เรื่องราวของมนุษย์ผู้สร้างวงกลม...วงแล้ววงเล่า..วงแล้ววงเล่า


ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ

เดือนพฤศจิกายนปีนี้เป็นเดือนที่ข้าพเจ้าได้ทำอะไรหลายอย่างดังที่ตั้งใจไว้  หนึ่งในนั้นก็คือการกลับเข้าไปฝึกเข้มปฎิบัติธรรมตามแนวทางของพุทธสายเถรวาทที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่       นี่เป็นโครงการที่ข้าพเจ้าตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นปี  แต่ต้องเลื่อนมาเป็นช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาแทน   ตอนต้นเดือนข้าพเจ้าก็ไป Trekking ที่สิกขิม  พอปลายเดือนก็เข้าปฎิบัติธรรม  เรียกว่าเดินขึ้นเขาไปเจ็ดวันเจ็ดคืนจากนั้นก็มาเข้าอบรมวิปัสสนากรรมฐานอีกเจ็ดคืนแปดวัน    ให้บรรยากาศที่แตกต่างกันไป  บางท่านอาจสงสัยว่าสิ่งที่ทำทั้งสองอย่างนี้มันไปด้วยกันได้หรือ ??  การท่องเที่ยวกับการปฎิบัติธรรมอย่างนี้

ตอนที่อยู่บนเขาสูง และต้องผจญกับความยากลำบากนั้น  ข้าพเจ้าได้ถามกัลยาณมิตรร่วมทางว่า  การเดินขึ้นที่สูงและเหนื่อยอย่างสาหัสแบบนี้ กับการเดินกลับไปกลับมาในห้องวิปัสสนากรรมฐานนั้น  อย่างไหนจะเหนื่อยกว่ากัน ??  กัลยาณมิตรท่านหนึ่งตอบว่า เหนื่อยกันคนละแบบ  ในห้องกรรมฐานอาจจะเหนื่อยใจมากกว่า ทว่าไม่เหนื่อยกายสักเท่าไหร่  ข้าพเจ้าเห็นจริงตามนั้นว่า  การเดินกลับไปกลับมาอย่างช้าๆ ในห้องวิปัสสนากรรมฐาน อาการเหนื่อยใจจะมากกว่า เพราะจิตที่ชอบฟุ้งคิด  และมักจะคอยวิ่งไปมาในทางโลกต้องมาถูกฝึกให้กลับมาสนใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันขณะ   มันจึงดิ้นรนต่อสู้ขัดขืน  บางคนเกิดความเบื่อหน่าย  กลายเป็นความทุกข์ทางกายตามมา  เมื่อจิตก็ไม่สบายกายก็เป็นทุกข์ตาม  การเดินกลับไปกลับมาในห้องกรรมฐานอย่างช้าๆ  กลายเป็นเรื่องหนื่อยยากยิ่งกว่าเดินขึ้นเขาสูงๆ ไปในทันที

การฝึกร่างกายให้แข็งแรงเพื่อการเดินขึ้นเขาสูง  เช่น พิชิตยอดเขา everest  ย่อมทำได้ไม่ยากนัก    แต่การฝึกจิตฝึกใจให้อยู่กับเนื้อกับตัว ( ในภาษาแบบวัชรยานของครูตั้ม) หรือให้จิตอยู่ในปัจจุบันขณะ Here and Now ( ตามภาษาของเซนมหายานของหลวงปู่ติช )  หรือการฝึกจิตให้มีสติรับรู้ทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา รู้ในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในกายและใจเราอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจุบัน ในภาษาแบบเถรวาทนั้น  มันยากลำบากกว่าเดินขึ้นเขาเยอะ 

ท่านอาจารย์ที่ศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่บอกเล่าว่า   พระพุทธองค์ทรงสอนไว้  ใจนั้นเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ  ดังนั้นในความคิดเห็นของข้าพเจ้า การเดินขึ้นเขาไปพิชิตความสูงที่เท่าไหร่ ก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าการพิชิตใจเราเองได้เพียงสักหนึ่งครั้ง  ชนะใดไม่เท่าชนะใจตัวเอง  ช่วงหลังๆ ข้าพเจ้าจึงไม่ได้สนใจจะเดินขึ้นไปพิชิตเขาลูกไหน ที่ความสูงเท่าไหร่ แต่สนใจจริงจังในด้านการฝึกจิตฝึกใจของตัวเองมากกว่า   นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าคงไม่คิดจะไปเดิน trekking ที่ไหนอีก แน่นอนข้าพเจ้ายังสนใจที่จะเดินทางแบบนั้นอยู่ แต่สิ่งที่ได้จากการเที่ยวแบบนี้ จะเป็นเรื่องประสบการณ์ที่ได้พานพบระหว่างเส้นทางที่เดินไปมากกว่า  การได้พบผู้คน  ได้รู้จักเพื่อนร่วมทาง  ได้มองเห็นธรรมชาติที่งดงามตลอดเส้นทางที่เดินผ่านนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย   อาจจะมีความหมายมากกว่าการเดินไปถึงจุดหมาย  ที่ระดับความสูงใดๆเสียอีก  หลายท่านอาจจะมีความคิดเห็นที่ต่างออกไป  บางท่านภูมิใจที่เดินขึ้นไปยังที่สูงๆได้   แต่เพื่ออะไรล่ะ  การเดินขึ้นที่สูงๆ  พิชิตยอดเขานั่นยอดเขานี่ได้  ก็แค่เพียงพิสูจน์ว่า  กายสังขารของเรายังไม่เสื่อมมาก  ยังมีกำลังวังชาอยู่  ยังแข็งแรงพอที่จะเดินไปมาได้  แต่อีกสิบปีข้างหน้ามันคงไม่เป็นดังนั้นแล้ว   ข้าพเจ้ามองในมุมกลับว่า  ถ้าเราสามารถเดินขึ้นเขากันเป็นลูกๆได้   ก็แสดงว่ากายสังขารเราน่าจะมีแรงพอที่จะมาปฎิบัติธรรมแบบเข้มๆ ได้ไม่ยาก และสามารถเอาจริงเอาจังกับการฝึกได้    บางทีเราอาจจะถึงกับบรรลุธรรมหรือเข้าใจในความจริงของชีวิตบางอย่างได้   หลังจากนั้นเราจะได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นไปมาเพื่อพิสูจน์อะไรสักอย่างในชีวิต   ไม่ต้องวิ่งหาความร่ำรวย หาเงินหาทอง หาเกียรติยศชื่อเสียง ไม่ต้องวิ่งหาความสุขในชีวิตด้วยการตั้งความหวังว่าถ้าเป็นแบบนั้นจะมีความสุข  ถ้าได้แบบนี้จะมีความสุข  เมื่อเราเข้าใจความจริงอะไรบางอย่าง  เราก็อาจจะหยุดวิ่งวุ่นเสียที  และรู้จักจะมีความสุขแบบแท้จริงที่ไม่ใช่ความสุขแบบโลกๆ  อีกต่อไป 

แต่ทุกวันนี้เราต่างวิ่งหาหลักประกันอะไรสักอย่างในชีวิต  หาความแน่นอนมั่นคงอะไรสักอย่าง  จนลืมนึกไปว่า  ทุกอย่างในชีวิตเรา ไม่เคยมีคำว่า ความแน่นอน อยู่จริง 

ท่านอาจารย์ที่ศูนย์วิปัสสนากล่าวว่า  เราทั้งหลายมักอยู่ในอาการของความวิปลาสหลายอย่าง  และมักเห็นในสิ่งที่ผิดจากความเป็นจริงไปเยอะ เช่นเห็นสิ่งไม่สวยงามก็ว่าสวย   เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ก็ว่าสุข   เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงก็หาว่าเที่ยงแท้แน่นอน    หลังการฟังธรรมบรรยายนี้ ข้าพเจ้าเห็นจริงตามที่ท่านว่าทุกประการ   แถมรู้สึกว่า ตัวเองบางครั้งมีความวิปลาสอยู่ไม่น้อย และเห็นอะไรไม่เป็นไปตามความเป็นจริงอยู่หลายเรื่อง   เอาไปเอามาข้าพเจ้ายังอ่อนด้อยในการฝึกหัดทางสมาธิภาวนา และยังไม่ได้ไปถึงไหนสักเท่าไหร่  แต่ก็ยังรู้สึกดีใจที่ได้เริ่มต้นเดินทางบนเส้นทางนี้  และยังมีกำลังวังชาพอที่จะฝึกฝนตนเองต่อไปเรื่อยๆ  ได้

ในการไปปฎิบัติธรรมครั้งนี้  นอกจากการฝึกเข้ม  งดพูด และเดินจงกรม นั่งสมาธิกันทั้งวันทั้งคืนแล้ว  ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมบรรยายหลายเรื่อง  วันหนึ่งท่านอาจารย์พิชัย เล่าเรื่องของ วงกลมและเส้นตรง  ท่านเล่าว่า  เราทั้งหลายนั้นเป็นมนุษย์ผู้สร้างวงกลม..วงแล้ววงเล่า... วงแล้ววงเล่า  และสร้างทับซ้อนกันไปเรื่อยๆ   หนึ่งวงกลมก็คือหนึ่งวงจรชีวิตของเรา  เริ่มต้นก็จาก การกำเนิดเกิดมาของเราบนโลกใบนี้  และเราก็ต่างมีวงจรชีวิตดังนี้คือ.... เกิดเป็นเด็ก -  เติบโตเรียนรู้ที่จะเดิน - จะพูด - จะกิน - เรียนหนังสือ - จบออกมาทำงาน - แต่งงานมีครอบครัว - มีลูก ( จากนั้นก็จะมีวงกลมชีวิตของลูกที่จะทำแบบเราอีกหนึ่งวงกลม) - รอลูกเรียนจบ-  รอลูกได้ทำงานดีๆ - รอเลี้ยงหลานๆ - จากนั้นเราก็แก่  -พอแก่เราก็จะเจ็บป่วย  - จากนั้นก็ตายไป   เหลือไว้ซึ่งลูกและหลานที่จะสร้างวงจรชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ  และสร้างวงกลมวงต่อๆไป

แต่ทางพุทธศาสนา...การตายไม่ใช่การจบสิ้น  เรามักจะมีการเวียนว่าย ตายแล้วก็เกิด  พอเราเกิดใหม่เราก็จะสร้างวงกลมแบบนี้ใหม่ ทำซ้ำแบบเดิมเรื่อยๆ  เป็นแบบนี้เรื่อยๆไป  ไม่มีที่สิ้นสุด และไม่เคยนึกสงสัยด้วยซ้ำว่า  ทำไปทำไม  เพื่ออะไร??

ในขณะที่หลายๆคนไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  แต่ก็ยังประสงค์ที่จะเกิดต่อ  แถมยังไม่รู้ตัวอีกว่า ชาติต่อไปอาจจะไม่ได้เกิดเป็นคนอีกแล้วก็ได้  และไม่เคยมีใครตั้งคำถามเลยว่า เรามาจากไหน  เกิดมาเพื่ออะไร  พอข้าพเจ้านึกภาพของการเกิดมาและวิ่งวุ่นกับการสร้างวงกลม ไปตามวงจรชีวิต  ก็ออกจะเกิดอาการเบื่อหน่ายตามที่ท่านอาจารย์ว่าแล้วตอนนี้  ...   ช่างเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายโดยแท้

ทั้งหมดนี้เราทำไปเพื่ออะไรกัน ???

ท่านอาจารย์ถามเล่นๆว่า ถ้าเราทั้งหลายไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด แต่ถ้าให้ย้อนอายุไปเป็นเด็กใหม่ในชาตินี้  แล้วเริ่มต้นเรียนใหม่ ทำแบบเดิมใหม่จะเอาไหม?  หลายคนต่างส่ายหน้า  การย้อนเป็นเด็กใหม่  เรียนใหม่ สอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่  หางานทำใหม่  เริ่มสร้างครอบครัวใหม่  ไม่มีใครอยากทำเรื่องแบบนี้ซ้ำเดิมแน่  ข้าพเจ้าก็เช่นกัน  แม้การคิดว่า ถ้าย้อนกลับไปสู่จุดเดิมแบบนั้นได้  เราจะไปแก้ไขสิ่งใดๆ  ที่ผิดพลาดในอดีต  ข้าพเจ้าว่า  เราคงจะคิดผิดและทำผิดอีก  เพราะในเวลานั้น ด้วยปัญญาเพียงแค่นั้น เราก็จะทำผิดแบบเดิมๆ อีกครั้ง

การกำเนิดเกิดมาเป็นเรา  ที่ได้เดินทางมาจนถึงจุดที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ เราต้องเรียนรู้ และต้องเจ็บปวดมาแล้วหลายๆเรื่อง  ต้องเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นหลายๆครั้ง   เมื่อเรายังเด็กเราจึงยังไม่เติบโตพอที่จะเรียนรู้อะไรมากมาย  เราจึงยังมีความผิดพลาดอยู่นั่นเอง  วงกลมของเราจึงยังเป็นวงกลมเก่า แนวเดิมๆ    แต่ข้าพเจ้าคิดเห็นไปว่า  วงจรชีวิตเรา วงกลมของเราอาจจะเปลี่ยนได้ ถ้าเริ่มรู้จักคิด และมีสติ พร้อมกับรู้จักตั้งคำถามอย่างจริงๆจังๆกับตัวเองว่า  ทั้งหมดที่เราทำทุกวันนี้เพื่ออะไร  ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นมนุษย์ผู้สร้างวงกลม วงแล้ววงเล่า  อยู่ในวัฎฎะสงสารนี้  โดยไม่รู้จุดหมายปลายทาง   ท่านอาจารย์ว่าชีวิตเรานั้นแสนสั้น  แต่ก็ยังมัวแต่สร้างวงกลมอยู่นั่นแหละ ( ฟังดูแล้วช่างหาจุดจบไม่ได้ และไม่มีจุดหมายปลายทางใดๆเอาเสียเลย  )

ข้าพเจ้านึกถึงมดและปลวกทั้งหลาย  ที่วิ่งวุ่นขนอะไรต่อมิอะไรไว้บนหัว ทั้งๆที่อายุพวกมันก็สั้นนัก  มันก็ยังวิ่งวุ่นอยู่    ว่ากันว่าในภพภูมิเทวดา เวลาในภพภูมิท่านยาวนานมาก   หนึ่งชั่วโมงของภพภูมิเทวดา เกือบจะเท่าหนึ่งร้อยปีของมนุษย์  พอเทวดาทั้งหลายมองลงมาเห็นมนุษย์อย่างเราๆวิ่งวุ่นทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ มัวแต่แก่งแย่งแข่งขันและฆ่าฟันกัน  เทวดาทั้งหลายคงจะคิดในใจว่า อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะตายกันอยู่แล้ว  มนุษย์พวกนี้ยังไม่รู้ตัวรู้ตนอีก .... คงประมาณที่เรามองดูมดดูปลวกนั่นแหละ

เราจะสร้างวงกลมกันไปเท่าไหร่ ไม่มีใครรู้ได้  แต่เราอาจจะหยุดสร้างได้  อาจารย์ว่าเราต้องตัดวัฎฎะของเราก่อน  การปฎิบัติธรรมศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ จะช่วยให้เราตัดวัฎฎะนี้ได้  เมื่อถึงจุดหนึ่งวงกลมนั้นก็จะขาดออก คลี่ออกมาเป็นเส้นตรง  และเมื่อเราเดินจากจุดนี้ไปเรื่อยๆ   เส้นทางเดินของเราจึงจะมีทางสิ้นสุด  นั่นก็คือถึงซึ่งพระนิพพาน  ไม่มีการเกิดอีก  (เพราะท่านว่าการเกิดเป็นทุกข์ )   แต่เส้นทางเดินกว่าจะไปถึงจุดนั้นคงยาวนานอยู่   แล้วแต่ว่าใครจะสามารถเดินไปถึงจุดนั้นก่อน   แต่อย่างไรเสียก็มีหนทางที่สิ้นสุด    เราจะได้ไม่ต้องเป็นมนุษย์ผู้สร้างวงกลมวงแล้ววงเล่าอีกต่อไป  และในระหว่างเส้นทางเดินนี้ ข้าพเจ้าว่ามันเหมือนการเดินขึ้นเขาสูง จุดหมายปลายทางมี  แต่สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้คือประสบการณ์ที่แท้จริงและมีคุณค่าตลอดเส้นทางที่เราเดินผ่านไป    นิพพานอาจจะอยู่ไกลมากในสายตาคนธรรมดาเช่นเราๆ  แต่เราก็มีจุดหมาย  ดีกว่าเป็นมนุษย์ผู้สร้างวงกลมไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง เช่นทุกวันนี้

 

หมายเหตุ

ขอบคุณภาพถ่ายจากทีมวิทยากรของมูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่  มาในโอกาสนี้ด้วยค่ะ  ขออนุญาตนำมาแบ่งปันบรรยากาศการอบรมใน Blog.นี้

คำสำคัญ (Tags): #เถรวาท
หมายเลขบันทึก: 229112เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สำหรับพี่แล้ว เรื่องนี้นับว่าเขียนได้เยี่ยมมากเลยล่ะ สุดยอด(ขออนุญาตใช้ภาษาวัยรุ่นหน่อยนะ)ขออนุโมทนาด้วย ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปและขอบคุณมากๆที่แบ่งปัน

สวัสดีค่ะพี่เตือน

ต้องขอบคุณ ท่านอาจารย์ที่มูลนิธิศูนย์วิปัสสนาเชียงใหม่ค่ะ ที่มีเรื่องเล่าดีๆ แบบนี้ มาให้เรารับรู้เป็นข้อคิดเตือนใจ ที่แน่ๆ ก็คือ การตัดวัฎฎะ เพื่อให้วงกลมขาดออกจากกันจนกลายเป็นเส้นตรงนั้น ก็นับว่ายากอยู่ ตัวเองก็ยังเป็นมนุษย์ผู้สร้างวงกลมอยู่เช่นกันค่ะ แต่ก็จะพากเพียรต่อไปในการปฎิบัติ เผื่อจะตัดวัฎฎะได้ในอนาคต...ในสักวันหนึ่ง ....

มาติดตามอ่าน ตามประสาแฟนพันธ์แท้

เราก็พยายามๆตัดวงกลมของเรากันต่อไปเนอะ try again...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท