ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

ส่วนที่ ๗ การขยายผล


ยุทธการพอเพียง

 

การขยายผลเครือข่าย

แนวทางการเรียนรู้และความยั่งยืนร่วมกัน

 

เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างชุมชน

                เมื่อเรากล่าวถึงความเป็นชุมชนสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือในชนบทความเป็นชุมชนไม่ได้มีขอบเขตในรูปแบบของหมู่บ้านแต่ความเป็นชุมชนคือสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนในมิติต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคม ทั้งในรูปแบบของเครือญาติและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้นๆ เพราะฉะนั้นเวลานึกถึงการพัฒนาในภาคชนบทจึงมีระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนไม่ตายตัวตามแนวเขตของรัฐ 

                ชุมชนบ้านสระบัวก็เช่นกันนอกจากการดำเนินการภายในชุมชนแล้วยังมีความสัมพันธ์กับชุมชนข้างเคียง ซึ่งเรียกโดยรวมว่าเป็นการทำงานในระบบเครือข่ายชุมชน คือ การทำงานของชุมชนบ้านสระบัวทำงานร่วมกับชุมชนบ้านในถุ้งและชุมชนท่าสูงบน รวมทั้งกำลังขยายความร่วมมือไปสู่ชุมชนอื่นๆด้วยซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียงและมีอาชีพทำประมงเหมือนกัน

                อย่างไรก็ตามฐานการทำงานในรูปแบบเครือข่ายของชาวประมงนั้นมีมาก่อนและยังกว้างขวางออกไปถึงต่างอำเภอ   ซึ่งในปัจจุบันการทำงานของชุมชนบ้านสระบัวได้ขยายเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ไปอีก ๒ ชุมชน  ซึ่งการขยายเครือข่ายดังกล่าวไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดเรื่องการออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวแต่การออมทรัพย์จะนำไปสู่การจัดการเรื่องวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันของคน การร่วมแรงร่วมใจ การมีวินัยในตนเอง และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การรวมกลุ่มและจัดการเรื่องอื่นๆต่อไปเช่น เรื่องการอนุรักษ์เป็นต้น

                คำว่าเครือข่ายคือกระบวนการช่วยเหลือกันสร้างความเข้มแข็งของชุมชนนั่นเอง  คำว่าเครือข่ายในที่นี้หมายถึงเครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งชุมชนบ้านสระบัวในฐานะที่เป็นชุมชนซึ่งดำเนินงานมาก่อนชุมชนอื่นๆ แกนนำบ้านสระบัวได้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือชุมชนอื่นๆในการสร้างความเข้าใจเรื่องการจัดทำกลุ่มออมทรัพย์  จนทำให้ตอนนี้มีกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นใน ๓ หมู่บ้าน และต่อไปก็จะนำไปสู่การขยายผลให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งอยู่รายรอบ

 

เมื่อเป็นเครือข่ายก็จะช่วยเสริมแรงการทำงาน

                บทบาทสำคัญของการเป็นเครือข่ายก็คือบทบาทในการช่วยเหลือกันทำงาน เมื่อมีหลายชุมชนเข้ามาร่วมกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันก็จะเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานมากขึ้น และที่สำคัญความรู้อีกที่หนึ่งจะถูกถ่ายทอดสู่อีกที่หนึ่ง ทำให้คนที่เริ่มใหม่เกิดความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้นทั้งนี้เพราะมีบทเรียนของความสำเร็จและมีวิธีการแก้ปัญหาจากชุมชนเดิมอยู่แล้ว และที่สำคัญมีคนช่วยเป็นพี่เลี้ยงในการบอกวิธีการทำงาน ทำให้การเริ่มต้นในการทำงานนั้นเกิดขึ้นได้อย่างมั่นใจ

 

 

สำคัญกว่านั้นก็คือการเพาะสร้างความสัมพันธ์ของคนขึ้นมาใหม่

                กระบวนการทำงานเป็นเครือข่ายก็คือการทำงานร่วมกันของคนซึ่งอยู่ต่างชุมชนและอาจไม่มีโอกาสมาร่วมงานกันหากไม่ออกแบบการทำงานในรูปแบบของความเป็นเครือข่าย เพราะฉะนั้นในผลที่เกิดขึ้นซึ่งมีความสำคัญมากก็คือ ความสัมพันธ์ของคนที่จะเกิดขึ้นใหม่ หลังจากก่อนหน้านี้ว่างเว้นไปนาน ความสัมพันธ์ที่กล่าวถึงจะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความร่วมมือเมื่อต้องทำงานร่วมกัน  ในขณะนี้ชุมชนบ้านสระบัวได้สร้างความสัมพันธ์ขึ้นระหว่างผู้นำชุมชนทั้ง ๓ หมู่บ้านคือ สระบัว  ในถุ้ง และท่าสูง  กลายเป็นเครือข่ายการทำงานที่จะเป็นฐานการขยายความร่วมมือในโอกาสต่อไป 

 

เครือข่ายระหว่างชุมชน คือ การชี้ทิศชี้ทางการทำงานร่วมกัน

                ในการขยายงานระดับเครือข่ายนั้น จากชุมชนหนึ่งไปอีกชุมชนหนึ่งไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์เชิงทางการหรือระบบแต่ใช้พื้นฐานทางวัฒนธรรม  เครือญาติ  และความเชื่อถือในระดับหนึ่ง  ดังนั้นการทำงานฐานรากของการพัฒนาแบบนี้แม้จะเห็นผลช้าแต่ก็เกิดความยั่งยืน ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเชื่อมต่อหรือขยายเครือข่ายต้องได้รับการยอมรับ  และได้รับการวางใจ  เพราะนอกจากการต่อกิจกรรมกับแกนนำแล้ว หมายถึงความมั่นใจของสมาชิกคนอื่นๆในชุมชนที่เข้าร่วมด้วย  อีกอย่างการทำงานระหว่างชุมชนแบบนี้ยังสามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกันในทางสังคมไม่เกิดช่องว่าง นอกจากนี้ยังเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนใกล้เคียง

                การเชื่อมต่อชุมชนสู่ชุมชน  ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ทุกชุมชนแต่จะเกิดการกลั่นกรองในระดับหนึ่งของชุมชนต้นแบบและมีความมั่นใจว่ากิจกรรมนั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดความยุ่งยากและความซับซ้อนในการจัดการ เช่น การใช้กลุ่มออมทรัพย์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเชื่อมต่องานชุมชน เพราะกิจกรรมออมทรัพย์จะถือว่าเป็นกิจกรรมของระดับบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม  ดังนั้น กิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ถือเป็นตัวเชื่อมร้อยตัวหนึ่งเท่านั้น  และสามารถสร้างรูปธรรมของชุมชน  การบริหารจัดการกลุ่ม ได้อย่างต่อเนื่องและต่อยอดกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย โดยอาศัยกลุ่มออมทรัพย์นี้เป็นฐาน

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ยุทธการพอเพียง
หมายเลขบันทึก: 233805เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2009 22:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท