มหาวิทยาลัยชีวิต-สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน


โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มีพื้นฐานสำคัญเพื่อจัดการศึกษาให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง ไม่แยกออกจากชีวิต เรียนรู้จากชีวิต จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ของตนเองและของคนอื่น เรียนในหมู่บ้าน ในชุมชน เรียนแล้วมีชีวิตดีขึ้น ได้ปริญญา พึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีรายได้ ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนแล้วมีศักดิ์ศรี มีวิชาทำมาหากิน ไม่กลัวใครดูถูกดูหมิ่น อยู่ในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องอายใคร อยากออกไปสมัครงาน ไปหางานทำที่อื่น ก็ไปได้

เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ผมได้รับการติดต่อจาก อ.พูลศักดิ์ พุ่มวิเศษ คนชุมพร อดีตผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ให้ไปร่วมพูดคุยกับ รศ.ดร.เสรี พงศ์พิศ ที่โรงพยาบาลหลังสวน นับได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีมากครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้รับฟังสิ่งที่ อ.เสรี นำมาถ่ายทอดและแสดงเจตจำนงให้เกิดการสานต่อขึ้นมาใน จ.ชุมพร บ้านของเรา

ท่านได้พูดถึงเรื่อง โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ครับ


มีด้วยหรือ มหาวิทยาลัยชีวิต ? หรือจะเป็นเพียงคำพูดเปรียบเปรยการเรียนรู้นอกสถาบันการศึกษาจากประสบการณ์ชีวิตของเราเอง แว่บแรกของการได้ยินชื่อนี้ ผมคิดแบบนี้

แต่เมื่อได้ฟังเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของท่าน คำตอบที่ได้รับทำให้ความงุนงงสงสัยกลายเป็นความเข้าใจที่ชัดเจนในเหตุผลและกระบวนการจัดการศึกษาของ มหาวิทยาลัยชีวิต-สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ความรู้สึก
ปิติค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผมอยากเห็น อยากให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการจัดการศึกษาโดยสถาบันระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การขยายตัวลงสู่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อแย่งชิง
ลูกค้า กันเป็นหลัก คำพูดที่ว่า จ่ายครบ-ก็จบได้ สะท้อนถึงแนวทางในการจัดการศึกษาในลักษณะที่ว่านี้ได้อย่างชัดเจน

ต่างจาก โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ที่มีที่มาจากการ รวมมิตร ประสบการณ์ดีที่สุดของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาของตนเองได้ แก้ปัญหาหนี้สิน มีอยู่มีกินอย่างพอเพียง มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน นำประสบการณ์ดังกล่าวมาจัดเป็นระบบ เป็นวิชาการ นำเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้คนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง และร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มีพื้นฐานสำคัญเพื่อจัดการศึกษาให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง ไม่แยกออกจากชีวิต เรียนรู้จากชีวิต จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ของตนเองและของคนอื่น เรียนในหมู่บ้าน ในชุมชน เรียนแล้วมีชีวิตดีขึ้น ได้ปริญญา พึ่งพาตนเองได้ มีงานทำ มีรายได้ ช่วยตัวเองได้ ช่วยคนอื่นได้ มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เรียนแล้วมีศักดิ์ศรี มีวิชาทำมาหากิน ไม่กลัวใครดูถูกดูหมิ่น อยู่ในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องอายใคร อยากออกไปสมัครงาน ไปหางานทำที่อื่น ก็ไปได้

เราอยู่ในยุคสังคมความรู้ ไม่ใช่สังคมเกษตร สังคมอุตสาหกรรมแล้ว ในสังคมความรู้วันนี้ คนไม่มีความรู้จะอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ก็ด้วยความยากลำบาก ถูกเขาเอาเปรียบ ถูกเขาโกง ถูกเขาหลอก ถูกเขาครอบงำ เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ มีที่ดิน มีเงิน มีอำนาจเท่านั้นไม่พอ ต้องมีความรู้ ต้องมีปัญญาจึงจะอยู่รอดในโลกที่มีความซับซ้อนและไร้พรมแดนนี้

คนไม่มีความรู้จะใช้ความรู้สึก ความเห็น ความอยาก ความไม่รู้ ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ซึ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมักจะเลียนแบบคนอื่น เห็นเขาทำแล้วรวยก็ทำตาม ชอบเลียนแบบไม่ชอบเรียนรู้ ชีวิตไม่มีแบบมีแผน ไม่มีข้อมูล คิดอะไรทำอะไรนึกว่าง่ายไปหมด คิดว่าทำแล้วจะรวย แต่ไม่เคยรวยสักที เพราะ รอด ยังไม่รอดเลย ล้มเหลว เป็นหนี้เป็นสิน คนไม่มีความรู้ แม้มีทรัพย์สินมาก วันหนึ่งก็จะหมด มีเงินมากก็จะไม่เหลือ เหลือแต่หนี้สิน คนมีความรู้ ปู่ย่าตายายท่านบอกว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน มีสินทรัพย์น้อยก็จะมีมาก มีเงินน้อยก็จะมีเงินมาก

ผู้นำไม่มีความรู้มักจะนั่งเทียนเขียนแผนเขียนโครงการ หรือลอกแผนลอกโครงการคนอื่น ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่ได้มาจากข้อมูลชุมชนท้องถิ่นจริง ไม่ได้มาจากความรู้จริง ไม่ได้เกิดจากแผนที่คิดเอง ทำเอง ผู้นำไม่มีความรู้ ขาดพลังทางปัญญา สร้างวิสัยทัศน์เองไม่ได้ มองอะไรไม่ทะลุ ไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์ที่ดีได้ ทำงานแบบ ไม่รู้เขาไม่รู้เรา รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง

มีคำถาม-คำตอบ อีกมาก อาทิ เรียนจบแล้วได้ปริญญาด้วยหรือ, เรียนวันไหน-อย่างไร-ที่ไหน, ใครมีสิทธิเรียนได้, อายุมากแล้ว ความจำไม่ค่อยดียังเรียนได้หรือ, เรียนยากไหม, จบยากไหม, เรียนวันนี้มีประโยชน์อะไร ฯลฯ ท่านที่สนใจขอเชิญเข้าไปติดตามอ่านได้ที่ www.rulife.net และเว็บไซต์ของ ดร.เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com

ส่วนคำถามว่า โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต จะมาเปิดที่ จ.ชุมพร บ้านของเราหรือไม่ ขอตอบว่าเรากำลังทำงานกันอยู่ครับ.


หมายเลขบันทึก: 229886เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2008 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ณัฐวุฒิ ภาษยะวรรณ

เขียนได้ดีครับ จะขอยืมบทความไปประชาสัมพันธ์บ้าง

ณัฐวุฒิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท