ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน (ตอนที่ 2) ประยุกต์กันเข้าไปจนงง


การนำเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปนำเสนอยังต่างแดน หรือนำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ จะต้องนำเอาสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดไป มิเช่นนั้นการบันทึกไว้ซึ่งความทรงจำจะได้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องติดตัวผู้รับไปนานเท่านานจนมิอาจที่จะแก้ไขได้

ของเก่ากับของใหม่

ในเพลงพื้นบ้าน

(ตอนที่ 2) ประยุกต์กันเข้าไปจนงง

ชำเลือง มณีวงษ์ (รายงาน)

 

          ก่อนที่ผมจะเล่าเรื่องราว ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้าน ตอนที่ 2 ประยุกต์กันเข้าไปจนงง วันนี้ตรงกับวันที่ 19 มกราคม 2552 เป็นวันที่ 2 ของงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี กำหนดให้มีงาน 15 วัน 15 คืน คือ ไปสิ้นสุดงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ได้มีจุดเริ่มต้นบนเวทีศิลปะ วัฒนธรรม ในงานนี้เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยที่ผมถูกเชิญให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัด การประกวดเพลงอีแซว ราวต้นเดือน ตุลาคม 2537 ได้เข้าไปมีส่วนในการจัดหาวงเพลงอีแซวมาประกวดบนเวที ปี 2538-2545 (ในช่วงปี 2546-2548 ไม่มีการประกวด) มาเริ่มใหม่ในปี พ.ศ.2549-2550 และในปี พ.ศ. 2551 ไม่มีการประกวด เป็นการแสดงโชว์

เพลงอีแซว ของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศบนเวทีแห่งนี้ จำนวน 9 ครั้ง มีเพียงปี พ.ศ. 2538 ที่ไดัรับรางวัลที่ 2 แต่ในปีนี้บนเวที ที่ผมเป็นผู้เริ่มต้นจนกระทั่งมีวงเพลงอีแซวนักเรียนเต็มไปหมดนับ เป็น 10 เป็น 100 คณะ กลับไม่มีเวลาแบ่งให้วงเพลงซึ่งเป็นผู้บุกเบิกแสดง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ผู้ที่เริ่มต้นกับผู้ที่ทำตามควรที่จะได้รับอะไร งง ๆ ๆ... ในส่วนของงานแสดงบนเวที วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯยังได้รับการตอบรับจากท่านเจ้าภาพอีกเป็นจำนวนมาก แต่ในเรื่องของการรักษาวัฒนธรรมศิลปะการแสดงท้องถิ่น ณ วันนี้ ผมเริ่มไม่เข้าใจ ยัง งง ๆ ๆ..อีกตามเคย

สิ่งที่ผมเก็บตกเอาไว้ มีอีกหลายประเด็นซึ่งจะได้นำเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้ที่รักศิลปะการแสดงอย่างแท้จริง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ในความเหมาะสม ความเป็นจริง และที่สำคัญคือ เพื่อประคับประคองให้ศิลปะการแสดงของแต่ละท้องถิ่นยังคงยืนหยัดอยู่ได้ อย่างสง่าสมความภาคภูมิ การที่จะมีผู้นำเอาศิลปะการแสดงของท้องถิ่นไปประยุกต์ ผมว่า น่าที่จะลองทำ และทำได้ แต่จะต้องคงรูปแบบของเดิมเอาไว้ให้ได้ มิควรที่จะลดตัดทอนจนเป็นของใหม่ทั้งหมดเพียงแต่อาศัยใช้ชื่อของเดิมเพื่อให้คนที่ได้ยินคุ้นชื่อเพียงแค่นั้นก็น่าที่จะไม่ถูกทาง

ของเก่ากับของใหม่ในเพลงพื้นบ้านประยุกต์กันเข้าไปจนงง  เท่าที่ผมสังเกตเห็นได้บนเวทีการแสดงศิลปวัฒนธรรมในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์

1. มีการนำเอาเพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว ไปร้องในทำนองกึ่งแหล่กึ่งแร็บ ที่น่าสังเกตคือ กลอนที่ใช้ร้องไม่ใช่กลอนหัวเดียวแต่เป็นกลอนแปด (กลอนตลาด) คำร้องที่ลงกลอนในแต่ละบท ไม่มีการเอื้อนคำลง ตามรูปแบบของเพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซว คงร้องต่อเนื่องกันไปยาว ๆ จนจบ จึงไม่มีลูกคู่ร้องรับช่วยเสริมการร้องให้ไพเราะ การแสดงเพลงพื้นบ้านทั่วไปจะเป็นการทำงานเป็นทีม มิใช่ศิลปินเดี่ยว ร้องโชว์คนเดียว ของเก่า นักร้องจะแบ่งกันเป็น  2 ฝ่าย ร้องเพลงโต้ตอบคารมกันอย่างสุดฝีปาก

2. เครื่องแต่งกาย ของเก่าการแต่งกาย ใครมีชุดเสื้อผ้าอะไรสวย ๆ ก็ใส่มาเล่นเพลง โดยเฉพาะชุดใหม่ที่สวมใส่ไปทำบุญ มาจนถึงช่วงเวลาของเพลงหา มีการว่าจ้างไปแสดงในงานต่างๆ จึงได้มีการจัดระเบียบในการแต่งกายให้ดูสวยงามมีรูปแบบเดียวกัน ชาย-หญิงนุ่งโจงกระเบน (เป็นวัฒนธรรมของการแต่งกายที่ควรเรียนรู้และรักษาไว้) ส่วนของใหม่ นักแสดงในวงเดียวกัน มีนุ่งโจงกระเบนแบบผ้าผืน มีนุ่งผ้าตัดเทียมโจงกระเบน คละกันไปหมด เด็กเล็ก ๆ ดูน่ารัก พอรับได้ แต่มองดูภาพเด็กโต ๆ โดยเฉพาะผู้แสดงฝ่ายชายยิ่งไม่เข้ากับรูปแบบของเพลงอีแซวที่เล่น

3. ผู้แสดงประกอบ แต่เดิมของเก่าไม่มี เพลงวงหนึ่งถึงแม้ว่าจะไม่จำกัดจำนวน แต่ครูเพลงของผม ป้าอ้น จันทร์สว่างบอกผมว่า เพลง 1 วงจะมีผู้แสดง 4-6 คน ถ้าวงไหนมีตัวแสดง 8-10 คน เป็นวงใหญ่ นักแสดงของเก่า เล่นเพลงทุกคน เป็นผู้ร้องนำ (เป็นคอต้น) เป็นผู้ร้องสลับและร้องตาม (คอรอง) และมีลูกคู่ร้องรับ ทั้งหมดก็รวมอยู่ในเพลงวงนั้น รวมทั้งผู้ให้จังหวะโดยการปรบมือ ตีเกราะเคาะไม้ไปจนถึงฉิ่ง ก็ใช้ผู้แสดงในวงด้วย ที่น่าสังเกตคือ ของเก่าเขาไม่มีคนรำประกอบ คือ มีนักแสดงมารำในการแสดงเพลงอีแซว แต่ของใหม่ในวันนี้ เพลงอีแซวนักเรียนบางวง มีนางรำขึ้นไปรำอยู่บนเวทีเต็มไปหมด จำนวน 30-40 คน ทำให้บางแห่งเรียกเพลงประเภทนี้ว่า เพลงรำอีแซว แล้วจะทำอย่างไรให้เขาเหล่านั้นได้เรียนรู้ว่า เพลงอีแซวที่คุณ ๆ กำลังทำอยู่ได้ผิดไปจากรูปแบบเดิมมาก จนถึงทำให้ชื่อเพลงก็เปลี่ยนไปด้วย

4. วิธีการรำ ทำท่าทางประกอบการร้องในเวลาที่ทำการแสดง ของเก่านักเพลงผู้ชาย ไม่ค่อยมีใครเขารำกัน เพราะเขาเป็นชาวบ้าน มือไม้แข็งเก้งก้าง ไม่อ่อนไหวอย่างนักแสดงละคร มีแต่การไหวตัว แกว่งแขน ส่วนนักเพลงผู้หญิงมีรำบ้าง แต่ก็ไม่ยกแขนสูง (รำเตี้ย ๆ) ส่วนของใหม่ตลอดเวลาที่ร้องเพลงอีแซว นักแสดงจะยกแขนม้วนข้อมือตั้งวงรำอยู่ตลอดเวลา ครูเพลงเก่า ๆ เขาเรียกว่า รำลอยเป็นการรำที่ไม่เข้ากันกับบทร้อง เรียกได้ว่าเสียงที่ร้องกับท่าทางไม่มีความสัมพันธ์กันเอาเสียเลย แถมมือข้างหนึ่งยังถือไมโครโฟนเอาไว้แน่น จึงทำให้เหลือมือเพียงข้างเดียวกวัดแกว่งไปมาแบบพายเรือข้างเดียว หากเป็นตอนเพลงปะทะคารมก็น่าที่จะทำได้ แต่ในบางช่วงบางตอนที่ต้องการเนื้อหาใจความและอารมณ์เพลง ส่วนนี้ก็จะขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย

5. การแสดงเพลงพื้นบ้าน ของเก่านักแสดงเขาจะทำท่าทางตามบทร้อง เรียกว่า ตีบท เป็นการแสดงออกด้วยสีหน้า ท่าทาง มือ แขน สื่อให้ท่านผู้ชมรู้ว่า จะไป จะมา ดีใจ เสียใจ มีความสุข มีทุกข์ สนุกสนาน เป็นต้น ส่วนการทำท่าทางตามบทในนักแสดงรุ่นใหม่ ของใหม่พบเห็นได้น้อยมากแทบไม่มี จะเป็นการกระโลดเต้นแบบการแสดงสากลมากกว่า แบบวิถีชีวิตไทย

ดังนั้นในการประยุกต์ การที่จะผสมผสานสิ่งอื่นใดลงไปในศิลปะการแสดงของท้องถิ่น ผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานจึงควรที่จะคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองให้ถ้วนถี่เสียก่อน แล้วจึงตัดสินใจทำลงไป ใส่ลงไป เมื่อได้เกิดการคลุกเคล้าจะได้เข้ากันอย่างกลมกลืน ไปกันได้ และถูกใจท่านผู้ชม ทำให้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานการแสดงของท้องถิ่นในจังหวัดอื่น ๆ ให้ได้รับรู้ถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรีได้อีกด้วย และที่สำคัญ การนำเอาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไปนำเสนอยังต่างแดน หรือนำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ จะต้องนำเอาสิ่งที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุดไป มิเช่นนั้นการบันทึกไว้ซึ่งความทรงจำจะได้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องติดตัวผู้รับไปนานเท่านานจนมิอาจที่จะแก้ไขได้

วันที่ 20 มกราคม 2552 ตั้งแต่เวลา 20.30-24.00 น. เพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ทำการแสดงอยู่ที่ ลานตากข้าว มาลีพันธุ์ข้าว ใกล้ที่ทำการ อบต.ไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี  คุณสุมาลี  สอดสี (ผู้ติดต่องาน)

 

นายชำเลือง มณีวงษ์  ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี 2547

หมายเลขบันทึก: 236104เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2009 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

* เห็นจริงตามคำอาจารย์ค่ะ....ประยุกต์กัน....

* เหมือนตัดต่อพันธุกรรมนะคะ

* สุขกายสุขใจนะคะ

สวัสดี ครับ ครูพรรณา

  • เป็นความคิดเห็นที่โดนใจคนรุ่นเก่า ๆ มาก
  • วันนี้ดูแล้วยังขนาดนี้ แล้วในอนาคตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร
  • ขอบคุณคุณครูที่ให้กำลังใจ ผมจะยังคงสร้างสรรค์ผลงานต่อไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท