สนามหลวง ชนบท บนดอย : ครูข้างถนน ครูชีวิต ตัวจริงเสียงจริง


ครูในความหมายของอิสรชน เราจะมองและหมายไปถึงผู้ที่เป็นครูชีวิต เป็นภาพสะท้อนชีวิต ภาพสะท้อนของสังคม เพื่อให้สังคมได้มีจุดสะดุดทางความคิดว่าโลกนี้ยังมีความแตกต่าง ยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังมีความไม่เท่าเทียม ไม่ทัดเทียม ไม่ทั่วถึง เพื่อไม่ใช้สังคมอหังการกับความดี หรือหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งที่ฉาบอยู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว

วันนี้วันที่ 16 มกราคม หรือวันที่ 16 ของทุกปี ประเทศไทยกำหนดวันนี้ให้เป็นวันครู และส่วนใหญ่ผู้คนก็มักจะมุ่งไปยังครูที่ทั้งเป็นอาชีพ และทำหน้าที่สอนหรือสร้างกระบวนการเรียนรู้ ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม ถ้าทำหน้าที่คล้าย ๆ กับครู ก็จะได้รับการกล่าวถึงและยกย่องอย่างกว้างขวางในวันนี้และก็จะค่อย ๆ เงียบหายไปกับสถานการณ์ของบ้านเมือง

 

แต่ครูในความหมายของอิสรชน เราจะมองและหมายไปถึงผู้ที่เป็นครูชีวิต เป็นภาพสะท้อนชีวิต ภาพสะท้อนของสังคม เพื่อให้สังคมได้มีจุดสะดุดทางความคิดว่าโลกนี้ยังมีความแตกต่าง ยังมีความเหลื่อมล้ำ ยังมีความไม่เท่าเทียม ไม่ทัดเทียม ไม่ทั่วถึง เพื่อไม่ใช้สังคมอหังการกับความดี หรือหลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งที่ฉาบอยู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว

 

ยิ่งในปัจจุบันงานจิตอาสายิ่งแผ่ความสนใจความนิยมกว้างไปมากเท่าใด เราก็จะพบว่าเกิดครูที่แท้จริงมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ครูที่ไม่ใช่เหล่าอาสาสมัครที่ต่างเฮกันเข้ามาทำหน้าที่ที่เรียกขานว่าครู หรือผู้ให้ผู้หยิบยื่น ในทางกลับกัน คนเหล่านี้ต่างหากที่เข้ามาเป็นนักเรียน นักเรียนที่เข้ามาเรียนรู้ถึงสังคมที่แท้จริง ที่มากไปด้วยความต่าง ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ไม่ทัดเทียม ไม่ทั่วถึง คนที่อยู่ที่ข้างถนน ที่อยู่บนดอย คนที่อยู่ชนบท นี่ล่ะ คือ ครูตัวจริง เสียงจริง ไม่ใช่คนที่ไปในพื้นที่ แล้วบอกว่าตัวเองมาเป็นครู

 

สังคมไทยเองบางครั้งก็กำลังสับสนบทบาท ไปพร้อม ๆ กันกับความหลงกับความดี เพราะเรากำลังโหยหาความดี ดังนั้นหากเราเรียนรู้ทุกอย่างโดยอ่อนน้อม เราจะพบว่า เราไม่ใช่ เราไม่ได้เป็นผู้ให้ เราเป็นผู้เข้ามาเรียนรู้ เข้ามากอบโกยเรื่องราวจากคนที่เขาอยู่ในที่ที่เขาอยู่ต่างหาก  และที่สำคัญเราเองต่างหากคือนักเรียน สมควรที่จะหวนรำลึกถึงบุญคุณ พระคุณ ที่ครูแห่งสังคม ครูข้างถนน ครูชนบท ครูบนดอย ตัวจริงเสียงจริง ที่อนุญาตให้แต่ละคนได้ทำหน้าที่อาสาสมัครได้อย่างสมบูรณ์ และควรที่จะหยุดหลงใหลหรืออหังการว่าตนเองทำดีมากกว่าคนอื่น เพราะการที่เราไปในพื้นที่ที่ดูลำบากกว่าคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าเราเสียสละ หากแต่เราได้โอกาสดีดีในการเรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างไปจากสังคมเมือง สังคมที่มีความสุขสบายมากกว่าคนอื่นก็เท่านั้น

 

หากคิดได้อย่างนี้ เราเองก็จะมีความสุขและไม่โดนกักขังด้วยความดีที่สังคมกำลังพยายามยัดเยียดให้คุณและท้ายที่สุดคนดี ก็จะกลายเป็นคนที่ทำอะไรตามแบบฉบับของคนปกติทั่วไปไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

หมายเลขบันทึก: 235497เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2009 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท