แนะนำวิดีโอแมมโมแกรม(เอกซเรย์เต้านม)


...

เป็นที่ทราบกันดีว่า แนวโน้มมะเร็งผู้หญิงในประเทศไทยนั้น... มะเร็งปากมดลูกกำลังอยู่ในขาลง ส่วนมะเร็งเต้านมกำลังอยู่ในขาขึ้น การตรวจเอกซเรย์เต้านม (mammogram / แมมโมแกรม) มีส่วนช่วยในการหามะเร็งเต้านมระยะแรกๆ ได้

เว็บไซต์สถาบันเมโย คลินิก สหรัฐฯ จัดทำคำอธิบายและวิดีโอเรื่องการตรวจเอกซเรย์เต้านม ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

ภาพการตรวจเอกซเรย์เต้านมจากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

ภาพการตรวจเอกซเรย์เต้านม (ภาพจากฟีล์ม) จากวิกิพีเดีย > [ Wikipedia ]

...

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเมโย คลินิก สหรัฐฯ แนะนำการเตรียมตัวก่อนไปตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือแมมโมแกรม (mammogram / mammography) ดังต่อไปนี้

(1). เลือกวัน

  • ถ้าเป็นไปได้... ควรเลือกตรวจหลังวันแรกของประจำเดือน 7-10 วัน เนื่องจากเต้านมคนเราจะค่อนข้างแน่นจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนและหลังประจำเดือนมา

...

  • ถ้าตรวจช่วงนั้นอาจทำให้เจ็บเพิ่มขึ้น ถ้ารอ 7-10 วันหลังประจำเดือนมาวันแรก เต้านมจะแน่นน้อยลง เวลาบีบจะเจ็บน้อยลงไปมาก
  • ถ้าหมดประจำเดือนแล้ว จะตรวจวันไหนก็ได้

...

(2). ไม่ต้องงด

  • ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำก่อนตรวจ ยกเว้นจะไปเจาะเลือดตรวจอะไรอย่างอื่น

...

(3). อย่าลืมของเก่า

  • ก่อนไปตรวจ... ควรเตรียมฟีล์มเก่าหรือผลการตรวจครั้งก่อนๆ ไปด้วย เพื่อให้รังสีแพทย์เปรียบเทียบของเก่ากับของใหม่
  • การเปรียบเทียบผลการตรวจสุขภาพครั้งก่อนกับครั้งใหม่จะทำให้ผลการตรวจมีความแม่นยำสูงขึ้น ผิดพลาดน้อยลง เพราะฉะนั้นเวลาจะไปหาหมอทุกครั้ง (ไม่ว่าจะครั้งใด)... ควรเตรียมประวัติ ยาเก่า ฟีล์ม ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (lab.) ครั้งก่อนๆ ไปด้วย

...

(4). อย่าทา

  • กล่าวกันว่า "เวลาไปหาหมอ ขออย่าทา" เช่น ถ้าเป็นโรคหัวใจ... ไม่จำเป็นอย่าทาเล็บ หมอจะได้ดูได้ว่า เล็บเขียวหรือไม่ (อาการของการขาดออกซิเจน) ฯลฯ

...

  • เวลาไปตรวจเอกซเรย์เต้านม "ขออย่าทา" เช่นกัน และควรงดทาล่วงหน้า 2 วันจึงจะดี ยาทารักแร้ (ยาดับกลิ่นหรือ deodorant รวมทั้งสารส้ม) มีเกลืออลูมิเนียม ถ้าไม่เช็ดออกให้หมดจะหล่นออกมาเป็นฝุ่นเม็ดเล็กๆ
  • ฝุ่นเหล่านี้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทว่า... เอกซเรย์เห็น และจะเห็นเป็นจุดคล้ายๆ จุดที่พบบ่อยในมะเร็งเต้านม

...

  • มะเร็งเต้านมส่วนหนึ่งจะตาย หลังจากนั้นมีหินปูนไปจับ หรือทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน ทำให้น้ำนมในท่อตกตะกอน เห็นเป็นจุดเช่นกัน
  • ถ้าพบจุดหินปูนเล็กๆ (microcalcification) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อ เข็มดูดชิ้นเนื้อ หรือตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ทีนี้ถ้ามีเงาผงยาททารักแร้หรือสารส้มปรากฏบนฟีล์มละก็... ยุ่งเลย เพราะการแยกหินปูนจากมะเร็งกับผงยาทารักแร้ในฟีล์มบางครั้งทำได้ยาก

...

  • ควรงดทาแป้ง โลชั่น ยากันแดดก่อนตรวจสัก 2 วันเช่นกัน แป้งที่ใช้ทาตัวส่วนใหญ่เป็นผงเกลือแมกนีเซียม ส่วนโลชั่นและยากันแดดหลายชนิดมีส่วนผสมของเกลือไททาเนียม เกลือของโลหะจะรบกวนการตรวจได้คล้ายยาทารักแร้เช่นกัน

...

(5). นอนให้พอ

  • การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า คนที่นอนไม่พอมักจะเครียดหรือหงุดหงิดได้ง่าย การตรวจเอกซเรย์เต้านมเป็นการตรวจสุขภาพ หรือตรวจคัดกรองโรคก็จริง ทว่า... บางครั้งผลการตรวจอาจจะมีอะไรทำให้ "ตื่นเต้น" หรือ "ตกอกตกใจ" ได้เหมือนกัน
  • คนที่นอนพักผ่อนมากพอเป็นประจำมักจะ "พร้อม" ที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่า ตรงกันข้ามถ้านอนไม่พออาจจะหงุดหงิด งุ่นง่าน ดีไม่ดีพาลชวนทะเลาะไปทั่ว ซึ่งจะไม่ทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้เลย

...

(6). กินยา

  • ถ้ามียาแก้ปวดประเภทยาสามัญประจำบ้าน... เรียนเสนอให้กินยาไปก่อนเลย เพื่อลดอาการแน่นหรือเจ็บปวดเต้านมที่อาจเกิดจากการกดตรวจ

...

(7). กลั้นใจ

  • เวลาตรวจ... นักรังสีเทคนิคจะแนะนำให้ท่านอยู่นิ่งๆ หยุดหายใจ ฟังเสียง "บี๊บ (beep)" ซึ่งจะยาวกว่าเอกซเรย์ทั่วไปหน่อย (ส่วนใหญ่ไม่กี่สิบวินาที) 
  • ช่วงนี้ขอให้อยู่นิ่งๆ กลั้นหายใจ เพื่อให้ภาพที่ได้ชัดเจนที่สุด ถ้าอยู่ไม่นิ่ง... ภาพที่ได้จะไหวไปมา ทำให้ผลการตรวจขาดความแม่นยำ บางครั้งอาจต้องถ่ายภาพใหม่

...

เรียนเสนอให้พวกเราเข้าไปชมกันที่นี่ ด้านขวามี transcript (ทรานสคริพท์ = บทพากษ์ภาษาอังกฤษ) ซึ่งจะใช้ฝึกการฟังภาษาอังกฤษได้ โดยฟังไปด้วย อ่านตามไปด้วย แบบนี้ไม่นานภาษาอังกฤษจะเก่งขึ้นมากเลย

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

Hiker

ขอแนะนำ                                                

  • 'เอกซเรย์เต้านม(แมมโมแกรม)แม่นยำมากน้อยเท่าไร'

...

  • '2 ท่า 3 ที 2 วิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง'
  • [ Click ]

...

ภาษาอังกฤษสบายๆ สไตล์เรา                     

...

ศัพท์ที่น่าสนใจตอนนี้มาจากหัวข้อเรื่องในเว็บไซต์สถาบันเมโย คลินิก สหรัฐฯ คือ 'Mammogram > How you prepare' = "แมมโมแกรม (เอกซเรย์เต้านม) > คุณ (ควร) เตรียมตัวอย่างไร"

  • 'prepare' ออกเสียง [ พรี - แพ่' - เอ่อ ] > ย้ำเสียง (accent) ที่พยางค์ "แพ่" เสียงที่เหลือให้พูดเบาลง
  • 'prepare' (verb / กริยา) = เตรียม เตรียมตัว เตรียมพร้อม
  • ฟังเสียงเจ้าของภาษา > คลิกเครื่องหมาย "ธงชาติ" หรือ "ลำโพง" > [ Click ]

...

ที่มา                                                     

  • Thank www.mayoclinic.com > Mammogram > How you prepare > [ Click ] > August 24, 2007.
  • ข้อมูลในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค  ท่านผู้อ่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก > ยินดีให้นำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 14 ธันวาคม 2551.
หมายเลขบันทึก: 229342เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2008 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท