คำจำกัดความงานสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในศตวรรษ ที่ 21 ( Social work definition in 21 century


คำจำกัดความงานสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ในศตวรรษ ที่ 21 

โดย สมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ

ผ.ศ. โสภา อ่อนโอภาส

 

การที่จะเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ชัดเจนต้องเริ่มทำความเข้าใจกับความหมายของสิ่งนั้นๆ ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน งานสังคมสงเคราะห์เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนกลายเป็นวิชาชีพสังคมสงเคราะห์มีผู้ที่ปฏิบัติงานในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ในแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมความเชื่อรวมทั้งปัญหาสังคมที่แตกต่างหลากหลายและแม้มีบางส่วนคล้ายคลึงกันก็ควรต้องเริ่มต้นด้วยการให้คำจำกัดความหรือความหมายที่มีพื้นฐานร่วมกัน 

สมาพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติได้มีมติรับความหมายใหม่ของงานสังคมสงเคราะห์ ในงานประชุมที่ มอนทรีล   ประเทศแคนนาดา  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2000 โดยใช้แทนความหมายเดิมของปี  1982 ขณะเดียวกันสมาคมสถาบันการศึกษาสังคมสงเคราะห์นานชาติให้มีมติยอมรับการใช้คำจำกัดความดังกล่าวร่วมด้วยในการประชุม เดือนมิถุนายน ปี 2001  ที่กรุงโคเปนเฮเกน

 

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงความหมาย

ปรากฏการณ์  “โลกาภิวัฒน์”   เป็นเบื้องหลัง ของการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำว่าสังคมสงเคราะห์   โลกาภิวัฒน์เป็นแนวคิดที่มีความซับซ้อน   ซึ่งมีการพูดถึงตลอด 25 ปีที่ผ่านมา  Midgley  ให้ความหมายของโลกาภิวัตน์ว่า คือ “กระบวนการบูรณาการของโลกที่มีความหมายหลากหลายของประชากร  เศรษฐกิจ  วัฒนธรรม และกระบวนการทางการเมืองที่ได้รับอิทธิพลระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น”  ปัจจัยความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจ  การเมือง  สังคม  วัฒนธรรมที่มีความซับซ้อน  เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่มีอิทธิพลซึ่งกันและกันในทุกระดับทั่วโลก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานสังคมสงเคราะห์ มีหลายบทบาท  โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสังคม ซึ่งมุ่งเน้นการผสมกลมกลืนกันระหว่างเศรษฐกิจกับนโยบายสังคมในมุมมองของMidgleyการพัฒนาเศรษฐกิจต้องมีการหลอมรวมและบูรณาการที่ยั่งยืนและนำประโยชน์ให้แก่คนทุกคน  ส่วนสวัสดิการสังคมการเป็นการหันเหสู่แนวคิดสู่การลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ในการระบบเศรษฐกิจการผลิต

ฉะนั้นในปัจจุบันนักสังคมสงเคราะห์ปฏิบัติงานในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น ต้องเข้าใจแรงกดดันของโลกาภิวัฒน์  เศรษฐกิจ  ระบบนิเวศ  และสังคม ซึ่งเชื่อมโยงเข้าสู่เพื่อนร่วมงานระหว่างประเทศและต้องนำเสนอตัวเองอย่างเป็นทางการในวงจรงานระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงนักสังคมสงเคราะห์จะต้องให้บริการกับผู้อพยพ ผู้พลัดถิ่น ผู้เคลื่อนย้ายแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ที่ได้รับผลจากข้าวยากหมากแพง  สงคราม  การก่อการร้าย  ภัยพิบัติทางธรรมชาติ  รวมทั้งโอกาสในการมีส่วนร่วมของนโยบายระหว่างประเทศมากขึ้น   Malcom  Payne  กล่าวว่า  เราจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองของนักสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องมีความรู้และทักษะสามารถทำงานได้กับคนทุกมุมโลก

 

คำจำกัดความใหม่

“วิชาชีพสังคมสงเคราะห์” ส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ของมนุษย์ เสริมพลังและส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์และระบบทางสังคม งานสังคมสงเคราะห์ต้องเข้าแทรกแซงช่วยเหลือในจุดที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของเขา  สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมเป็นหลักการพื้นฐานในงานสังคมสงเคราะห์

 

คำอธิบาย

การเลือกแนวคิดรวบยอดสำคัญมาใช้ในการกำหนดคำจำกัดความข้างต้นสามรถอธิบายได้ดังนี้

การที่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์จะสามารถช่วยเหลือคนได้ทั่วทุกมุมโลก  ต้องมีการปฏิบัติงานที่หลากหลายจากงานสังคมสงเคราะห์คลินิก งานสังคมสงเคราะห์เอกชน  จนถึงการจัดระเบียบชุมชนการวางแผนและนโยบายสังคม  และพัฒนาสังคม แรกๆยังมีความกังวลว่าวิธีการที่แยกออกเป็นส่วนๆนี้จะผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่ สิ่งทีผุดขึ้นมาคือเรื่องแนวคิดหลัก เรื่อง “คนในสภาวะแวดล้อม” (person-in-environment) ที่ประชุมเห็นพร้องกันว่าแนวคิดหลักสากลของสังคมสงเคราะห์ คือ การเข้าแทรกแซงช่วยเหลือคนกับสภาวะแวดล้อมของเขาทั้งด้านกายภาพและสังคม ขอบเขตของการทำงานมุ่งที่เน้นช่วยเหลือคนกับคนและสิ่งแวดล้อม  นักสังคมสงเคราะห์ใช้แนวคิดแบบองค์รวมพิจารณาความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งแวดล้อมของเขา ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีผลกระทบทั้ง 2 ทิศทาง คือคนได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือนโยบายสังคมที่กดดันครอบครัวกับการทำงาน ในขณะเดียวกันยังต้องมีศักยภาพในการเปลี่ยนภาวะแวดล้อมของเขาให้เหมาะสม ซึ่งต้องใช้ทักษะสำคัญคือ การเสริมพลังให้บุคคล ชุมชนเข้มแข็ง

แนวคิดหลักอีกประการ คือ การทำให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ซึ่งเป็นพันธกิจพื้นฐานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ UNESCO ให้ได้ความหมายของความเป็นอยู่ที่ดีคือ“ภาวะของการประสบความสำเร็จที่แสดงออกมาได้ตลอดทั้งชีวิตซึ่งรวมทั้ง กาย สติปัญญา สังคม อารมณ์” ซึ่งมีผลมาจากกิจกรรมสร้างสรรค์โดยวัฒนธรรมชุมชน เติมเต็มความสัมพันธ์ในสังคม ความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น ในทางรูปธรรมความเป็นอยู่ที่ดีอาจเป็นความรู้สึกพึงพอใจต่อตนเอง

 

สังคมสงเคราะห์วิชาชีพ

ตลอดศตวรรษที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่าสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพเต็มตัวหรือเป็นเพียงแค่กึ่งวิชาชีพ  ในปัจจุบันนี้มีการเสนอว่าสังคมสงเคราะห์เป็นกลุ่มวิชาชีพมากกว่าจะเป็นวิชาชีพที่มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว European   Journal of Social Work ให้ความหมายว่า Social Profession รวมเอา Social Worker กับ Social Pedagogues ที่ประชุมมีมติว่าสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพที่รวมเอา Social Pedagogues ไว้ด้วย

 

กิจกรรมงานสังคมสงเคราะห์

ที่ประชุมได้มีมติในเบื้องต้นว่าจะให้คำจำกัดความที่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่มีลักษณะร่วมกันของทุกมิติทุกกลุ่มเป้าหมาย  จึงได้เริ่มต้นว่าวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จากที่ทราบกันดีแล้วว่าสังคมสงเคราะห์เกิดขึ้นจาก 2 แหล่งที่แตกต่างกันแต่มีพัฒนาการร่วมกันมาในปลายศตวรรษที่ 19 คือ เริ่มต้นในอังกฤษแล้วเจริญมาในสหรัฐอเมริกา  จากองค์กรการกุศล ที่มีผู้เยี่ยมฉันมิตรซึ่งเป็นต้นกำเนิดของงานสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย และกระบวนการตั้งถิ่นฐานในชุมชนเริ่มจาก ลอนดอน ที่ Toynbee Hall โดย Samuel and Henerictta Barnett ในปี 1885 ซึ่งได้มีแรงบันดาลใจให้ Jane Addams แห่งสหรัฐอเมริกา ตั้ง Hull House ใน Chicago จนกระทั่งได้รับรางวัลในสาขาสันติภาพในปี1931  Addams และ Hull House เป็นตัวแทนของปฏิบัติการสังคมในระดับชุมชนของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์

งานทั้ง 2 ลักษณะนั้นมีพัฒนาการต่อเนื่องจนกลายเป็นวิชาชีพ จากการให้บริการตรงซึ่งมุ่งเน้นการช่วยเหลือปัจเจกบุคคลและกลุ่มเล็กๆ เป็นสำคัญ ในขณะที่อีกลักษณะหนึ่งทำงานในลักษณะงานชุมชน การปฏิบัติการสังคมและการเคลี่อนไหวการเมือง การทำนโยบายสังคม  ด้วยเบื้องหลังดังกล่าวที่ประชุมจึงเลือกวลีว่า “การส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ซึ่งตีความได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือคนกลุ่มเล็กได้เท่าๆกับการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางสังคมและอ้างอิงจากการที่กล่าวมา นักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ทั่วไปในการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับงานสังคมสงเคราะห์

การแก้ไขความสัมพันธ์ของมนุษย์ก็มาจากแนวคิดความเปลี่ยนแปลงทางสัมคม  ปี 1957 Helen Harris  Perlman จากมหาวิทยาลัย Chicago ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Social Casework : A Solving Process.เธอใช้งานสังคมสงเคราะห์เฉพาะรายในความหมายการแก้ไขปัญหา ในยุคต่อมา  Comptan และ Galaway ก็ใช้การแก้ปัญหาในการปฏิบัติงานเกี่ยกับความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่รวมทั้ง ระหว่างบุคคล คู่ ครอบครัว  เพื่อน ระบบกลุ่ม เชื้อชาติ เพศ และทั้งสังคม  ซึ่งในที่ประชุมใช้วลี”การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของมนุษย์”นั้นการแก้ไขต้องรวมทั้งกิจกรรม  การรักษา  บำบัด ฟื้นฟู  ทั้งระดับจุลภาคและระดับมหาภาค

ส่งเสริมการเสริมพลังและเสรีภาพของบุคคลเป็นกระบวนการสำคัญของสังคมสงเคราะห์  ทั้งในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้วมักเข้าใจว่างานสังคมสงเคราะห์เกี่ยวข้องกับคนจน คนอ่อนแอ คนถูกกดขี่ คนไร้พลังอำนาจ ฉะนั้นเป้าหมายของการเสริมสร้างพลัง คือการที่ช่วยให้คนเหล่านั้นมีความสามารถจัดการกับชีวิตของเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือในระดับกว้างการเสริมพลังเป็นกระบวนการเพิ่มอำนาจส่วนตัว   อำนาจระหว่างบุคคล  อำนาจทางการเมือง  เพื่อให้คนในครอบครัว และชุมชน สามารถปรับปรุงแก้ไข  สถานการณ์ของเขาได้ ( Lorraine Gutierrez)โดย เน้นวิธีการชูปัญหาของคนที่ไม่มีพลังอำนาจได้อย่างสร้างสรรค์และตรงจุดตรงประเด็นให้แก่สังคมให้รับรู้มากขึ้น

แนวคิดเกี่ยวกับการเสริมพลังและเสรีภาพทั้งได้รับอิทธิพลของ เปาโล แฟร์ นักการศึกษาชื่อดังของ บราซิล  ( 1921 – 97) เขาเน้นกระบวนการสร้างจิตสำนึก ซึ่งหมายถึง กระบวนการเรียนรู้ที่ได้จากมุมมองการโต้แย้งสัมคม การเมือง เศรษฐกิจ แล้วจึงปฏิบัติการตอบโต้การกดขี่นั้นๆ ด้วยพื้นฐานของความจริง แนวคิดของเขาเป็นการวิพากษ์จิตสำนึกและส่งเสริมให้คนสะท้อนปัญหาที่เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของตนเองว่ามิใช่ปัญหาส่วนบุคคลแต่เป็นปัญหาของสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีผลต่อบุคคลนั้นๆ   แฟร์ จึงสันบสนุนการเสริมพลังให้คนสามารถปฏิบัติการที่จะเอาชนะสภาพบีบคั้นกดขี่ของสังคมนั้นๆได้

 

การใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์และระบบสังคม

ลักษณะที่สำคัญในการเป็นวิชาชีพได้จะต้องมีแนวคิด  ทฤษฎีเฉพาะด้านเป็นองค์ความรู้สำคัญ  การที่ประชุมได้เลือกแนวคิด  มนุษย์ในสภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นแกนสำคัญในการทำงานสังคมสงเคราะห์  ก็ต้องเน้นพฤติกรรมมนุษย์และระบบสังคม  ซึ่งเป็นการรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์หลายแขนง เช่น จิตวิทยา  สังคมวิทยา  มนุษย์วิทยา  การเมืองการปกครอง  กฎหมาย  วิทยาศาสตร์สุขภาพ  และเศรษฐศาสตร์  ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์  ได้ใช้ทฤษฏีที่สอดคล้องกับบริบทของปัญหา

ในทัศนะของงานสังคมสงเคราะห์องค์รวม”คนในสภาวะแวดล้อม”  ทฤษฎีระบบมักให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือ  Carol Meyer      ( 1995 ) ได้ให้ความหมายของทฤษฏีระบบโดยทั่วไปไว้ว่า “ศาสตร์แห่งองค์รวมซึ่งอธิบายชุดองค์ประกอบพื้นฐานความสัมพันธ์ของทุกสิ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กับทุกส่วนทั้งหมดอย่างองค์รวม ”

ทฤษฎีระบบมักจะเชื่อมโยงแนวคิดมุมมองระบบนิเวศในงานสังคมสงเคราะห์  ผู้ปฏิบัติงานสังคม

สงเคราะห์ต้องมองเห็นและรู้ทุกอย่างในเวลาเดียวกัน  โดยการประเมินปัญหาและความต้องการในงานสังคมสงเคราะห์ที่ต้องคิดอย่างกว้างขวางและ  คิดละเอียดทุกด้านทุกมุม

 

หลักการสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม

องค์การสหประชาชาติอธิบายว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่มีอยู่ภายในตัวโดยธรรมชาติ  ถ้าไม่มีสิทธิเสรีจะอยู่อย่างมนุษย์ไม่ได้  IFSW ขยายความว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมความเท่าเทียมของสังคม นักสงเคราะห์สังเคราะห์สามารถทำให้เกิดความมั่นคงและการพัฒนาในขณะที่ทุกคนยังมีศักดิ์ศรีของตนเองอยู่เต็มตัวครบถ้วน

งานสังคมสงเคราะห์มักจะห่วงใยเกี่ยวกับสิทธิของมนุษย์ในเรื่องความพึงพอใจต่อความต้องการจำเป็นพื้นฐาน  ด้านอาหาร  น้ำ  ที่อยู่  อาศัย  และสุขภาพ  จึงมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือ  คุ้มครอง  สิทธิเหล่านั้นเป็นพื้นฐาน  รวมทั้งความต้องการจำเป็นของผู้อ่อนแอและผู้ถูกกดขี่จะต้องได้รับความยุติธรรมทางสังคม  ซึ่งสมาชิกทุกคนในสังคมมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง  ได้โอกาสทางสังคม  ซึ่งมีแนวคิดย่อยๆ อีก 2 แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคม  คือ  ความมั่งคงกลมกลืน ( Solidarity) กับ การหลอมรวมทางสังคม (social inclusion)

Solidarity ไม่ใช่เพียงแค่ความเข้าใจและความเห็นใจ ต่อความเจ็บปวดทุกข์ยากของมนุษย์เท่านั้น แต่ต้องยืนหยัดร่วมกับผู้ทุกข์ยากและสาเหตุของเขา การที่จะแสดงให้เห็นถึงการกระทำและคำพูดของความร่วมมือหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ต้องร่วมเผชิญอุปสรรคของด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมหรือจิตวิญญาณ

สรุป

ศตวรรษที่ 21 ยุคโลกไร้พรมแดนถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้มากขึ้น งานสังคมสงเคราะห์จึงต้องพิจารณาความซับซ้อนของปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสภาวะแวดล้อมอย่างองค์รวมเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหา  นักสังคมสงเคราะห์ต้องเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลต่อมุมมอง  แนวคิด  และปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้  ตั้งแต่ปัจเจกบุคคล  กลุ่ม  ชุมชน  สังคม  นโยบายและสังคมต่างวิถีประเพณี  วัฒนรรมอื่นๆ ที่มีอยู่และมีความสัมพันธ์กันด้วยอย่างไร้พรมแดน

หากจะนำเอาไปใช้กรุณาอ้างอิงด้วยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 234101เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2009 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท