ดุลยภาพแห่งชีวิต : เสียงเงียบ


การเปิดใจฟัง "เสียงเงียบ" จากหัวใจของเราด้วยความซื่อสัตย์
  • หนังสือ "ดุลยภาพแห่งชีวิต" (Gesture of Balance) ตาร์ถัง ทูลกู เขียน วัชรา ทรัพย์สุวรรณ แปล เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมยืมมาจากห้องสมุดตั้งแต่ตอนต้นเทอมแต่ยังไม่ถึงคิวอ่าน มาได้อ่านจริงจังก็วันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมานี่เอง ผมชอบเนื้อความที่เขียนในหน้า 42 มาก ผมว่าเป็นเคล็ดวิชาหรือ "มรรค" ของเนื้อหาก่อนหน้าก็ว่าได้ จึงคัดมานำเสนอให้ท่านทั้งหลายได้ใคร่ครวญพิจารณาดูดังต่อไปนี้ครับ

... จงเริ่มด้วยการเงี่ยฟังเสียงจากหัวใจของเธอ จากความรู้สึก จากบทสนทนาภายในของเธอ ให้ความสนใจใกล้ชิดจากทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเธอ ตอนแรกเธออาจปฏิเสธประสบการณ์แห่งปัจจุบัน เพราะความไม่พอใจในตัวเองหรือผู้อื่นอยู่ลึก ๆ หรือบางทีเธออาจมืดมนหรือเฉื่อยชา หัวใจของเธออาจจะอึดอัด อาจรู้สึกว่าอะไรยุ่งยากไปหมด แต่จงฟังเสียงจากความรู้สึก อย่างแผ่วเบาและชำนาญ นี่เป็นเรื่องสำคัญ จงฟังเสียงจากหัวใจอย่างแท้จริง ฟังเสียงเต้นของหัวใจ ส่วนมากเรามักจะไม่รู้แม้แต่ว่า หัวใจของเราเต้นเร็วช้าขนาดไหน จงฟังเสียงเพรียกจากภายในแทนที่จะปล่อยให้ตัวเองไหลไปกับความคิดและมโนภาพ เธอจะพบว่าตัวเองได้พักผ่อนและมีสุขมากขึ้น...

  • อ่านครั้งแรก ผมไปสะดุดตรงประโยคที่ว่า ฟังเสียงเต้นของหัวใจ เพราะว่า เมื่อเดือนที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ผมสมาธิดีมากจนรับรู้ได้ถึงจังหวะการเต้นของหัวใจหลายต่อหลายครั้ง  เป็นติดต่อกันอยู่หลายวัน จนคิดไปเองว่า เอ! หรือว่าเราจะเป็นโรคหัวใจ
  • พอกลับไปอ่านอีกรอบ ทำให้นึกถึงคำว่า ผู้ดู  ซึ่งแต่ก่อนซึ่งแต่ก่อนผมดูอาการของกายและจิตแบบหยาบให้เห็นเพียงว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร แต่เมื่ออ่านเนื้อหาตรงนี้แล้วทำให้เข้าใจ ผู้ดู ที่ละเอียดขึ้นมากกล่าวคือ การเงี่ยฟังเสียงจากหัวใจของเธอ จากความรู้สึก จากบทสนทนาภายในของเธอ ให้ความสนใจใกล้ชิดจากทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเธอ  หรือนั่นก็คือ การเปิดใจฟัง "เสียงเงียบ" จากหัวใจของเราด้วยความซื่อสัตย์นั่นเอง   
  • ผมจึงตัดสินใจกลับมาเริ่มอ่านตั้งแต่หน้าแรกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถึงได้เข้าใจว่า งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นบนฐานของอริยสัจ 4 คือ ผู้เขียนจะพยายามชี้ให้เห็นความจริงแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ จนอ่านคร่าว ๆ ประหนึ่งเป็นหนังสือจิตวิทยาที่มองโลกในแง่ร้ายเกินไปในทำนองนั้น แต่จะขมวดเข้าสู่หนทางและความดับแห่งทุกข์ทุกครั้งไป ดั่งที่คัดบางส่วนมาแสดงไว้ในบันทึกนี้ครับ 
  • หวนให้นึกถึงตอนที่อ่านโกอานใหม่ ๆ มีเณรน้อยบวชใหม่เข้าไปเรียนธรรมกับฌานาจารย์ ท่านจึงสอนว่า ให้ไปฝึกฟังเสียงการปรบมือข้างเดียวก่อน ถ้าได้ยินแล้วเมื่อไหร่ค่อยกลับมาใหม่ เณรน้อยไปฝึกฟังเสียงของการปรบมือข้างเดียวอยู่หลายปีจึงกลับมา ...  

 

หมายเลขบันทึก: 229636เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2008 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านอาจารย์สุรเชษฐ์ ฟังเสียงเต้นของหัวใจนี่ สำคัญนะครับ เพราะหากได้ยินเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละชีวิต ย่อมเห็นหนทางแล้วหละ

เรียน ท่านอาจารย์

P

1. JJ
  • กราบขอบพระคุณครับท่านอาจารย์
  • ตอนที่ได้ยินใหม่ ๆ นึกว่าตัวเองเป็นโรควู๊บ! ครับอาจารย์ ก็พยายามสูดลมหายใจลึก ๆ ช่วยครับ พอทราบความจริงว่า ที่สามารถได้ยินนั้น เพราะสติและสมาธิของเราพัฒนาขึ้นนั่นเอง ก็ดีใจมากเลยครับ
  • ถึงจะพัฒนาขึ้นบ้าง แต่ก็ขึ้น ๆ ลง ๆ ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เหมือนเดิมครับ ยังไปไม่ถึงไหนเลยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท