ความต่างของนักเรียนสองสังกัด


เมื่อคิดต่างก็ต้องทำให้ต่าง

ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะสร้างความต่างให้เกิดขึ้นแก่เด็กเชิงทะเล แม้แต่น้อย แต่ความจำเป็นบังคับให้ต้องเดินไปข้างหน้า  เป้าประสงค์เดิมที่ต้องการจัดการศึกษาเพื่อเรียกเด็กคืนถิ่น มันก้องอยู่ในโสตประสาททุกนาทีที่จะเปลี่ยนความคิด หรือ เห็นความแตกต่างของเด็กสองสังกัดที่อยู่ในรั้วเดียวกัน

ความต่างแรก...เด็กเทศบาลแต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนที่ถูกออกแบบโดยผู้เขียนเอง และผ่านขั้นตอนอนุมัติของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เห็นว่านักเรียนโรงเรียนเทศบาลเชิงทะเล ฯ ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนที่โรงเรียนกำหนด เหมือนเด็กโรงเรียนอินเตอร์ทั่วไป ด้วยแนวคิดที่ว่า “เมื่อคิดต่างก็ต้องทำให้ต่าง”

ความต่างที่สอง...กิจกรรมการเรียนการสอนถูกออกแบบให้เป็นกิจกรรมที่บูรณาการทุกวิชาเข้าด้วยกัน และออกไปเรียนตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในท้องถิ่น มีครูต่างชาติเข้ามาดูแลเสมือนครูคนหนึ่งของโรงเรียน มีหลายที่ที่เข้ามาดูงาน ถามเป็นคำถามยอดฮิต ว่าควบคุมให้ครูต่างชาติเหล่านี้ให้ทำตามที่โรงเรียนต้องการได้อย่างไร  มันเป็นเรื่องของข้อตกลงเบื้องต้น ว่าเราจ้างเขามาเป็นครูให้นักเรียนของเรา  เราไม่ได้จ้างเขาให้มาเป็นนายเรา  หลักสูตรเป็นของเรา แต่วิธีการสอนหรือถ่ายทอดเป็นของเขา ผลลัพธ์ต้องเป็นไปตามความคาดหวังของเรา  เราจะมีหลักสูตรสองฉบับ เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ครูทุกคนต้องเดินตามเข็มทิศที่โรงเรียนวางไว้ ส่วนวิธีการเดินเป็นเรื่องของครูแต่ละคน แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่ละเลยที่จะพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อเหตุการณ์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปแบบฉุดไม่อยู่  เพราะธรรมชาติของคน ถ้าไม่เติมอาหารให้สมอง หรือประสบการณ์ใหม่ ๆ บ้าง มันก็จะร่อยหรอและหมดไปในที่สุด

การจัดการเรียนการสอนจะมีครูประจำชั้นคู่ ครูไทย 1 คน ครู ต่างชาติ 1 คน ครูไทยจะต้องรู้ว่าครูต่างชาติสอนอะไร เด็กเข้าใจหรือไม่ ครูไทยจะต้องเป็นพี่เลี้ยงหากเด็กไม่เข้าใจจะต้องสอนเสริมท้ายชั่วโมง หรือ หลังเลิกเรียนมีชั่วโมง “เก็บตก” สำหรับบางวิชาที่เด็กบางคนไม่เข้าใจ หรือตามเพื่อนไม่ทัน

ความต่างที่สาม...ผู้ปกครอง...โรงเรียนมีการจัดตั้งชมรมผู้ปกครองขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว...ขาดเหลืออะไร ชมรมผู้ปกครองเข้ามาช่วยเหลือ แถมบางวันเข้ามาสอนให้อีก เมื่อโรงเรียนจัดแผนการเรียนรู้โดยผู้ปกครองขึ้น มันเป็นความตื่นตัวที่ผู้เขียนปลื้มปิติ ที่เห็นผู้ปกครองให้ความร่วมไม้ร่วมมือทำให้กับลูกหลานของเขาอย่างเต็มใจ และเขาก็ภาคภูมิใจในตัวเองที่ได้มีโอกาสเป็นครู

ความต่างที่สี่... มีครูและบุคลากรทางการศึกษาเพียงพอ เมื่อหันไปมองอีกโรงเรียนหนึ่งซึ่วงต่างสังกัดภายใต้หลังคาเดียวกัน  ครูขาดแคลน ที่มีอยู่ก็อ่อนแรงหมดไฟที่จะขยับเขยื้อน รอเวลาจะเกษียณอายุราชการ ความเฉื่อยชาสะสม เพราะห่างไกลผู้นิเทศติดตาม แต่โรงเรียนเทศบาลเชิงทะเล ฯ ครูรุ่นใหม่เดินกัน    ขวักใขว่ พร้อมทำงาน เนื่องจากผู้เขียนเข้าไปนิเทศติดตามให้กำลังใจ คอยรับฟังปัญหาทุกวัน

ความต่างที่ห้า...งบประมาณที่ลงไปสนับสนุนโรงเรียนมาจากสองทาง คือ ของท้องถิ่น และของรัฐ จึงสามารถพัฒนาได้เต็มที่ ไม่ขาดแคลน เด็กจึงอยู่ดีกินดี มีอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างดี เครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัย เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนท ห้องพิเศษต่าง ๆ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ครูและนักเรียนอย่างทั่วถึง

และมีอีกหลายความต่าง ค่อยเก็บมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป…

(มีตอนต่อไป)

คำสำคัญ (Tags): #education
หมายเลขบันทึก: 234178เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2009 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จะรออ่านตอนต่อไปครับ สวัสดีปีใหม่

ขอบคุณค่ะ ที่เป็นกำลังใจแก่โรงเรียนตั้งใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท