การยกระดับกองทุนหมู่บ้านสู่ธนาคารชุมชน


กองทุนหมู่บ้าน

การยกระดับกองทุนหมู่บ้านสู่ธนาคารชุมชน

บาว นาคร[1]

นโยบายรัฐบาลปัจจุบันนั้นซึ่งได้กล่าวถึงกองทุนหมู่บ้านไว้ในข้อนโยบายสวัสดิการสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและเงินทุนระดับชุมชน การแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ เช่น การปลูกป่า สร้างความเข้มแข็งของกองทุนหมู่บ้านและแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ในระดับชุมชน ให้มีกลไกที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพและให้ชุมชนสามารถตัดสินใจและนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนได้

เมื่อพิจารณาถึงที่มาของโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ริเริ่มในปี 2544 โดยมอบเงิน 1 ล้านบาท ให้แต่ละหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 7 หมื่นหมู่บ้าน จากนั้นแต่ละหมู่บ้านเลือกคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่จัดสรรสินเชื่อไปสู่สมาชิกในหมู่บ้าน โครงการกองทุนหมู่บ้านฯ

            โครงการกองทุนหมู่บ้านฯ ถือว่าเป็นนโยบายหลักอันหนึ่งในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ดังนั้น การบริหารจัดการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใสและมีมาตรการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดโดยชุมชนเอง

สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ได้เสนอการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในปี 52 ให้กับรัฐบาลชุดใหม่พิจารณา เพื่อรื้อฟื้นการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วประเทศทั้ง 78,013 แห่ง ใหม่หมด ให้เข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เพราะขณะนี้กองทุนหมู่บ้านมีเงินหมุนเวียนอยู่ในระบบมากกว่า 1.31 แสนล้านบาท หากนำมาหมุนเวียนเพียง 5 รอบ เท่ากับว่าจะมีเงินมากกว่า 5 แสนล้านบาท ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจง่ายขึ้น

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เตรียมแผนยกระดับโครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็นธนาคารของชุมชน โดยคัดเลือกกองทุนหมู่บ้านที่ธนาคารดูแลอยู่กว่า 2-3 หมื่นกองทุน ซึ่งมีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งนี้ ธนาคารหมู่บ้านจะดูแลเรื่องการรับชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เป็นสมาชิกของกองทุน และจะเปิดโอกาสให้กู้เงินจากธนาคารไม่เกินรายละ 5 หมื่นบาท

รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการและการยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารชุมชน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากธนาคารชุมชนที่มีอยู่แล้ว เช่น แนวคิดของครูชบ ยอดแก้ว ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นผู้ริเริ่มแนวความคิดเรื่อง "กลุ่มสัจจะออมทรัพย์" อดีตเคยเป็นข้าราชการครูได้มีแนวคิดและรวมกลุ่มชาวบ้าน และ กลุ่มครูเป็นเครือข่าย ขณะนี้มีเครือข่าย 100 กว่ากลุ่ม มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 250 กว่าล้านบาท มีสมาชิกมากกว่า 13,000 คน ดอกเบี้ยที่ได้รับคือ 24 ล้านบาทเป็นทุนสำหรับการพัฒนาชีวิตในชุมชน เรื่องสาธารณสุข กองทุนการศึกษา การรักษาพยาบาล และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ จากแนวคิดของ    พระสุบิณ ปณีโต วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดจากประชาชนอย่างแท้จริง และสามารถขับเคลื่อนได้ภายในชุมชนและมีความเข้มแข็งซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายกองทุนหมู่บ้านที่มาจากส่วนกลางและมีเป้าหมายและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน กองทุนหมู่บ้านเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า แต่ธนาคารชุมชนที่เกิดจากชุมชนเอง นั้นเป็นไปเพื่อการออมภายในชุมชนและต่อยอดด้วยการเสริมสร้างสวัสดิการภายในชุมชนและยังทำให้ประชาชนได้รู้สึกความเป็นเจ้าของธนาคารของตนเอง การสร้างวินัยการออมด้วยตัวเอง และที่สำคัญกลุ่มองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งและยั่งยืนแตกต่างจากกองทุนหมู่บ้าน

การยกระดับกองทุนหมู่บ้านให้เป็นธนาคารชุมชนเป็นไปได้แค่ไหนนั้น ต้องเรียนรู้และนำหลักแนวคิดของธนาคารชุมชน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ มาเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้มีความยั่งยืนต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

www.villagefund.or.th/

http://www.posttoday.com/news.php?id=28979



[1] บุญยิ่ง ประทุม

คำสำคัญ (Tags): #กองทุนหมู่บ้าน
หมายเลขบันทึก: 236735เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2009 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท