ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง> วัดไทยที่สำคัญ


ศักดิ์สิทธิ์


วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)
 นมัสการพระพุทธชินราช ชมวิหารอันวิจิตร

วิหารพระพุทธชินราช

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย องค์พระมีความงดงามยิ่ง ยากจะหาพระพุทธรูปองค์ใดเสมอเหมือน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองพิษณุโลกและพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุยังเป็นวัดสมัยสุโขทัยเพียงวัดเดียวในพิษณุโลกที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ศาสนสถานต่าง ๆ ยังคงสภาพสมบูรณ์สวยงาม เป็นที่รวมของศิลปกรรมหลายแขนงที่ควรแก่การศึกษาชื่นชม เช่น จิตรกรรมฝาผนังในวิหาร บานประตูประดับมุก พระปรางค์ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นต้น หลังจากเที่ยววัดและไหว้พระแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถซื้อของฝากจากร้านค้าที่อยู่รอบ ๆ วิหารพระพุทธชินราชได้ ถือเป็นแหล่งรวมสินค้าพื้นเมืองของพิษณุโลกที่ครบถ้วนที่สุด ทั้งงานหัตถกรรมและของกินของใช้



- โทร. 0-5525-8609, 0-5525-9430

ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ในตัวเมืองพิษณุโลก บริเวณริมแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออก ใกล้กับสะพานนเรศวร

ประวัติ
สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่พิษณุโลกเพื่อป้องกันการรุกรานจากกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นพิษณุโลกมีชื่อว่าเมืองสองแคว บริเวณโดยรอบวัดจึงเป็นที่ตั้งของคูเมืองเดิมและกำแพงเมืองเก่า ต่อมาในสมัยธนบุรี อะแซหวุ่นกี้ได้ยกทัพเข้าเผาเมืองพิษณุโลก วัดวาอารามได้รับความเสียหายเป็นอันมาก ยกเว้นวัดใหญ่เพียงวัดเดียวเท่านั้นที่ยังหลงเหลือโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ยังคงสภาพสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์หลายท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะความงามของพระพุทธชินราชที่ประดิษฐานอยู่ในวัด ทำให้พม่าละเว้นไม่เผาทำลายวัดแห่งนี้

พระอัฏฐารส ปางห้ามญาติ หลังวิหารพระพุทธชินราช

สิ่งน่าสนใจ
เมื่อเดินเข้าวัดจากประตูทางเข้าริมแม่น้ำน่าน มีสิ่งน่าสนใจให้ชมตามลำดับดังนี้

 พระเหลือ
หรือพระเสสันตปฏิมา ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราช เนื่องจากพระพุทธชินราช ต้องหล่อหลายครั้ง มีเศษทองสัมฤทธิ์เหลืออยู่จำนวนมาก จึงได้นำมาหล่อเป็นพระเหลือ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอกเศษ และพระสาวกยืนอีกสององค์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกัน

 โพธิ์สามเส้า
ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่หลายต้น ต้นที่มีอายุมากที่สุดอยู่ด้านหลังวิหารพระเหลือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียกว่า “โพธิ์สามเส้า” อยู่บนฐานชุกชี เชื่อว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทยทรงปลูกไว้โดยได้พันธุ์มาจากลังกา ต้นโพธิ์ที่สำคัญอีกต้นหนึ่งอยู่ใกล้ป้อมตำรวจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงปลูกขึ้นครั้งที่เสด็จมาหล่อพระพุทธชินราชจำลองในปี พ.ศ. 2444 ส่วนต้นโพธิ์สองต้นที่อยู่หน้าวิหารพระเจ้าเข้านิพพานเป็นต้นโพธิ์ที่ขึ้นเอง

 กลองอินทเภรี
ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารพระพุทธชินราช ในพระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงกลองนี้ว่า ในตอนสร้างพระพุทธชินราช พระอินทร์ได้ลงมาช่วยหล่อจนสำเร็จ กลองที่ใช้ประจำวิหารพระพุทธชินราชจึงมีชื่อว่า “อินทเภรี” ซึ่งหมายถึงกลองของพระอินทร์ ในอดีตจะย่ำกลองเวลาย่ำค่ำและเที่ยงคืนเพื่อบอกเวลาแก่ประชาชนทั่วไป แต่ต่อมากลองสูญหายไปจึงสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นกลองทัดสีแดงขนาดใหญ่สองใบตั้งอยู่บนขาตั้งภายในศาลทรงไทย ปัจจุบันจะย่ำกลองบอกเวลาทุกชั่วโมง ระหว่างเวลา 07.00-18.00 น. ชาวพิษณุโลกเชื่อกันว่าเสียงกลองนี้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง

 วิหารพระพุทธชินราช
- เปิดเวลา 07.00-18.00 น.

ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบวิหารในภาคเหนือ คือมีชายคาลาดลงต่ำกว่าวิหารในภาคอื่นเพื่อป้องกันอากาศที่หนาวเย็น ผนังวิหารจึงสร้างเตี้ยตามไปด้วย รอบวิหารมีระเบียงเชื่อมต่อกับวิหารพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ภายในวิหารมีสิ่งควรชมคือ

- ประตูวิหาร เป็นประตูฝังมุกขนาดใหญ่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นบานประตูที่เก่าแก่และงดงามที่สุดในประเทศไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-บรมโกศมีพระราชศรัทธาสร้างถวายพระพุทธชินราชแทนบานประตูไม้สักแกะสลักที่โปรดเกล้าฯ ให้นำไปเป็นบานประตูวิหารพระ-แท่นศิลาอาสน์ที่อุตรดิตถ์ ลวดลายบนประตูทำเป็นลายวงกลมขนาดใหญ่เรียงไปตามแนวตั้ง กลางวงกลมประดิษฐ์เป็นลายกระหนกภาพสัตว์ป่าหิมพานต์ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ เหมราช ครุฑ กินรี และภาพสัตว์อื่น ๆ มีลายกระหนกหูช้างประกอบช่องไฟระหว่างวงกลม เหนือวงกลมเป็นลายกรุยเชิง และมีลายประจำยามก้ามปูประดับขอบรอบบานประ ตูลายที่น่าสนใจบนประตูอีกอย่างหนึ่งคือลายบนสันอกเลาซึ่งอยู่ตรงกลางประตู มีผู้นิยมนับถือและทำผ้าพิมพ์รูปอกเลานี้ไปบูชาเป็นจำนวนมาก สันอกเลาทำเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ (ดอกบัวตูม) ขนาบด้วยลายกระหนกก้านแย่ง กลางอกเลาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเรียกว่า “นมอกเลา” ทำเป็นรูปบุษบกหรือปราสาท และมีพระอุณาโลมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ประดิษฐานบนบัลลังก์อยู่ในบุษบก สองข้างมีฉัตรสามชั้น มีหนุมานแบกฐานบุษบก ด้านล่างของอกเลาทำเป็นรูปกุมภัณฑ์ยืนถือกระบอง ทำท่าสำแดงฤทธิ์

- พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช

เป็นพระประธานของวิหาร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก ความงดงามขององค์พระพุทธชินราชนี้ถือเป็นงานช่างชั้นครูที่ยากจะหาฝีมือใดเทียบ ศิลปินบางท่านกล่าวว่าพระพุทธชินราชงามเข้าขั้นเนรมิต บ้างก็ว่าเป็นฝีมือช่างอัจฉริยะ เนื่องจากตามตำนานกล่าวว่ามีเทวดาแปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยหล่อพระจนแล้วเสร็จ จึงอุปมาว่าเทวดา สร้างขึ้น ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จมานมัสการพระพุทธชินราชก็ตรัสยกย่องว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย...ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น”

- จิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ผนังด้านหน้าพระพุทธชินราชเขียนเป็นเรื่องเวสสันดรชาดกกัณฑ์ชูชก กัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร และพุทธประวัติ ที่ด้านล่างของผนัง ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม ฤๅษี วิทยาธร นั่งพับเพียบประนมกรกลุ่มละสามองค์ หันหน้าไปทางพระประธานเป็นการแสดงอภิวันทบูชา แต่ละองค์ทรงเครื่องสวยงามแตกต่างกัน ผนังด้านหลังพระพุทธชินราชใช้สีดำเป็นพื้น ประดับด้วยลายดอกไม้ร่วง

 พระปรางค์
- มีการสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุเป็นประจำในช่วงสงกรานต์ของทุกปี

อยู่ด้านหลังวิหารพระพุทธชินราช ถือเป็นศาสนสถานที่สำคัญของวัด มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ขนาดย่อมในคูหากลางของพระปรางค์ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เดิมพระปรางค์นี้เคยเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ แต่ต่อมาใน พ.ศ. 2025 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างดัดแปลงให้เป็นพระปรางค์แบบอยุธยา องค์พระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานย่อมุมไม้ยี่สิบ สูงประมาณ 15 วา ประดับยอดด้วยนภศูล มีซุ้มทั้งสี่ทิศ ซุ้มทางทิศเหนือ ใต้ และตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นทางเข้าสู่คูหากลางพระปรางค์อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิษณุโลก
- เปิดเวลา 09.00-16.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์และอังคาร)
- ไม่เสียค่าเข้าชม
- โทร. 0-5524-1717

อยู่ในวิหารพระพุทธชินสีห์ ภายในมีตู้กระจกจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้และโบราณวัตถุซึ่งมีผู้นำมาถวายพระพุทธชินราช เช่น ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง พระเครื่องและพระพิมพ์สมัยโบราณ เครื่องถ้วยลายคราม ถ้วยเบญจรงค์ บาตรแก้ว ตาลปัตรพัดยศ โดยจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่และมีป้ายบอกชื่อผู้ถวาย

 พระอัฏฐารส
ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ด้านหลังพระปรางค์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ทรงยืนหันหลังให้พระปรางค์ มีขนาดใหญ่ สูง 18 ศอก อันเป็นที่มาของชื่อ อัฏฐารส ซึ่งแปลว่า 18 พระพุทธรูปนี้สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร แต่ต่อมาวิหารพังทลายลงมา ปัจจุบันเหลือเพียงเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ การสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่เช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยสุโขทัย ดังจะพบได้ทั่วไปตามแหล่งโบราณสถานสมัยสุโขทัยใน จ. พิษณุโลกและสุโขทัย บางองค์มีขนาดใหญ่คับโบสถ์หรือวิหารเลยทีเดียว





บทความนี้มาจาก NaiRobRoo.com
http://www.nairobroo.com/76

URL สำหรับเรื่องนี้คือ:
http://www.nairobroo.com/76/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=131
คำสำคัญ (Tags): #พุทธศาสนา
หมายเลขบันทึก: 235068เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าจะมีภาพมากกว่านี้จะได้รู้กันเลยว่าสวยแค่ไหน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท