ผู้ป่วยเบาหวานชาวกรุงกับการออกกำลังกาย


ต้องออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะพอเพียง

เมื่อวันศุกร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๙ และวันจันทร์ที่ ๓ เมษยน ๒๕๔๙ ดิฉันได้เข้าร่วมกลุ่มสนทนากับผู้ป่วยเบาหวานแถวชุมชนบางคอแหลม ๔ กลุ่ม เราคุยกันเรื่องการออกกำลังกายว่าเขาคิดอย่างไร ออกกำลังกายแบบไหนอยู่บ้าง เขาคิดว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์หรือโทษอย่างไร เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาร่วมกิจกรรมเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงเป็นเบาหวานมากกว่าผู้ชายนะคะ ชาวบ้านบอกว่าผู้ชายก็เป็นเยอะ แต่ไม่ค่อยอยากออกมา ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก การควบคุมน้ำตาลในเลือดมีทั้งที่คุมได้ดีและคุมไม่ได้ หลายคนทำหน้าที่เป็น อสส. อยู่ด้วย


ทุกคนรู้ว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน ยกตัวอย่างเช่น ช่วยเผาผลาญน้ำตาล ทำให้ไม่ปวดเมื่อย ร่างกายแข็งแรง คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้วก็บอกว่าถ้าไม่ได้ออกกำลังกายจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจ เป็นต้น

สำหรับคำถามที่ว่าจะออกกำลังกายแบบไหนดีนั้น มีความเห็นที่ให้ข้อคิดกับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วยดังนี้ 

   “ออกกำลังกายคนเดียว มันเบื่อ ไม่สนุก” 
   “เวลาไปออกกำลังกายเป็นกลุ่ม ได้เพื่อน ได้คุย ได้เห็นคนอื่นทำ ทำให้มีกำลังใจ”
   “การเข้ากลุ่มใหม่ๆ จะรู้สึกว่ายาก เพราะเราไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย”
   “คนกรุงเทพรวมกลุ่มยาก ทำที่บ้านก็อายลูกหลาน”


บางคนก็ชอบออกกำลังคนเดียว โดยเฉพาะคนที่ชอบเดิน คุณลุงท่านหนึ่งบอกว่า "ผมเดินแบบไล่ควาย คนอื่นไม่ทันหรอก" บางคนมีประสบการณ์ว่าการเต้นแอโรบิกทำให้เข่าเสีย หลายคนชอบไทเก็ก หลายสไตล์ หลายความชอบ

คำถามที่ทุกคนอยากรู้คำตอบเหมือนๆ กัน คือ ต้องออกกำลังกายแค่ไหนจึงจะพอเพียง คำถามนี้สำคัญมากนะคะ มีความหมายว่าออกกำลังกายเท่าใดจึงจะเห็นผลต่อเบาหวาน คงไม่ใช่เพียงแค่ออกกำลังนานกี่นาทีแค่นั้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙

คำสำคัญ (Tags): #ออกกำลังกาย
หมายเลขบันทึก: 22879เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2006 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท