อมร ไกรเทพ
นาง อมร ไกรเทพ วรรณมณี ไกรเทพ

28.ครูต้องทำได้ในหลายบทบาท


บทบาทครู

พ่อแม่รักลูกดั่งแก้วตา             ยังนำพาลูกรักมาฝากไว้
ของเราเรายังหวงดังดวงใจ   ของที่รับฝากไว้จะต้องร้อยเท่าทวีคูณ



พ่อแม่แต่ละครอบครัวอาจมีความไม่เท่ากันไม่ทัดเทียมกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ความรักลูก หวังจะให้ลูกสุขสบายเมื่อภายหลัง จึงอยากฝากฝังไว้โรงเรียนดีๆ

เมื่อยามฟ้าสาง อรุณรุ่งของวันใหม่ ก็มีความอบอุ่นใจที่ลูกได้มาอยู่ในความคุ้มครองของครู อาจารย์ พ่อแม่จะไปทำมาหากินด้วยความสบายใจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้ปกครองปัจจุบันจะโยนภาระทั้งหมดให้โรงเรียนรับผิดชอบ ลูกจึงมักขาดความรัก ความอบอุ่นจากทางบ้าน อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ความตึงเครียดภายในครอบครัวทำให้เกิดการแตกแยกทะเลาะวิวาท ลูกๆ จึงเกิดความบอบช้ำทางจิตใจ เมื่อมาถึงโรงเรียนจึงไม่พร้อมที่จะรับรู้ ไม่พร้อมที่จะเล่าเรียน และเมื่อมาเห็นเพื่อนที่มีความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ มีครอบครัวที่สมบูรณ์จึงเกิดความอิจฉา จุดเริ่มต้นของการขโมย การติดยา การค้ายา ชู้สาว และความประพฤติผิดๆ จึงเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ ครู - อาจารย์จะต้องทำหน้าที่ในหลายบทบาท ดังนี้

 

  1. บทบาทของพ่อแม่และครู ที่จะต้องอ้าแขนรับลูกรักนับแต่วันแรกที่เข้ามาเรียนรอยยิ้มและคำพูดที่อ่อนหวานนิ่มนวล จะมีคุณค่าทางจิตใจของลูกรักสูงมาก ความขาดในแต่ละเรื่องจากทางบ้านก็จะถูกเติมเต็มที่โรงเรียน ความรู้สึก ความกดดัน หรือแม้กระทั่งความลับก็จะพรั่งพรูออกมาในที่สุด เพราะลูกจะรู้สึกผูกพัน และไว้ใจพ่อแม่และครูของเขา ผู้เขียนมีความเชื่อว่า เวรกรรมมีจริงหากเรารักและดูแลเอาใจใส่ลูกของคนอื่นมากสักเท่าไร ลูกของเราก็จะพบกับครูดีๆ ดังเช่นที่เรากระทำ
  2. บทบาทของครูที่ปรึกษาในดวงใจ เมื่อได้รับมอบหมายให้เป็นครูที่ปรึกษาหรือครูประจำชั้นที่จะต้องให้การดูแล ช่วยเหลือ เกื้อกูล กำกับติดตาม เพื่อที่จะดูแลแก้ปัญหาสารพัดให้นักเรียน เรียนจบตามเกณฑ์การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำอย่างไรจึงจะให้นักเรียนรักและผูกพัน จะต้องให้ทั้งความอบอุ่นและใกล้ชิด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียน สามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของนักเรียนได้
  3. ครูแนะแนว เป็นความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องประกาศให้ครู - อาจารย์ทุกท่านเป็นครูแนะแนวนั่นหมายความว่า ครูแต่ละท่านจะต้องรู้จักลูกๆ ทุกคน พร้อมที่จะให้การดูแล เยียวยารักษา ทั้งสุขภาพกาย ใจ ให้สมบูรณ์พร้อมที่จะเรียน พร้อมกับการฝึกให้นักเรียนรู้จักตนเอง เห็นคุณค่าของตนเองและภูมิใจ ที่จะนำคุณค่าของตนเอง ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป
  4. ทำหน้าที่ตำรวจ เมื่อมีเหตุการณ์เกินกว่าที่จะใช้หลักจิตวิทยาได้ จำเป็นที่จะต้องตรวจติดตาม จับกุม แต่จะต้องใช้ความละมุนละม่อมให้มากที่สุด ต้องระลึกเสมอว่า ถ้าจะต้องจับก็ต้องจับแบบครู พร้อมกับจะต้องป้องกันเหตุการณ์ ปกป้องคุ้มครองลูกๆ ทุกคนให้ปลอดภัย
  5. บทบาททนายความผสมผสานกับนักสืบ การจะพิจารณาตัดสินความผิดใดๆ จะต้องอยู่บนความยุติธรรม เมตตา คำนึงถึงใจของลูกๆ ทุกคน โดยจะต้องพยายามเข้าถึงเหตุการณ์ว่าเหตุอะไรจึงทำให้เกิดการทำความผิด พร้อมกับจะต้องทำหารสืบหาข้อเท็จจริงให้ได้ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินที่ถูกต้อง
  6. บทบาทสุดท้าย น่าจะเป็นพระ ที่จะทำหน้าที่นำหลักธรรมทางศาสนา มาฝึกลูกๆ ทุกคนเป็นพุทธมามกะที่ดี ที่น่ารัก มีเหตุผล แก้ปัญหาด้วยสติปัญญา มีความประพฤติตนอยู่ในหลักธรรมศีลธรรม ให้การอบรมสั่งสอน ฝึกการทำสมาธิ

หากครูได้ทำบทบาทดังกล่าวทั้ง 6 บทบาทในคราวเดียวกัน โดยไม่แยกทำทีละบทบาทก็จะรู้สึกว่าไม่ใช่งานหนักและยุ่งยากอะไรเลย ผลที่ได้รับคือลูกๆ หรือนักเรียนทุกคนจะมาโรงเรียนด้วยความสุข พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนด้วยความสนใจและตั้งใจ

                                       โดย อดุล สารคม 

                                                             

                  ที่มาข้อมูล : วารสารวิชาการ ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2550

คำสำคัญ (Tags): #คุณครู
หมายเลขบันทึก: 235603เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท