อมร ไกรเทพ
นาง อมร ไกรเทพ วรรณมณี ไกรเทพ

27. รับมือเด็กช่างคุยในชั้นเรียน


เด็กช่างคุยในชั้นเรียน

            

         ธรรมชาติของเด็กเวลามาอยู่รวมกันมักจะพูดคุยเสียงส่งดัง ไม่เว้นแม้แต่ในห้องเรียน ที่บางครั้งอาจไม่ได้เสียงมากนัก แต่ก็ดังพอจะรบกวนสมาธิเพื่อนร่วมชั้น รบกวนการสอนของครู และยังแสดงให้เห็นว่านักเรียนที่คุยนั้นไม่ได้ใส่สิ่งที่ครูกำลังพูดอยู่ จนคุณครูต้องส่งเสียงปราม แต่ผลที่ได้คือนักเรียนเงียบเสียงลงชั่วคราว พร้อมด้วยบรรยากาศตึงเครียดในห้องเรียน ซ้ำร้ายหลังจากนั้นไม่นานนักเรียนคนเดิมหรือกลุ่มเดิมก็จะกลับมาพูดคุยในชั้นเรียนอีก

        ขอนำเสนอเทคนิคการรับมือกับนักเรียนช่างคุย ให้ครูนำไปใช้หยุดการสนทนาผิดเวลาของนักเรียนเหล่านี้ลงชั่วคราว แล้วหันมาใส่ใจกับบทเรียนที่กำลังสอนอยู่แทน

พูดคุยได้ แต่ว่าเวลาไหนล่ะ ?

         คำถามแรกที่ครูควรถามตัวเองในสถานการณ์นี้คือ
"นักเรียนพูดคุยกันตอนไหน?" ขณะที่ครูกำลังสอนหรือสั่งงานอยู่หน้าชั้น หรือเป็นช่วงที่นักเรียนกำลังทำแบบฝึกหัดหรือทำงานที่ได้รับมอบหมายในห้องเรียน ถ้าเป็นกรณีหลัง ครูไม่ควรห้ามหรือใช้คำพูดในลักษณะ "นั่งทำงานไปเงียบๆ อย่าคุยกัน" แต่ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนพูดคุยกันได้ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในการทำงาน นักเรียนอาจใช้ช่วงเวลานี้พูดคุยซักถามถึงเรื่องงานที่กำลังทำอยู่ หรือจะคุยเรื่องอื่นๆ บ้างก็ได้ ไม่จำเป็นที่นักเรียนจะต้องพูดถึงเฉพาะเรื่องงานหรือบทเรียนตลอดเวลา

         ในสายตาของครูอาจมองว่า การที่นักเรียนพูดคุยกันขณะทำงานในห้องเรียนเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักเรียนกำลังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอยู่ผ่านการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ นี้ การเปิดโอกาสให้นักเรียนพูดคุยกันได้ขณะทำงาน จะทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เวลาครู เวลานักเรียน

       เทคนิคหนึ่งที่ครูอาจนำมาใช้จัดการกับปัญหานักเรียนคุยกันในชั้นเรียนคือ สร้างข้อตกลงเรื่อง "เวลา" กับนักเรียนตั้งแต่ชั่วโมงแรกของชั้นเรียนตอนเปิดภาคการศึกษา โดยอธิบายกติกาว่าเวลาในชั้นเรียนจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เวลาของครู และเวลาของนักเรียน เวลาของครูหมายถึงช่วงที่ครูกำลังพูด อธิบาย สั่งงาน หรือเป็นตอนที่ครูยืนอยู่หน้าห้อง ซึ่งนักเรียนจะต้องตั้งใจฟังสิ่งที่ครูพูด ห้ามพูดคุยกันเอง ถ้าเป็นเด็กเล็ก ครูควรระบุให้ชัดเจนว่าในช่วงเวลานี้เด็กสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่น จดเลกเชอร์ได้ แต่ห้ามเหลาดินสอหรือค้นหาของในกระเป๋า เป็นต้น

       ส่วนเวลาของนักเรียนคือช่วงเวลาหลังจากที่ครูมอบหมายให้ทำงาน นักเรียนจะพูดคุย ออกไปดื่มน้ำ หรือเข้าห้องน้ำได้ แต่ขอให้รับผิดชอบทำงานที่มอบหมายให้เสร็จทันเวลา แล้วเมื่อครบกำหนดเวลา ให้ครูปรบมือหรือสั่นกระดิ่งเป็นสัญญาณว่าหมดเวลาของนักเรียนแล้ว และจากนี้ไปจะเป็นเวลาของครู ทั้งนี้ อาจมีการตกลงร่วมกันว่าถ้าใครทำผิดกติกาควรจะถูกลงโทษอย่างไร

       ในระหว่าง "เวลาของนักเรียน" ครูควรเดินสังเกตการณ์ไปทั่วห้อง พร้อมฟังสิ่งที่นักเรียนพูดคุยกัน วิธีการนี้จะทำให้ครูรับรู้ได้ว่านักเรียนแต่ละคนเข้าใจบทเรียนที่สอนไปมากน้อยแค่ไหน นักเรียนคนไหนต้องการคำแนะนำหรือความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งครูสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตได้ว่าใครตั้งใจทำงานหรือไม่ มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกรณีงานกลุ่ม แล้วถ้าเห็นว่านักเรียนคนไหนพูดคุยเล่นสนุกมากกว่าจะพูดถึงเรื่องงาน ครูไม่ควรเดินไปตรงหน้านักเรียนคนดังกล่าวแล้วสั่งให้หยุดพูด เพราะจะทำให้นักเรียนเกิดความอับอายและรู้สึกเสียหน้า แต่ควรเดินอ้อมไปด้านหลังพร้อมกับพูดถามเบาๆ ว่า "ไหนลองอธิบายงานที่เธอทำให้ครูฟังหน่อยสิจ๊ะ" เพียงเท่านี้นักเรียนคนดังกล่าวก็จะรีบกลับไปให้ความสนใจกับงานตรงหน้าโดยอัตโนมัติ

บทลงโทษที่เหมาะสม

ธรรมชาติของเด็กนั้นจะอยู่นิ่งๆ เงียบๆ ได้ไม่นาน ครูไม่ควรคาดหวังว่าห้องเรียนจะต้องเงียบอยู่ตลอดเวลา และมีแต่เสียงพูดของครูเท่านั้น แม้จะเป็นช่วง "เวลาของครู" ขณะเดียวกันก็ไม่ควรวางเฉยกับเสียงพูดคุยของนักเรียนที่แทรกขึ้นมาระหว่างการเรียนการสอน เพราะถ้าครูยังคงสอนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นักเรียนจะเรียนรู้ว่าตนสามารถพูดคุยในห้องเรียนได้ตลอดเวลา

ฉะนั้นเวลาที่เห็นเด็กคุยกันในชั้นเรียนขณะที่กำลังสอนอยู่ ครูจะต้องประเมินว่าการพูดคุยครั้งไหนที่ยอมรับได้และควรปล่อยผ่าน หรือครั้งไหนที่ต้องจัดการ ซึ่งแน่นอนว่าการจัดการนี้ไม่ใช่การพูดสั่งจากหน้าห้องว่าให้หยุดพูด แต่เปลี่ยนเป็นใช้สัญญาณความเงียบ โดยครูหยุดพูด หยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ขณะนั้น แล้วมองตรงไปยังนักเรียนที่พูดคุยกัน ท่ามกลางความเงียบนี้มีความเป็นคำพูดสื่อไปถึงนักเรียนคนนั้นหรือคู่นั้นว่า "ครูกำลังรอเธอหยุดพูด แล้วเราค่อยมาเรียนกันต่อ"

เมื่อนักเรียนหยุดพูดและห้องเรียนเงียบเสียงลงแล้ว ครูอาจย้ำถึงข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกันอีกครั้งว่าช่วงนี้เป็นเวลาของครู นักเรียนควรจะตั้งใจฟัง รอไว้ถึงเวลาของนักเรียนแล้วค่อยพูดคุยกัน จากนั้นจึงลงโทษนักเรียนตามกติกาที่ตกลงกันไว้ เช่น ทำผิดครั้งแรกครูว่ากล่าวตักเตือน ครั้งที่ 2 ให้ออกไปยืนนอกห้องเรียน 4 นาทีแล้วค่อยกลับเข้ามาเรียน ครั้งที่ 3 ตัดเวลาพักของนักเรียนออก 5 นาที ครั้งที่ 4 ตัดเวลาพัก 10 นาที และครั้งที่ 5 โทรศัพท์หาผู้ปกครอง แล้วให้นักเรียนอธิบายกับผู้ปกครองว่าตนทำความผิดอะไร และทำไมถึงทำ เพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนสิ่งที่ทำลงไป แล้วปรับแก้นิสัยดังกล่าว

ครูท่านใดที่กำลังปวดหัวกับปัญหานักเรียนชั่งพูดชั่งคุยกันในห้องเรียน ท่านอาจลองนำวิธีการข้างต้นไปทดลองใช้จัดการกับเจ้าเด็กช่างพูดในห้องเรียนเหล่านั้นก็ด้ ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าการที่ต้องพูดว่า
"เงียบๆ กันหน่อย , หรือ ฟังครูหน่อย" (บ่อยๆ) ก็ได้

ที่มาข้อมูล : www.inspiringteacher.com

คำสำคัญ (Tags): #ในชั้นเรียน
หมายเลขบันทึก: 235597เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

สุขสันต์วันครูค่ะ

ขอนำข้อคิดต่างๆ ไปใช้ในชั้นเรียนนะคะ

เจริญพร โยมครูอมร

เพราะไม้เรียวครู ทำให้หลายท่าน

ได้ดิบได้ดีจนกระทั่งทุกวันนี้

 

เจริญพร

สวัสดีค่ะ..คุณสะตอดอง

  • ยินดีค่ะ
  • สุขสันต์วันครูเช่นกัน

นมัสการค่ะ..พระปลัด

  • ลูกศิษย์โทรหาบอกว่าหนูรักครูค่ะ
  • ครูดุหนู ..ตีหนูด้วยไม้เรียวหนูก็รัก
  • มันชื่นใจจริง ๆ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท