุสสติ  ธัมมานุสสติ  สังฆานุสสติ  สีลานุสสติ  จาคานุสสติและเทวตานุสสติ  เพราะคนประเภทนี้มีความเชื่อความเลื่อมใสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากได้เจริญกรรมฐานที่กล่าวมาแล้ว  ศรัทธาที่มีเหตุผลอยู่แล้วก็จะทวีผลได้เป็นลำดับ

                5.  คนที่มีพุทธิจริต 

                คนที่มีพุทธิจริต  คือเป็นคนมีนิสัยช่างคิด  ช่างพิจารณา  มีอิริยาบถว่องไวและเรียบร้อย  เป็นคนว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อรั้น  มีปัญญามีสติสัมปชัญญะดีและมีความเพียร  เลือกคบแต่เพื่อนที่ดี  รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร  ทำงานเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ  ชอบรับประทานอาหารรสเปรี้ยว  เค็ม  เผ็ดแต่รสไม่จัดนัก  พุทธิจริตก็คือ  ญาณจริตนั่นเอง  คือเป็นคนมีปัญญาพิจารณาเกิดความเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ และมีความปรารถนาอยากพ้นทุกข์

                กรรมฐานที่เหมาะสมกับคนที่มีพุทธิจริต  คือ  มรณานุสสติ  อุปสมานุสสติ  อาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตววัตถาน  เพราะจะพัฒนาปัญญาที่มีอยู่แล้วให้แก่กล้า  เพิ่มพูนความเฉียบแหลมเพิ่มขึ้น

                6.  คนที่มีวิตกจริต

                คนที่มีวิตกจริต  คือมีนิสัยครุ่นคิดวกวน  จับจดฟุ้งซ่าน  มีอิริยาบถเชื่องช้าคล้ายกับคนมีโมหจริต  เป็นคนมักพูดพร่ำ  เป็นคนโลเล  โกรธง่ายหายเร็ว  ชอบคลุกคลีกับหมู่คณะ  มักจะมีความเห็นคล้อยตามกับหมู่มาก  มีการงานไม่เป็นเรื่องเป็นราว  รับประทานอาหารได้ทุกประเภทเหมือนคนมีโมหจริต  เป็นคนมีความคิดเฉื่อยชาในการประกอบกุศลธรรม

                กรรมฐานที่เหมาะกับคนมีวิตกจริต  คือ  อานาปานสติ  กำหนดลมหายใจเข้าออก  จิตใจก็จะสงบหายฟุ้งซ่านลงโดยลำดับ

                ส่วนกรรมฐานที่เหลือ  คือ  ปฐวีกสิณ  เตโชกสิณ  วาโยกสิณ  อากาสกสิณ  เพ่งอากาศ  อาโลกสิณ  เพ่งแสงสว่าง  และอรูป  4  เป็นกรรมฐานที่เหมาะกับคนทุกจริต  ซึ่งมีศรัทธาแก่กล้าก็จะเจริญกรรมฐานเหล่านี้แล้วสามารถข่มนิวรณ์ได้

ส่วนอรูปกรรมฐาน  4  นั้น  ไม่ควรเจริญก่อนต่อเมื่อได้เจริญกรรมฐานอื่นเป็นพื้นฐานก่อนแล้วจึงค่อยเจริญ  เพราะเป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์ละเอียด  ปรากฏได้ยาก

อ้างอิง

ดาว  ฐานเมธี.  พระมหา.  ธรรมภาคปฏิบัติ 1.  ขอนแก่น  :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2544

เทพเวที..(ประยุทธ์  ปยุตฺโต).  พระ.  พุทธธรรม.  กรุงเทพฯ  :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, .2529

ธรรมปิฎก  (ป.อ. ปยุตฺโต)  พระ.  สมาธิ  ฐานสู่สุขภาพจิต.  กรุงเทพฯ  :  มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, .2537

 

คำสำคัญ (Tags): #จริต#สมถกรรมฐาน
หมายเลขบันทึก: 236776เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 02:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • มารับ "ธรรม" ค่ะ สาธุ
  • จะนำไปปฏิบัติค่ะ

จะนำไปปฏิบัติตามครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท