Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๓)_๒


         รศ.พญ.ปารมี กล่าวว่า หลังจากเริ่มโครงการไปในเวทีแรก เกิดผลสำเร็จที่เห็นชัดในหลาย ๆ เรื่อง ได้แก่บุคลากรมีความกระตือรือร้นมากขึ้น อยากจะมาร่วมโครงการหรือฟังการนำเสนองานของกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งเดิมมักอ้างว่าไม่มีเวลา แต่พอได้ฟังของเพื่อน ได้เห็นการทำงานของกลุ่มอื่นก็เกิดความอยากที่จะทำบ้าง เช่นเพื่อนนำเสนอด้วย power point ก็ไปหัดทำบ้าง และที่สำคัญโครงการนี้เป็นโอกาสที่หลายคนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา และเขาได้พัฒนาตนเองในหลาย ๆ ด้าน และในระหว่างการนำเสนอก็มีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเขาก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นเป็นอย่างไร  และน่าจะส่งผลต่อเป้าหมายของภาควิชาได้
          นอกจากนี้ยังเกิดผลข้างเคียงดี ๆ ที่เสมือน ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัวทีเดียว  อาทิ ได้รู้จักว่าใครเป็นใคร หลายคนบอกว่า บางคนเห็นหน้าตั้งนานแล้ว ไม่รู้เลยว่าอยู่ภาควิชาเดียวกัน, ทำให้มีการฝึกการใช้คอมพิวเตอร์ภาคปฏิบัติ ไม่ต้องพูดถึงการใช้ power point เลย แม้แต่การใช้ mouse ก็ไม่คิดเลยว่าหลายคนยังไม่เคยจับ ผลพลอยได้นี้ จะช่วยให้บุคลากรระดับปฏิบัติมีความสามารถในการ (กล้า)ใช้คอมพิวเตอร์ และ internet มากขึ้น ก็จะเข้าถึงแหล่งข้อมูลในยุค IT มากขึ้นด้วย  , การพูดนำเสนอต่อหน้าธารกำนัล แม้จะก่อให้เกิดความกลัว กังวลกับผู้ที่ไม่เคย แต่คงสร้างความภาคภูมิใจในตนเองได้ไม่น้อย, เกิด “คุณอำนวย” ตัวฉกาจ คือ ผศ.ดร.จำนงค์ นพรัตน์ 1 ในทีมงานจัดทำโครงการ รับอาสาเป็นพิธีกรประจำเวทีการนำเสนอ ช่วยสร้างบรรยากาศคุ้นเคย อบอุ่น เป็นกันเอง และสนุกสนาน ทำให้มือใหม่หัดขับทั้งหลาย สามารถผ่านพ้นช่วงแห่งความกังวลไปได้ด้วยดี,เกิดการเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน จากการได้รับความสนใจจาก สคส.เชิญให้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีเสวนาการจัดการความรู้ในวงราชการไทย และได้รับเชิญจากกลุ่มงานสำนักงานอธิการบดีให้ทีมงานไปช่วยสอนแนะเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้ KM ในการพัฒนางานและอื่นๆ  อีกมากมาย

เรื่องเล่า “จิ๊กซอ” แห่งความสำเร็จ
         การดำเนินโครงการ patho-otop เกิดความสำเร็จเล็ก ๆ ขึ้นมากมายและส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนแนวคิดและการพัฒนางาน โดยมีเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ เช่น  ผศ. พญ.เสาวรัตน์ เอื้อเพิ่มเกียรติ รองหัวหน้าภาคฝ่ายพัฒนา ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการ เล่าประสบการณ์  “ทำอย่างไร จึงมีบุคลากรมาสมัครทำโครงการถึง 22 ทีม”ว่า “ต้องใช้กลยุทธ์หลายอย่าง ทั้งทบทวนและปรับเปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ จึงจะมีคนสมัครมากขนาดนี้ โดยในตอนแรกหลังจากได้ร่างโครงการแล้ว ก็เชิญผู้ที่คาดหมายว่าน่าจะเป็นพี่เลี้ยงโครงการได้ มาประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้นก็ประกาศรับสมัครทีม โดยให้กรอกแบบสอบถามเป็นแนวในการพัฒนางาน แต่ก็ไม่มีผู้มาสมัคร จึงต้องเรียกประชุมชี้แจงพี่เลี้ยงอีกครั้งเพื่อให้ช่วยสื่อสาร รวมทั้งลดข้อกำหนดในการสมัครให้ง่ายที่สุด” อ.เสาวรัตน์สรุปในตอนท้ายว่าประเด็นแห่งความสำเร็จในครั้งนี้น่าจะได้แก่ Finding the right facilitator (พี่เลี้ยง)  การมีส่วนร่วมของพี่เลี้ยงตั้งแต่ต้น  และการสื่อสารหลายทาง
          ผศ. ดร. อ.จำนงค์ นพรัตน์ ในฐานะ “คุณอำนวย” เล่าให้ฟังถึงวิธีที่ทำให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า  ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญต้องให้เขารู้สึกเป็นกันเอง ให้เขารู้สึกเด่น ให้ความสำคัญกับทุกคนบนเวทีที่ขึ้นมา นอกจากนี้ก็เลียนแบบเกมส์โชว์ในโทรทัศน์ คือให้ทุกคนใน floor มีส่วนร่วม นอกจากนี้ ต้องพยายามให้เขาคิดโครงการเอง เป็นเจ้าของโครงการ จะทำให้เขาอยากทำ และต้องไม่ให้ระยะเวลาโครงการยาวเกินไป จุดหนึ่งที่ดีคือการรับประทานอาหารร่วมกันของบุคลากร ทำให้เพิ่มความสัมพันธ์ในภาควิชา เหมือนเรารับประทานอาหารกันในครอบครัว
         คุณนุชจิเรศ แซ่ตั้ง  (ทีม OPD) เขาบอกว่าเป็นโครงการที่ดี ทำให้รู้จักหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฎิบัติงานเพราะตรงนี้เป็นจุดที่รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน เขาจะต้องส่งต่อให้ห้องปฎิบัติการ เขาต้องสัมผัสกับทั้งฝ่ายผู้ป่วย หอผู้ป่วยและสัมผัสกับห้องปฎิบัติการ  การทำตรงนี้ก็จะทำให้มีการประสานงานเกิดขึ้นทำให้ง่ายต่อการประสานงาน
         คุณจุฬาลักษณ์ (ทีม Hemato)  เขาบอกว่าเขาได้ความรู้มากขึ้น ได้เรียบเรียงระบบความคิด ได้รู้ขั้นตอนการเขียนโครงการ เพื่อใช้ในงานเขียนวิจัย ได้รู้จักคนในภาควิชามากขึ้น เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ภายในภาควิชา เพราะคนในห้อง lab ก็มีชีวิตอยู่แต่ในห้อง lab
         คุณวรากร (ทีม Blood bank) เขาก็บอกว่าเขาทำอยู่แล้วตอนแรกที่มาสมัครเขาคิดว่าภาคการบังคับ เขาก็เลยสมัคร แต่พอสมัครไปแล้วตอนที่เขาไปนำเสนอเขาก็คิดว่าสิ่งที่เขาคิดน่ะมีประโยชน์ แล้วยังมีประโยชน์กับห้อง lab อื่นด้วยเอาไอเดียของเขาไปใช้ได้ด้วย คือเขาพัฒนาของเขาแต่ไม่เขาไม่ได้ให้วิทยาทานในงานแก่หน่วยงานอื่น
จัดการความรู้  สร้าง “ตัวช่วย” พัฒนางาน
         ผลอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นกับภาควิชาพยาธิวิทยา คือแต่ละทีมนักพัฒนาต่างคิดหาวิธีเพื่อการพัฒนางานที่ดีกว่าและนำมาใช้และแลกเปลี่ยนกับทีมอื่น ๆ เช่น   ทีม"แล็บด่วน"(Hemato) หน่วยเคมีคลินิก มีปัญหาเวลาส่งสิ่งตรวจจะต้องเขียนคำว่า “ด่วนมาก” ในใบ request  พร้อมกับติดสติ๊กเกอร์สีแดงและเขียนคำว่าด่วนติดขวดมาด้วย ซึ่งบางครั้งหลงหูหลงตาไปบ้าง ทีมพี่เลี้ยงจึงแนะนำและจัดหาตรายางมาให้ปั๊มลงไปเลย ด้วยเจตนาให้ รู้สึกว่า “ ด่วนหยิบก่อน ด่วนทำก่อน ด่วนออกผลก่อน”  เพราะการที่มีคำว่า ด่วนมาก สีแดง ปั๊มติดที่ใบ request ช่วยกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้สึกว่าต้องเร่งมือในการทำการทดสอบรายนั้นๆก่อน  ซึ่งวิธีการนี้หน่วยงานอื่นก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้
         ทีม  Center and OPD Lab  ที่ทำการพัฒนางานเรื่อง กล่องแยกสิ่งส่งตรวจจากแกนกระดาษทิชชู  ที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการประยุกต์  โดยการคำนึงถึง ประโยชน์ในการใช้งาน, ความคุ้มค่า, ความสะดวก และความปลอดภัยในการรับ-ส่งตัวอย่างตรวจ  ซึ่งตอนนี้ได้นำไปทดลองใช้  และได้รับความร่วมมือจากทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รับส่งlab, เจ้าหน้าที่ห้อง lab, ward,OPD, เจ้าหน้าที่เจาะเลือด  รวมทั้งญาติผู้ป่วยหรือตัวผู้ป่วยเองด้วยที่มาส่ง labเอง

         วันนี้แม้โครงการยังไม่จบแต่ความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในภาควิชาพยาธิวิทยานั้น อาจกล่าวได้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น มาจากการที่ผู้นำมีความเชื่อ 3 อย่าง คือ 1. เชื่อว่าบุคลากรระดับปฎิบัติซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของหน่วยงานมีความสำคัญในความสำเร็จขององค์กรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระดับหัวหน้างาน  2. เชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพ และ 3. เชื่อว่าการออกแบบโครงการตามหลักการ KM จะช่วยสร้างบรรยากาศในการดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมา  ซึ่งเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นทีมงานคุณลิขิตได้บันทึกและรวบรวมไว้เป็นคลังความรู้ของภาควิชา
         จะเห็นว่าการจัดการความรู้ของภาควิชาพยาธิวิทยาเป็นการนำกระบวนการจัดการความรู้ไปใช้บูรณาการกับงานประจำ นั่นคือ กระบวนการ CQI (contunuous quality improvement)   และทำทุกจุดย่อย ๆ เป็นเหมือนจิ๊กซอผลสำเร็จชิ้นเล็ก ๆ ที่เมื่อนำมาประกอบกันก็จะเกิดเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และตอบสนองต่อเป้าหมายของภาควิชานั่นคือ การนำห้องปฎิบัติการผ่านมาตรฐาน ISO 15189  และบุคลากรมีการพัฒนาทั้งงานทั้งคนในทุกระดับ  อีกทั้งความสำเร็จของภาควิชาก็ยังไปเติมเต็มในภาพใหญ่ของการจัดการความรู้คณะแพทยศาสตร์ ที่หากทุกหน่วยงานของคณะทำอย่างนี้ก็จะทำให้คณะแพทยศาสตร์เป็นองค์กรเรียนรู้ที่มีกงล้อความรู้หมุนอยู่ตลอดเวลา.

รศ.พญ.ปารมี  ทองสุกใส
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
โทร. 074-451550   E-mail :
[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23209เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท