หนังสือทำมือ "คุณคิดเหมือนผมมั๊ย KM อยู่ในหัวใจ" ตอนที่ 3


ผมคิดว่า KM เหมือนสายน้ำจะใหลไปทางใหนก็ไปได้ ตรงใหนที่ไหลสะดวกก็จะไปได้รวดเร็ว และแรง หากตรงใหนมีอะไรมาขวางอยู่ก็จะแตกไหลเลี่ยงไปทางอื่น หลายๆทางตรงใหนที่มีกรอบหนาก็จะเลาะๆ ซึมๆ ให้เบาบางลงในที่สุดก็ไหลไปได้เพื่อลงไปให้ถึงปากน้ำปลายทางลงสู่ทะเล

KM  ชุมชนอินทรีย์ได้อะไร

          สำหรับผมแล้วการทำ KM ตามโครงการชุมชนอินทรีย์ ของท่าน  ผู้ว่าฯวิชม  ทองสงค์  ผมได้อะไรเยอะเลยครับ... อย่างแรกเลยที่ได้ก็คือ วิธีคิดเพราะการทำงานแนวนี้ต้องใช้กระบวนการคิดเชิงระบบ ประการต่อมาคือสามารถมองงานที่ทำได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาตนเองในการทำงาน

                การทำ KM ชุมชนอินทรีย์  ทำให้ผมได้เพื่อนร่วมงานที่มีความจริงใจพร้อมที่จะลุยทำงานด้วย ใจเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนทั้งเป็นบุคคล หน่วยงาน ซึ่งมาทำงานร่วมกันแบบภาคีเครือข่าย ช่วยกันทำงานในแนวราบ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ใช้ชุมชนเป็นฐาน ประโยชน์เกิดกับประชาชน เป็นความสุขที่หาไม่ได้ง่ายๆ เวลาเราทำงานสำเร็จเราก็มานั่งร่วมกันชื่นชม และหาแนวทางที่จะพัฒนางานในครั้งต่อไป  ที่สังเกตได้คือพวกเราไม่เคยห่างกันในเรื่องความคิด บางครั้งจากกันแค่ไม่ถึงชั่วโมงก็โทรศัพท์หากัน เพราะที่คุยกันไม่สิ้นกระบวนความเมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้ก็โทรหากัน เรียกว่าหาเพื่อนช่วยจำเมื่อมาเจอกันก็จะได้คุยรายละเอียดของงานอีกทีหนึ่ง

                การทำ KM จะสอนให้เราเป็นคนช่างสังเกต ช่างจำ และสามารถพัฒนาตนในด้านของการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้ มาใช้ในการพัฒนางานทั้งของตนเองและภาคีเครือข่าย เรียกว่าบางครั้งสามารถมาวิเคราะห์งานร่วมกันได้อย่าง ทะลุตลอดยอดปราสาท เลยทีเดียวสามารถบอกได้ว่างานที่ทำอยู่มันตรงกับเป้าหมายของหน่วยงานตนเองอย่างไร และเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นอย่างไร จะไปให้ถึงงานตนเองต้องทำอย่างไรและจะช่วยเหลือเพื่อนในภาคีทำงานอย่างไรจึงจะสำเร็จจะได้มานั่งชื่นชมงานร่วมกัน

                ใช่เฉพาะแต่ตัวเราเท่านั้นที่ได้จากการทำ KM หากมองให้ลึกแล้วหน่วยงานจะได้รับประโยชน์อย่างล้นเหลือ  สิ่งแรกที่อยากจะพูดคือ หน่วยงานได้พัฒนาบุคลากร โดยไม่ต้องเสียงบประมาณจ้างวิทยากรมาอบรม ไม่ต้องเสียค่าโรงแรมในการจัดอบรม  ไม่ต้องเสียค่าอาหารและเครื่องดื่มในการจัดประชุมอบรม  ไม่ต้องออกหนังสือเชิญอบรม  เพราะการทำ KM จะพัฒนาศักยภาพของคนทำงานไปในตัว เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และได้รับการเรียนรู้เรื่องเทคนิค วิธีการ จากเพื่อนร่วมงาน ภาคีเครือข่าย  เพราะศักยภาพการทำงานของคนต่างกัน  แต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน การทำงานร่วมกันจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วย  ข้อสำคัญคือ ต้องพร้อมที่จะเป็นผู้อยากเรียน และผู้ให้เรียน ต้องเปิดใจให้กว้างยอมรับเพื่อนร่วมงาน ทั้งความสามารถและความคิด

                การทำงานแบบเดี่ยวหน่วยงานเดียวนั้นประสบความสำเร็จได้ยากหรือสำเร็จแต่อยู่ได้ไม่ยั่งยืนเพราะ หน่วยงานหนึ่งๆ ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ไม่ได้เก่งทุกอย่าง ต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยหนุนเสริม ทั้งด้านความรู้ ความคิด และบางครั้งอาจรวมถึงเรื่องของงบประมาณด้วย  การทำงานแบบภาคีเครือข่ายจึงเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งมี KM เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายและเป็นเครื่องมือในการทำงานด้วยแล้วความสำเร็จอยู่แค่เอื้อม

                อีกหนึ่งมุมมองในความคิดของผมคือ ผมคิดว่า KM เหมือนสายน้ำจะใหลไปทางใหนก็ไปได้ ตรงใหนที่ไหลสะดวกก็จะไปได้รวดเร็ว และแรง หากตรงใหนมีอะไรมาขวางอยู่ก็จะแตกไหลเลี่ยงไปทางอื่น หลายๆทางตรงใหนที่มีกรอบหนาก็จะเลาะๆ ซึมๆ ให้เบาบางลงในที่สุดก็ไหลไปได้เพื่อลงไปให้ถึงปากน้ำปลายทางลงสู่ทะเล  ที่บอกว่าKM เหมือนสายน้ำ เพราะสายน้ำจะไม่ปะทะแต่เมื่อถึงทางตันมีอุปสรรค ก็จะแตกเป็นหลายทางและไหลไปได้ กระบวนการ KM จะทำให้มีทางออกในการแก้ปัญหา KM ไม่ใช่การปะทะหักล้าง แต่เมื่อมีอะไรเป็นอุปสรรคเข้ามาปะทะก็จะหาทางออกพร้อมกับพยายามที่จะเลาะๆ ซึมๆ ทำให้อุปสรรคนั้นเบาบางลงและทำให้สามารถเดินกิจกรรมกระบวนการต่อไปได้

                ส่วนสำคัญที่เป็นอุปสรรคก็คือการยึดติดกรอบความเป็นราชการ ซึ่งทำให้การทำงานแนวนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก  ถ้าหน่วยงานใหนทำกรอบล้อมตัวเองก็จะทำงานแนวนี้ได้ยาก เสียงสะท้อนจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายก็มีหลายหน่วยงานที่ทำงานได้ไม่สะดวก  เพราะผู้บังคับบัญชายึดกรอบความเป็นราชการ ไม่เข้าใจ KM แลไม่สนใจ KM ทำให้มองการนำกระบวนการ KM ไปใช้ทำงานเป็นเรื่องที่ผิด มองการทำงานแบบแยกส่วนหรือที่เราเรียกว่าไม่เนียน ซึ่งบางครั้งเราต้องสูญเสียภาคีของหน่วยงานนั้นไปเลย

                การใช้ KM เป็นเครื่องมือในการทำงานกับชุมชน  การใช้ชุมชนเป็นฐานในการพัฒนา และการให้ชุมชนเป็นเจ้าของสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ของเขาเอง จะเกิดความภาคภูมิใจและมีความคิดเป็นเจ้าของ แน่นอนว่าต้องมีความคิดที่จะพัฒนาต่อไป และความจริงก็คือการไม่ปฏิเสธหน่วยงานหรือภาคีเครือข่ายจากภาครัฐที่ลงไปช่วยหนุนเสริม และนำกระบวนการเรียนรู้ไปให้ เท่ากับว่าการที่ เราใช้กระบวนการ KM ทำให้ได้ใจคนในชุมชน ทำให้คนเปิดใจยอมรับหน่วยงานภาครัฐที่ลงไปทำงานอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

 

หมายเลขบันทึก: 232375เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2008 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ไม่ได้เจอกันนานเลยนะคะ ครูราญ
  • ความคิด แตกฉาน เฉียบคมจริงๆ ค่ะ
  • ชอบตรงนี้ของครูราญ ก็คือ
  • "ผมคิดว่า KM เหมือนสายน้ำ จะใหลไปทางใหนก็ไปได้
  • ตรงไหนที่ไหลสะดวก ก็จะไปได้รวดเร็วและแรง
  • หากตรงไหนมีอะไรมาขวางอยู่ ก็จะแตกไหลเลี่ยงไปทางอื่น หลายๆ ทาง
  • ตรงไหนที่มีกรอบหนา ก็จะเลาะๆ ซึมๆ ให้เบาบางลง
  • ... ในที่สุดก็ไหลไปได้"
  • นับถือ นับถือ

สวัสดีครับ...คุณหมอนนทลี

ขอบพระคุณครับที่เข้ามาเยี่ยม...ยังไม่แตกฉานเท่าไหร่ครับ...ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ตอนที่ไปเป็นวิทยากรให้กับสำนักงาน กศน. จังหวัดระนอง ตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงตามจับภาพ KM เมืองนครฯ คุณหมอคอยอ่านของครูนงนะครับ...รับรองมันกว่านี้เยอะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท