Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๓)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๑๙)

PATHO-OTOP
1 จิ๊กซอ การจัดการความรู้ ในคณะแพทย์ฯ มอ.

คณะแพทยศาสตร์ กับการจัดการความรู้
         นับจากคณะแพทยศาสตร์ ถูกก่อตั้งขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี 2515 คณะแพทยศาสตร์มีประสบการณ์ของการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี “ผู้นำ”เป็นแกนหลักในการนำหลักการและสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาขึ้นอย่างกว้างขวางใน 5 หน่วยงานหลักของคณะแพทยศาสตร์ คือ ฝ่ายการพยาบาล, ฝ่ายเภสัชกรรม,โรงพยาบาลสงขลานครินทร์  , แพทยศาสตร์ศึกษา และงานการเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการนำหลักการ QC เข้ามาใช้ในการพัฒนาบุคลากร ซึ่งมีกว่า 3,000 คน และการผ่านการรับรองการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.)เมื่อปี 2544   เป็นต้น 
         จากทุนเดิมดังกล่าวทำให้ในช่วงต่อมาถึงปัจจุบัน คณะแพทยศาสตร์เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีเรื่องของการจัดการความรู้มาอย่างต่อเนื่องภายในองค์กรโดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ถึงขนาดผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางสนับสนุนโดยเปิดช่องทาง “การแบ่งปันความรู้จากงานเพื่อการปฎิบัติที่ดีกว่า” ไว้ใน HomePage ของคณะ  และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาซึ่งถือเป็น phase ที่สองของการจัดการความรู้(มิถุนายน 2547-2549) ก็ได้นำไปบูรณาการอยู่ในการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์อย่างเป็นทางการ  โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ที่เรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารความรู้” โดยมีคณบดีเป็นประธาน 
         คณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมกันเป็นประจำทุกเดือน และสรุปว่าจะใช้ “DISCO” model เป็นแนวทางในการจัดการความรู้  คือ มี day of sharing knowledge (จัดให้มีกิจกรรม “วันแลกเปลี่ยนเรียนรู้เล่าสู่กันฟัง” ปีละ 3 ครั้ง และมีการสื่อสารผ่านทาง KM News ทุก ๆ 3 เดือน),  individual learning of knowledge (จัดให้มี e-learning ที่บุคลากรของคณะสามารถเข้ามาเรียนรู้ด้วยตนเองได้ในเรื่องที่คณะกำหนดไว้), switching  tacit  to  explicit  knowledge (จัดให้มีการเปลี่ยนความรู้ฝังลึกในบุคลากรออกมาเป็นความรู้แจ้งชัด โดยผ่านกลไกของชุมชนนักปฏิบัติหรือ Community of Practice ซึ่งใน 2 ปีนี้ คณะกำหนดไว้ว่าจะให้มี CoP ขึ้น  5 กลุ่ม), continuity management of knowledge (เป็นกิจกรรมที่สืบต่อมาจากโครงการขอความรู้จากผู้ลาจากฝากไว้ให้คณะ  แต่จะดำเนินการเป็นระยะ ๆ โดยไม่ต้องรอให้บุคลากรคนนั้นเกษียณหรือลาออก) และ organise knowledge (เป็นการจัดความรู้ขององค์กรให้เป็นระบบและเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการสืบค้น  รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านของบุคลากรในคณะ) 
         ศ.นพ.พิเชษฐ์ อุดมรัตน์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ทางด้านการจัดการความรู้ และรองประธานคณะกรรมการ KM ของคณะ กล่าวว่า ในคณะแพทยศาสตร์มีการทำกิจกรรมการจัดการจัดการความรู้อยู่มากมายกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะซึ่งมีระดับของการปฎิบัติที่แตกต่างกันไป   กิจกรรมหนึ่งที่ทำเรียกว่า  K-VISIT คือการออกไปเยี่ยมเยียนตามหน่วยงานและภาควิชาต่าง ๆ ในคณะ ที่ทำการจัดการความรู้ และก็พบว่า ภาควิชาที่ทำเดินเรื่องการจัดการความรู้ไปเร็วที่สุดแม้จะเพิ่งเริ่มทำก็คือ ภาควิชาพยาธิวิทยา  ซึ่งมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญคือ ผู้นำ กับภาวะผู้นำและความเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่ว่าทุกคนมีศักยภาพ หากทำให้เขาได้แสดงศักยภาพตัวเองออกมา เห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น  และการใช้กุศโลบายที่ไม่บอกว่าเป็นการนำหลักการจัดการความรู้มาใช้ แต่เป็นการพัฒนาการปฎิบัติงานเพื่อสิ่งที่ดีกว่า 
 
การจัดการความรู้ในภาควิชาพยาธิวิทยา
         ภาควิชาพยาธิวิทยา ถือเป็นหน่วยงานขนาดใหญ่ ในคณะแพทยศาสตร์ ที่มีหน้าที่หลักสำคัญประการหนึ่งคือ งานด้านบริการ ซึ่งภาควิชามีเป้าหมายระยะยาวอยูที่การให้บริการที่มีคุณภาพมีประสิทธิภาพและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายระยะสั้นภายในปี 2550 จะนำห้องปฎิบัติการผ่าน ISO15189 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่มีเกณฑ์ค่อนข้างสูงให้ได้  จำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรในการปฎิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  การพัฒนาคนจึงเป็นหัวใจสำคัญ ประกอบกับในภาควิชาก็มีอีกเป้าหมายที่วางไว้คืออยากให้คนในภาคมีการทำโครงการพัฒนางาน และส่งเข้าร่วมเสนอผลงานใน KM ของคณะแพทย์ที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีการเล่าความสำเร็จ  และการประกวดโครงการพัฒนางานของบุคลากรซึ่งทำต่อเนื่องมาหลายปี  แต่ในภาควิชาไม่ค่อยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านั้น ทั้งที่ในภาควิชามีบุคลากรเกือบ 200 คน
         ในฐานะหัวหน้าภาควิชา  รศ.พญ.ปารมี ทองสุกใส คิดว่าสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน  เพราะเมื่อบุคลากรได้พัฒนางานที่ตนเองรับผิดชอบก็คืองานบริการ  ก็น่าจะส่งผลต่อเป้าหมายใหญ่ในการเข้ารับการประเมินและผ่านการประเมินคุณภาพ ISO ได้  จึงนำทั้ง 2 เรื่องมาโยงกันเป็นเรื่องหลักที่ภาควิชาจะทำ  และจากการได้รับฟังการบรรยายและศึกษาจากเอกสารเรื่องการจัดการความรู้หลายครั้ง และเกิด “ปิ๊งแว้บ” จากการบรรยายของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. ที่ว่า การทำจัดการความรู้ไม่ต้องยึดติดกับแนวทาง วิธีการใดก็ได้ถ้ามีเป้าหมายเพื่อการพัฒนางานและผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการทำงานให้ถือว่าเป็น KM ทั้งนั้น   จึงนำหลักการสำคัญของ KM นั่นคือต้องมีหัวปลา (การสร้างเป้าหมายร่วม) ใช้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิด  ให้ใช้ความรู้ทั้งภายในภายนอก และเน้นการเรียนรู้ทดลองรูปแบบใหม่ (ทำไปเรียนรู้ไป)  จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำมาใช้กับภาควิชาซึ่งมีคนหลากหลายระดับทั้งอายุ การศึกษา และทักษะ ให้สามารถนำความรู้และประสบการณ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนางานได้มากขึ้น    จึงเขียนโครงการพัฒนางานขึ้นชื่อ โครงการพยาธิ 1 ทีม 1โครงการ หรือ PATHO-OTOP  ( Pathology-One Team One Project) พยาธิ 1 ทีม 1 โครงการ


การบูรณาการการจัดการความรู้กับงานประจำ
         patho-otop จึงเป็นโครงการพัฒนางานที่นำกระบวนการจัดการความรู้เข้ามาประยุกต์ใช้ กับคนกลุ่มใหญ่ของภาควิชาคือระดับปฎับัติหรือคนหน้างาน เพราะจากโครงสร้างของภาควิชาซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าภาควิชา  1 คน หัวหน้าหน่วย 14 คน หัวหน้างาน 11 คน ระดับปฏิบัติงานมีถึง 168 คน ประจำอยู่ตามห้องปฏิบัติการย่อยๆ ที่มาอยู่มากมายในภาควิชา เช่น LAB เลือด, LAB ชิ้นเนื้อ ฯลฯ ซึ่งแต่ละLAB ก็มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป และเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งระดับการศึกษาและทักษะ (มีตั้งแต่คนจบ ม.ปลาย-ป.โท)  ซึ่งการพัฒนางานที่ผ่านมารวมทั้งในการทำการจัดการความรู้ของคณะ มักส่งมาที่ระดับหัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้างานเป็นหัวหน้าโครงการ  บุคลากรระดับหัวหน้าจึงมีโอกาสได้รับการพัฒนามากกว่า ขณะที่บุคลากรกลุ่มใหญ่คือระดับปฎิบัติการมีโอกาสเข้าถึงหรือมีส่วนร่วมน้อย การปรัปบรุงงานจึงมักเป็นไปตามการมอบหมายของหัวหน้างาน หรือ บุคคลปรับปรุงงานในความรับผิดชอบด้วยตนเอง หรือ กลุ่มย่อยๆ ในหน่วยงานปรับปรุงงานเป็นจุดๆ  ความรู้ของเขาจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์หรือได้รับการส่งเสริมให้แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่  จึงเป็นการดำเนินงานที่ไม่เป็นเอกภาพทำให้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้ช้า

KM ย้อนศร
         พยาธิ 1 ทีม 1 โครงการ จึงเป็นการนำการจัดการความรู้มาบูรณาการเข้ากับระบบงานที่ทำอยู่คือกระบวนการ CQI (ทบทวนตนเองเพื่อค้นหา/ระบุปัญหา/ความเสี่ยง  กำหนดแนวทางแก้ไข ปรับปรุงแนวคิดนำไปปฏิบัติ ประเมินผล และปรับปรุงงาน)   และออกแบบโครงการให้ทุกหน่วยย่อย ๆ ในภาควิชาได้ปฎิบัติร่วมกัน โดยเริ่มที่การทบทวนซึ่งทำกันเป็นทีมก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างทีม และพอทำร่วมกันทำพร้อมกันหลาย ๆ ทีมก็ให้แต่ละทีมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยเน้นการทำงานเป็นทีมของผู้ปฎิบัติงาน(คนหน้างาน) หัวหน้างานถอยมาเป็นพี่เลี้ยง แล้วให้มี peer assit ก็คือให้ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ในหน่วยงานอื่นมาเป็นที่ปรึกษา มีการจัดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมจัดรางวัลเสริมแรงจูงใจให้เข้าร่วมกิจกรรม  ซึ่งเมื่อเปิดรับสมัครทีมพัฒนาร่วมโครงการ โดยกำหนดให้สมัครเป็นทีม(ทีมละ 3-5 คน) ในที่สุดก็มีผู้สมัครเข้ามารวม 22 ทีมจากหน่วยงานย่อย ๆ ของภาค และเริ่มเวทีแรกด้วยการจัดอบรมเชิงปฎับัติการที่แปลกไปกว่าเดิมด้วยการให้มีช่วงของการแนะนำโครงการเพียงสั้น ๆ จากนั้น ให้แต่ละทีมเข้ากลุ่มและระดมความคิดเห็นกันว่างานที่ทำอยู่นั้นมีปัญหาอุปสรรคอะไรและเขาอยากจะแก้ปัญหานั้นเสร็จแล้วจึงให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอ ซึ่งเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ก็ได้รับฟังด้วย และเกิดการเรียนรู้ซึ่งกัน
         สิ่งที่ผิดคาดคือจากเดิมที่ตั้งใจจะเลือกบางกลุ่มมานำเสนอแต่การนำเสนอที่มีการแลกเปลี่ยนกันเช่นนี้ทำให้กลุ่มอื่น ๆ รู้สึกอยากที่จะนำเสนอให้เพื่อนกลุ่มอื่นได้ฟังด้วย จึงต้องใช้การนำเสนอถึง 3 ครั้งจึงจะครบทั้ง 22 ทีม  เสร็จแล้วก็มีการเรียกร้องอยากให้แต่ละทีมที่ได้นำเสนอและนำไปปฎิบัติในการพัฒนางานนั้นเป็นอย่างไร ก็ควรมานำเสนอกัน แต่การจะนัดหมายให้มาบ่อย ๆ เกรงจะเบื่อที่ต้องเสนอหลายครั้ง   หัวหน้าภาคจึงนำการใช้ Blog มาแนะนำให้ใช้เป็นเวทีเสมือนให้แต่ละทีมได้เล่าความคืบหน้า แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันผ่าน Blog  ขณะที่การนำเสนอผลอย่างเป็นทางการก็ยังมีอยู่เป็นระยะ รวมทั้งการไปเรียนรู้นอกสถานที่
         รศ.พญ.ปารมี กล่าวว่า การทำ KM  ของภาควิชาพยาธิวิทยาเป็นการทำย้อนกับแนวทางที่ สคส.ทำซึ่งมักเริ่มจากการเล่าเรื่องความสำเร็จ  แต่ของพยาธิทำไปก่อนเสร็จแล้วเมื่อเขามีความรู้เกิดขึ้น ก็จะมาจัดการเรียนรู้ความสำเร็จในตอนท้าย โดยจะเลือกกลุ่มที่ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานซึ่งทำได้ดีมาเล่าเรื่องในรายละเอียดรวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ และจัดกลุ่มเสวนาให้เขาสกัดความรู้ว่าทำไมบางกลุ่มเขาจึงทำได้ดีประสบผลสำเร็จ  จากนั้นกลุ่มของเขาก็จะต้องไปวางแผนต่อโดยเอาความรู้ต่าง ๆ ที่เขาได้รวมทั้งความรู้ประเด็นความสำเร็จของกลุ่มอื่นที่ทำได้ดีไปประยุกต์ใช้กับของตนเอง  และวางแผนการนำเสนอผลการดำเนินงานในรอบหน้าต่อไป
 
“Patho-Otop” ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว
         จากเวทีแรกที่เบื้องต้นมีบุคลากรสมัครรวม 22 ทีม รวม 60 คน แล้วก็มีพี่เลี้ยงประมาณ 10 คน   และมานำเสนอโครงการพัฒนางาน ทำให้เขาเกิดความรู้จากการทบทวนว่าเขารู้และไม่รู้อะไรและสิ่งที่เขาต้องการรู้ในอนาคตคืออะไร และเขาจะหาวิธีให้รู้สิ่งที่เขาอยากรู้ได้อย่างไร  และความสำเร็จเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากเวทีแรกคือเกิดการทำงานเป็นทีม เพราะเดิมเขาจะทำงานประจำในหน้างานที่ตนเองรับผิดชอบ ผลของการทำงานเป็นทีมทำให้ทุกกระบวนการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน  เพราะการปฎิบัติงานทางห้อง LAB  มีกระบวนการมากกว่าขึ้นตอนแค่ในห้อง LAB เพราะเมื่อพยาบาลรับคำสั่งไปเจาะเลือดผู้ป่วย ส่งมาให้ห้อง LAB  ซึ่งมีห้องที่รับในด้านหน้าก็จะส่งเข้ามาที่ห้อง LAB อีกที ห้อง LAB ทำการวิเคราะห์ จากนั้นลงผล ส่งผลไปที่หอผู้ป่วย ไปสู่แพทย์อีกที    และจากการทำโครงการที่เปิดรับทีมพัฒนาซึ่งมาจากทุกหน่วยย่อย ๆ ของภาควิชา โครงการนี้ก็จะเกิดขึ้นในทุกจุด ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ห้อง LAB ก่อนที่ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจะเข้าสู่ห้อง LAB ก็คือด่านหน้าของภาควิชา ก็คือหน่วยรับสิ่งส่งตรวจ  ซึ่งเขาก็จะสัมผัสกับทางฝ่ายการพยาบาล เพราะฉะนั้นการพัฒนาตรงนี้ก็จะเกิดทุกจุด  และในอนาคตเราก็จะชักชวนพยาบาลมาร่วมกับเราเพรามีส่วนที่คาบเกี่ยวกัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 23207เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2006 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท