การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมีชีวิตชีวา


เรียนรู้ร่วมกันผ่านการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา

วันที่ 11 ธันวาคม 2551   โครงการ child watch ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสถาบันรามจิตติและคณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม   จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นยุววิจัยกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีโรงเรียนในเครือข่ายวิจัยในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ มหาสารคาม กาฬสินธุ์  อุดรธานี หนองคาย  ชัยภูมิ  เข้าร่วมกิจกรรม และนับว่าเป็นโอกาสดีที่เราได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ใจดี 3 ท่าน มาเป็นผู้ให้ความรู้ แนวคิด แนวดำเนินการ 

 

ดร.ทองม้วน  นาเสงี่ยม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นท่านแรกที่ให้แนวคิดกับเครือข่ายวิจัย ซึ่งท่านกล่าวว่า ในยุคแห่งเทคโนโลยี ทุกอย่างดี ทุกอย่างสะดวก แต่การพัฒนาทุกด้านสังคมกลับมีปัญหามากมาย ดังนั้นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์จะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิถีการดำรงอยู่ที่ร่มเย็นในห้วงเวลาที่ผ่านมาของสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตามการผสมผสานสิ่งใหม่กับสิ่งเก่าในจุดที่พอดี น่าจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจในโครงการนี้

 

 รศ.ธีรชัย  บุญมาธรรม  ท่านให้แนวดำเนินการว่า เด็ก เยาวชน กับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องเรียนรู้ร่วมกันอย่างร่วมสมัย การเข้าใจจุดเริ่มต้นแล้วหาความเชื่อมโยงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ  ท่านเน้นว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต้องเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันได้ ประเด็นง่ายๆจะทำให้เด็กๆสนใจ เช่น เมื่อมีไฟฟ้าเข้าถึงหมู่บ้านครั้งแรก ได้เกิดปรากฏการณ์ใดบ้างขึ้นในชุมชน  ฯลฯ

 

 ดร.อมรวิชช์  นาครทรรพ  แห่งสถาบันรามจิตติ  ได้ให้แนวทางที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดำเนินงานโครงการนี้ โดยท่านเสนอแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งทุกอย่างจะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันให้เห็นความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดผลกระทบในทุกด้านของวิถีชีวิตผู้คน พร้อมนี้ท่านคาดหวังว่าโครงการนี้จะนำพาให้ครู นักเรียน ชุมชนและทุกคนได้มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันอย่างมีชีวิตชีวา

 

และสุดท้ายของวงเสวนาครั้งนี้  ดร.สมบัติ ฤทธิเดช  รองคณบดี คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม กล่าวว่า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับกระบวนการทางครุศาสตร์มีความเชื่อมโยงกันได้ด้วยการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นมิติหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

 

ในมุมมองของผมเห็นว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกผู้คนส่วนใหญ่มองเห็นเป็นเหรียญด้านเดียว กระบวนการเรียนรู้จึงไม่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ได้สนใจเรื่องนี้ ซึ่งทิศทางของโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เราต้องเรียนรู้ร่วมกันในท้องถิ่นด้วยสำนึกที่ดีต่อท้องถิ่น และจะต้องร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ให้มีชีวิตชีวาอย่างท้าทายกับยุคสมัยเช่นปัจจุบัน  

หมายเลขบันทึก: 228941เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2008 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นโครงการที่น่าสนใจมากค่ะ

โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ถ้ามีโครงการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องจะดีมากเลยค่ะ

จะคอยติดตามค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท