การประกวดเรื่องสั้นไทยครั้งแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7


การประกวดเรื่องสั้นครั้งแรกของไทยน่าจะอยู่สมัยรัชกาลที่ 7 โดยเรื่องสั้นเรื่อง ใครเปนบัณฑิต น่าจะเป็นเรื่องสั้นชนะการประกวดเรื่องแรกของไทย

ลวดลายวรรณกรรม/

การประกวดเรื่องสั้นไทยครั้งแรกๆ ในสมัยรัชกาลที่ 7

โดย ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา

 พิมพ์ครั้งแรก สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 5-11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 หน้า 56-57

เกริ่นนำ

เรื่องสั้นไทยเป็นวรรณกรรมไทยประเภทหนึ่งซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกโดยการนำเข้ามาเผยแพร่ของเหล่าบรรดานักเรียนนอกในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากนั้นจึงเป็นที่นิยมขึ้นตามลำดับ โดยเรื่องสั้นไทยเรื่องแรกที่แต่งโดยคนไทยนั้นนักวรรณกรรมบางส่วนถือกันว่าเรื่องสั้นเรื่องสนุกนึกก์เป็นเรื่องสั้นไทยที่เขียนโดยคนไทยเรื่องแรก

                ยุคที่ถือกันว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวรรณกรรมไทยทั้งเรื่องสั้นและนวนิยายที่เข้าลักษณะร่วมของวรรณกรรมปัจจุบัน  ถือได้ว่าคือยุคพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  7  ที่วรรณกรรมได้รับความนิยมแพร่หลายสืบต่อมาจากสมัยรัชกาลที่  6  มีนิตยสารหลายฉบับที่นำเสนอเรื่องสั้นและนวนิยาย  เช่น  เริงรมย์  ,  เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์,  ไทยเขษม ,  สุภาพบุรษ,  ฯลฯ

                ในสมัยรัชกาลที่  7  นี้  นับได้ว่าเกิดนักเขียนหน้าใหม่ๆ  ขึ้นในวงการเป็นอันมากเพราะบรรดานิตยสารหลายฉบับเปิดกว้างรับผลงานจากนักเขียนทั่วไป  ดังนั้น  หนังสือเริงรมย์  ที่ประกาศรับผลงานเรื่องสั้นจากผู้อ่านดังที่บรรณาธิการหนังสือเริงรมย์ได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์   ในหนังสือเริงรมย์ฉบับปฐมฤกษ์ว่า

                และนอกจากนี้

                1.  เพื่อสมานสามัคคีของบรรดานักประพันธ์ให้ได้มีโอกาสทำงานร่วมมือกัน อันเปนความสนุกอย่างหนึ่งของบรรดาผู้ใฝ่ใจในทางนี้

                2.  เพื่อเปนการเปิดสนามอีกแห่งหนึ่งสำหรับบรรดาผู้ใคร่จะเปนนักประพันธ์  ได้มีโอกาสฝึกหัด  และในส่วนนี้  คณะมีความยินดีรับเรื่องของท่านทุกเรื่องแม้ผู้ที่เริ่มหัด

                3.  ความเริงรมย์แกท่านผู้อ่าน  (หนังสือเริงรมย์.  ฉบับที่  1  วันที่  1  พฤศจิกายน  2469 ,  หน้า  5-8 )

 

หนังสือเริงรมย์ผู้จุดประกายการประกวดเรื่องสั้นไทย

                การประกวดเรื่องสั้นไทยที่เขียนโดยคนไทยและเปิดกว้างให้คนทั่วไปส่งเรื่องเข้าประกวดได้นั้น  หนังสือเริงรมย์น่าจะนับได้ว่าเป็นนิตยสารหรือหน่วยงานแรกๆที่เปิดการประกวดเรื่องสั้นไทยขึ้น  เพื่อให้คนทั่วไปได้มีร่วมประกวดกันทางกองบรรณาธิการโดยได้ประกาศเชิญชวนไว้ในคำประกาศตั้งสนามเริงรมย์ดังนี้

                ประกาศตั้งสนามเริงรมย์

                หมวด  1  การประกวดเรื่องสั้น

                หลังจากหนังสือเริงรมย์ฉบับนี้  ชาวคณะเริงรมย์ขอเชิญชวนท่านทั้งหมดทั่วไปแต่งเรื่องอ่านเล่นชนิดสั้นๆส่งเข้าประกวด   สนามเริงรมย์ทั้งนี้เพื่อความสนุกแผนกหนึ่ง  จะเปนเรื่องนิทานขบขัน  หรือจะเปนเรื่องอ่านเล่นตามความนิยมของสมัยนี้ก็ได้ทั้งสิ้น  (จะเปนโคลงฉันท์  กาพย์  กลอน  หรือ  ร้อยแก้วก้ได้)  แต่เรื่องหนึ่งๆต้องไม่ยาวเกิดกว่าสองหน้าของหนังสือฉบับนี้คณะจะได้จัดตั้งกรรมการตัดสินเรื่องสั้นทุกเรื่องที่ลงพิมพ์ไปนั้นในชั่วเวลาสองเดือนต่อครั้งถ้าและเมื่อเรื่องใดกรรมการตัดสินให้เปนที่หนึ่งหรือที่สอง  คณะจะประกาศให้ทราบ  และจะจัดให้มีรางวัลทั้งสองรางวัล  เริงรมย์ปีที่  1  เล่ม  5  วันที่  1  มกราคม  2469)

 

เสียงตอบรับจากนักเขียน

                บรรยากาศในการส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดในหนังสือเริงรมย์นั้นได้รับความนิยมมากในระดับหนึ่ง  เพราะมีผู้ส่งเรื่องสั้นเข้าร่วมประกวดจำนวนมากแม้จะมีกำหนดระยะเวลาเพียง  2  เดือนก็ตาม  ดังที่บรรณาธิการหนังสือเริงรมย์ได้กล่าวไว้ในเริงรมย์ฉบับตัดสินผลการประกวดเรื่องสั้นว่า  "มีผู้ส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดชิงรางวัลตามคำเชื้อเชิญของเราหลายสิบเรื่องด้วยกัน  เราได้เลือกเรื่องที่เห็นว่าสมควรชมเข้าสู่สนามประกวดรวมทั้งหมด  22  เรื่อง"  (เริงรมย์ปีที่  10  ฉบับที่  10  วันที่  15  มีนาคม  2469 ,  หน้า 2554)

                นอกจากจำนวนเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวดจะมีจำนวนมากแล้ว  ยังมีผู้ที่ต้องการให้เพิ่มความยาวของเรื่องสั้นให้มีมากกว่า  2  หน้าอีกด้วย

                นับได้ว่าการประกวดเรื่องสั้นครั้งแรกในหนังสือเริงรมย์นี้ได้สร้างความตื่นตัวให้กับนักเขียนเป็นอย่างมาก

 ใครเปนบัณฑิต?เรื่องสั้นชนะการประกวด

                ในการตัดสินผลการประกวดเรื่องสั้นนั้นมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยคณะหนึ่งจำนวน  3  ท่าน  โดยคณะกรรมการในครั้งนี้  คือ  พันธุ์งาม  ศรีอิสรา  และสมุห์หอม  โดยกรรมการทั้ง  3  ท่าน  ได้ตัดสินให้เรื่องสั้นเรื่อง  ใครเปนบัณฑิต?ของเผ่าทหารได้รางวัลที่หนึ่งโดยเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลที่สองมี  3  เรื่อง คือ พิศูจน์รัก  ของ  ส.อ.ว.  และเรื่อง ขงเบ้งและจิวยี่  ของประทือง  ซึ่งผลแห่งการประกวดมีดังนี้

 

กรรมการ

รางวัลที่หนึ่ง

รางวัลที่สอง

พันธุ์งาม

ศรีอิสรา

สมุห์หอม

ใครเปนบัณฑิต?

ใครเปนบัณฑิต?

ใครเปนบัณฑิต?

ศาสตราจารีย์กับชายแจวเรือ

พิศูจน์รัก

ขงเบ้งและจิวยี่

 

                เนื้อหาของเรื่องสั้นเรื่อง  ใครเปนบัณฑิต?  เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักของนายภาสกับนางโสภา  ซึ่งได้สนทนาเกี่ยวกับเรื่องความรักของหนุ่มสาว  ที่ต่างฝ่ายบอกว่าไม่ได้รักกัน  เพียงแต่ชอบกัน  เพราะความรักคือโรคร้ายในทรรศนะของนายภาส  มหาบัณฑิตจากแคมบริดจ์  กับความรักคือของแสลงอันโอชาและพิษถึงกับฆ่าผู้เมามึนในรสรักได้ของนางสาวโสภา  ซึ่งนางสาวโสภา  ได้กล่าวความเปนบัณฑิตรั้งใจไว้มิให้รักนายภาส  จนเกิดการทุ่มเถียงกันว่า ใครเปนบัณฑิต?  ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ  แล้วจึงใช้จดหมายเป็นเครื่องสารภาพรักแก่กัน  โดยผู้เขียนคือเผ่าทหารได้ปิดเรื่องโดยทิ้งท้ายว่า ใครเปนบัณฑิต?

 

รางวัลในการประกวดเรื่องสั้น

                การประกวดเรื่องในหนังสือเริงรมย์ทางบรรณาธิการหนังสือเริงรมย์ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะที่หนึ่งและผู้ที่ได้รับรางวัลอีกสามท่านเป็นหนังสือที่มีลายเซ็นของคณะกรรมการตัดสินทั้งสามท่าน  โดยเป็นหนังสือที่ทางบรรณาธิการหนังสือเริงรมย์กล่าวไว้ว่า  เปนหนังสือมีค่า  มีชื่อกรรมการทั้งสามเซ็นเพื่อเป็นที่ระลึก  เริงรมย์   ปีที่  1  เล่ม  10  วันที่  15  มีนาคม  2469  หน้า  2393) 

 

ผลจากการประกวด

                ผลจากการจัดการประกวดในหนังสือเริงรมย์  ปรากฏว่ามีนักเขียนเรื่องสั้นเข้าร่วมประกวดจำนวนหลายสิบเรื่อง  โดยมีเรื่องสั้นที่ผ่านการพิจารณาได้รับการลงพิมพ์ในหนังสือเริงรมย์รอบ  2  เดือนที่ประกวด  22  เรื่องอันเป็นการสร้างบรรยากาศทางวรรณกรรมให้เหล่านักเขียนตื่นตัวและมีสนามในการแสดงผลงานทั้งนักเขียนเก่าและนักเขียนหน้าใหม่  ผลจากความนิยมในครั้งนี้  ทำให้หนังสือเริงรมย์จัดการประกวดเรื่องสั้นในครั้งต่อๆมาอีกหลายหนนอกจากนี้บรรดาเรื่องสั้นที่ส่งเข้าร่วมประกวดของนักเขียนบางท่านที่มีขนาดยาวเกินไปนั้นทางบรรณาธิการหนังสือเริงรมย์ยังได้นำลงเป็นเรื่องยาวในโอกาสต่อๆไปอีกด้วย

 

ความหลากหลายในเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวด

                การประกวดเรื่องสั้นในหนังสือเริงรมย์ครั้งแรกนี้  นับได้ว่าเป็นการเปิดกว้างสำหรับเรื่องสั้นที่ส่งเข้าประกวด  เพราะคณะบรรณาธิการตั้งขอบเขตเพียงความยาวของเรื่องสั้นตามคำเชิญชวนที่ให้แต่งเรื่องอ่านเล่นที่มีความยาวไม่เกิน  2  หน้า  ซึ่งมีการผ่อนผันให้ยาวได้เกิน  2  หน้าในฉบับต่อมา  โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านอื่นๆมากนัก  จึงนับเป็นการเปิดกว้างในรูปแบบและเนื้อหาเรื่องสั้น  ที่เมื่อพิจารณาแล้ว  จะพบเรื่องสั้นที่มีลักษณะเด่นสี่ลักษณะ  คือ  เรื่องสั้นที่มีลักษณะเป็นนิทาน  เรื่องสั้นที่มีลักษณะเรื่องสั้นปัจจุบัน  เรื่องสั้นที่ผสมผสานระหว่างเรื่องสั้นปัจจุบันกับนิทาน  และเรื่องที่มีลักษณะนำเนื้อเรื่อง  เรื่องสั้นต่างประเทศนำมาแปลง  โดยเรื่องที่เป็นโคลง  ฉันท์  กาพย์  กลอน  ตามที่ทางหนังสือเริงรมย์อนุโลมให้ร่วมประกวดได้นั้น  ไม่ปรากฏอยู่เลย  คงมีเพียงร้อยแก้วแนวเรื่องสั้นเท่านั้น  ในจำนวนเรื่องที่นำเสนอในการประกวดทั้งหมด  22  เรื่อง  โดยคำประพันธ์ประเภทร้อยกรองชนิดต่างๆนั้น  หากปรากฏจะอยู่ในรูปของการปิดเรื่องโดยใช้คำประพันธ์ร้อยกรองปิดท้ายเรื่องเพื่อสรุปเรื่อง

                ลักษณะเด่นของเรื่องสั้นอีกประการหนึ่งคือ  การใช้จดหมายในการดำเนินเรื่อง  เพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นผ่านตัวละคร  โดยที่ผู้เขียนไม่ต้องบอกผู้อ่านโดยตรงอันเป็นลักษณะที่นิยมกันในสมัยนั้น

 

ปิดท้าย

                อาจจะนับได้ว่าเรื่องสั้นเรื่อง  ใครเปนบัณฑิต?  เป็นเรื่องสั้นชนะการประกวดในการประกวดเรื่องสั้นไทยที่แต่งโดยคนไทย  และเปิดกว้างให้ผู้อ่านและนักเขียนทั่วไปได้ร่วมส่งเรื่องเข้าประกวด  อันถือเป็นการประกวดเรื่องสั้นครั้งแรกๆของไทยที่กรรมการตัดสิน  มีการมอบรางวัล  และเปิดกว้างให้คนทั่วไปส่งเรื่องที่แต่งเข้าประกวด  ซึ่งนับว่าเป็นพัฒนาการเรื่องสั้นไทยให้แพร่หลายมากขึ้น  ช่วยสร้างบรรยากาศทางวรรณกรรมในสมัยนั้นให้เป็นที่นิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  และน่าจะถือได้ว่าเป็นการจุดประกายในการประกวดเรื่องสั้นไทยในยุคต่อๆมาอีกทางหนึ่งด้วย

                บทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอให้ทราบถึงการประกวดเรื่องสั้นไทยในสมัยรัชกาลที่  7  ที่นักวรรณกรรมหลายๆท่าน  ถือเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของวรรณกรรมไทย  เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่เป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของวรรณกรรมไทย  เริ่มมีการประกวดงานวรรณกรรมเป็นกิจลักษณะ  อันเป็นการสร้างบรรยากาศทางวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น  อีกทั้งยังช่วยให้เรื่องสั้นไทยพัฒนาขึ้นมาจากสมัยก่อนหน้านั้นอีกทางหนึ่งด้วย

 

ใครเปนบัณฑิต?

เผ่าทหาร

 

   นายภาส  พงษ์ภาณ  เปรียญ  M.A.  แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์.  ยืนนิ่งอยู่เป็นครู่ด้วยความรู้สึกที่เกิดขึ้นใหม่  เขากำลังทึ่งในอุปนิสัยอันเยือกเย็น  ในอิริยาบถอันเคร่งขรึมแห่งสหายหญิงของเขา  นางสาวโสภาบารมีบวรณ์  ซึง   บัดนี้เจ้าหล่อนได้เอนการหงายหลังพิงพนักเก้าอี้เฉยอยู่โดยไม่ปริปากโต้ตอบคำพูดของเขาเสียเลย.  (ตราบจนเขาพูดขึ้นใหม่ว่า จริงๆนา  คุณที่รัก,  ผมว่าคุณเหมาะกับตำแหน่งภรรยาของบุรุษอย่างที่สุด,  คุณจักเปนมารดาของมนุษย์ผู้มีสรีระสมบูรณ์ด้วยอนามัยได้คนหนึ่ง,  ถ้าคุณสามารถจะเปนภรรยาของผมได้จะดีมาก  เวลานี้ผมแข็งแรงไม่มีโรคภัยเบียดเบียน  และยังเปนหนุ่มอยู่  ทุกๆส่วนของอวัยวะ,  และคุณก็ยังเปนสาว,  โอกาสอันงดงามยังเปนสมบัติของคุณ

                นางสาวโสภา  คุณรักดิฉันหรือคะ?  คุณไม่รักดิฉันเลยไม่ใช่หรือ?

                นายภาส  เปล่า! ผมชอบคุณต่างหาก  ไม่เคยรักคุณเลย  ความรัก-คือโรคร้าย-เปนเครื่อง

ทอนความสุขของมนุษย์  บัณฑิตกล่าว  มหาทุกข์-ภัย-อุบาทว์  ทุกประเภท  ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่มีความรัก

                นางสาวโสภา  อย่างนั้น  คุณคงไม่มีความรักในดิฉันเลยเปนแน่  บัณฑิตย่อมภาสิตไว้ว่า ความรัก  คือของแสลงอันโอชา  และมีพิษถึงกับฆ่ามนุษย์ผู้มึนเมาในรสรักได้โดยง่าย

                นายภาสหน้าแดงในทันใด  พลางพูดว่า  ผมไม่ได้รักคุณ  คุณไม่ได้รักผม  ต่างคนต่างมิได้รักกันเลยมิใช่หรือ?

                นางสาวโสภา  ถูกแล้ว  ความเปนบัณฑิตของดิฉันรั้งใจมิให้รักคุณ

                นายภาสอ๊ะ!  ผมต่างหากเปนบัณฑิตจะถูกกว่า

                สองหนุ่มสาวต่างคนต่างทุ่มเถียงเกี่ยงว่า  ตนเปนบัณฑิตอยู่ราว  4  ชั่วโมงไม่มีใครลงใครในสุดนายภาสขอโอกาสลาเจ้าหล่อนกลับบ้าน

                รุ่งขึ้น-มีไปรษณีย์บุรุษนำจดหมายมาส่งให้นางสาวโสภาฉบับหนึ่งมีใจความว่า

                คุณโสภายอดรัก

                ?

                จากผม  ภาส  พงษ์ภาณ

                และในวันเดียวกัน  นายภาสก็ได้รับจดหมาย  ฉบับ  1  ความว่า  : 

                คุณภาส  ที่รักของดิฉัน

                ค่ะ

                จากดิฉันโสภา  บารมีบวรณ์

                แล้วทั้ง  2  คน  ก็ได้แต่งงานกันโดนสวัสดิภาพ  ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า  ใครเปนบัณฑิต?

                                              (การนำข้อมูลไปใช้กรุณาอ้างอิงผู้เขียนบทความด้วย)

               



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท