ดวงจันทร์ การแข่งขันและอนาคต


บทความนี้เน้นมุมมองของเศรษฐกิจ/ธุรกิจสากลที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันภารกิจดวงจันทร์ ซึ่งจะนำไปสู่เวทีที่จะต้องหาข้อยุติในอนาคต (มีผู้ประมาณการไว้ว่าสัก 20-40 ปีข้างหน้า)  ในบทความนี้จะกล่าวถึงความคืบหน้าของประเทศต่างๆรวมทั้งวัตถุประสงค์ที่ถูกเปิดเผยในการทำภารกิจดวงจันทร์ ซึ่งในตอนท้าย (ภาคผนวก) จะรวมข้อมูลทบทวนความรู้บางอย่างเกี่ยวกับดวงจันทร์ด้วย   

สนธิสัญญาฉบับแรกว่าด้วยห้วงอวกาศชั้นนอก (outer space treaty) กำหนดให้การใช้ดวงจันทร์เพื่อประโยชน์ทางสันติสุขเท่านั้น ฉบับที่สองเกี่ยวกับดวงจันทร์ (Moon treaty) เสนอให้ กีดกัน/ห้าม (restriction) มิให้ชาติหนึ่งชาติใดใช้ทรัพยากรของดวงจันทร์เพียงชาติเดียว แต่สนธิสัญญาฉบับที่สองนี้ยังไม่มีชาติใดลงนาม

แต่จะมีกี่ประเทศที่จะมีความสามารถในการสำรวจและเก็บเกี่ยวทรัพยากรได้? อย่างที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าประสบการณ์ความสำเร็จขั้นหนึ่งจะเป็นฐานสำหรับการดำเนินการขั้นต่อไป

การสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกเริ่มในปี พ.ศ. 2502 ต่อมาปี พ.ศ. 2509ยาน Luna9 ลงจอด หลังจากนั้นตั้งแต่ 2512-2515 ยานอวกาศในโครงการอะพอลโลของสหรัฐฯพร้อมมนุษย์อวกาศลงสำรวจรวม 6 ครั้ง แล้วโครงการก็หยุด

 

ประเทศในแถบเอเชีย การสำรวจเริ่มจาก ญี่ปุ่น จีน อินเดีย

ญี่ปุ่น

  • ส่งยานชื่อ SELENE เมื่อ 14 กันยายน 2550 ที่เกาะ Tanegashima island ตอนใต้ ยานจะโคจรรอบโลก 2 รอบก่อนเดินทางสู่ดวงจันทร์ แม้ว่าตอนแรกจะมีปัญหาหลายครั้งแต่ในที่สุดก็ไปสู่ดวงจันทร์สำเร็จ แล้วปล่อยดาวเทียมสองดวง และโพรบชื่อเล่นว่า Kaguya ซึ่งมีเครื่องมือต่างๆ 14 ชนิดสำหรับทำแผนที่และวิเคราะห์ผิวดวงจันทร์ องค์ประกอบภายใน และสนามแรงโน้มถ่วง ยานจะจับทั้งภาพนิ่งและวิดิโอด้วยกล้องคุณภาพสูง (hi-definition) ส่งกลับมาสู่โลก [13]
  • ชมภาพวิดิโอที่ได้ บันทึกภาพ เมื่อ 31 ต.ค.2550 ภาพถูกเร่งให้เร็วขึ้นแปดเท่า มีสองส่วน ส่วนแรกเป็นบริเวณตอนเหนือของ ส่วนที่ราบที่มืดที่เรียกว่า "Oceanus Procellarum" (ดูแผนที่ดวงจันทร์ข้างบน อยู่ทางซ้ายมือ)ไปสู่ตรงกลางของขั้วเหนือของดวงจันทร์ ส่วนที่สองถ่ายจากทางทิศใต้สู่ทิศเหนือของทางตะวันตกของ Oceanus Procellarum

จีน

  • ส่งยานชื่อ Chang'e 1 ไม่มีมนุษย์อวกาศขึ้นไป เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 และอยู่ในวงโคจรของพระจันทร์เมื่อ 7 พ.ย. 2550
  • เพื่อศึกษาความหนาของชั้นเปลือก และหาองค์ประกอบภายใน
  • ความสามารถของยานคล้ายกับยานอื่นๆ คือมี เครื่องสเปคโตรมีเตอร์ (spectrometers) เพื่อสร้างแผนที่องค์ประกอบเคมี เครื่องบอกความสูงของพื้นผิว (laser altimeter) เพื่อทำแผนที่ความสูงต่ำของพื้นผิวดวงจันทร์ (Moon's topography) และกล้องถ่ายรูป
  • เครื่องมือที่พิเศษ คือ เครื่องวัดการแผ่ความร้อน (radiometer) ซึ่งใช้คลื่นความถี่ไมโครเวฟ ในการใช้วัดการแผ่ความร้อนของดวงจันทร์ ทำให้สามารถหาความลึกของผิวดวงจันทร์โดยอาศัยหลักว่าความหนามีผลต่อการไหลของความร้อน ซึ่งจะทราบสัดส่วนของธาตุกัมมันตรภาพรังสีเช่น ยูเรเนียมและธอเรียมด้วยเพราะธาตุเหล่านี้สลายและปล่อยความร้อน
  • ภาพที่ถ่ายได้ (Image Source: http://www.chinadaily.com.cn)


อินเดีย

  • ยานชื่อ จันทรายาน-1 (Chandrayaan-1)
  • สร้างโดย ISRO (Indian Space Research Organization) ซึ่งมีความร่วมมือกับ หลายประเทศ รวมทั้งอิสราเอลในโครงการที่จะนำ กล้องเทโลสโคปแสงยูวีในดาวเทียมของอินเดียภายใน 1 ปี สร้างดาวเทียมสำหรับอากาศทางเขตร้อนร่วมกับฝรั่งเศส ร่วมกับญีปุ่นในการปรับปรุงการจัดการหายนะจากอวกาศและพัฒนาที่ยิงดาวเทียม (heavy lift satellite launcher) ซึ่งคิดว่าจะใช้สำหรับยิงดาวเทียมที่มีน้ำหนักมาก ก่อนปี ค.ศ.2010
  • อินเดียได้ยิง ดาวเทียมรับสัญญาณไกล (remote sensing satellites) จำนวน 10 ดาว ตั้งแต่ปี 1998 และมีดาวเทียมสำหรับกระจายข่าวที่ควบคุมเครื่องรับส่งสัญญาณ (transponders) 170 เครื่อง และยังยิง ดาวเทียมน้ำหนักเบาให้กับ เบลเยี่ยม เยอรมันนี เกาหลี ญี่ปุ่นและฝรั่งเศส
  • มูลค่าเป็นเงิน 79 ล้านดอลลาร์
  • ปล่อยยานที่ศูนย์อวกาศทางตอนใต้ (Sriharikota) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2551 และเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ในวันที่ 8 พ.ย. 2551
  • อินเดียปรารถนาที่จะมีส่วนในธุรกิจอวกาศระดับโลกมากขึ้น (การทำภารกิจนี้จะได้เป็นทางสู่การอ้างส่วนของธุรกิจอวกาศฯ)
  • ยานลักษณะสี่เหลี่ยมจะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์และจะตรวจหาแหล่งน้ำและโลหะที่มีค่าโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Moon Impactor Probe (MIP) ซึ่งจะแยกตัวออก (14 พ.ย. 2551) และร่อนลงจอด เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์องค์ประกอบ วัตถุประสงค์หลักคือการค้นหาฮีเลี่ยม-3 ซึ่งหายากบนโลกแต่จะมีประโยชน์ใน นิวเคลียร์ฟิชชันซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีค่าในอนาคต (แม้ว่าจะมีมากกว่า แต่ยังหายากและยากที่จะสกัด) การหาแผนที่ดวงจันทร์ อาจมีประโยชน์ทางเทคโนโลยีและการทหาร ซึ่งประเทศตะวันตกกำลังกังวลเรื่องจีนมีความปรารถนาทางทหารในอวกาศ [4]
  • วัตถุประสงค์อื่นๆอื่นคือ (1.) เพื่อออกแบบ พัฒนา ยิง และโคจร ยานอวกาศรอบดวงจันทร์ โดยใช้ ยานสำหรับยิงส่งที่สร้างโดยอินเดีย (2.) ทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อ 2.1 เก็บข้อมูลสร้างแผนที่สามมิติ ทั้งสองด้านของดวงจันทร์ 2.2 ทำแผนที่สารเคมีแร่ธาตุด้วยความละเอียดสูง โดยเน้นธาตุบางชนิด 2.3 ศีกษาผลของ MIP ต่อผิวดวงจันทร์ สำหรับการจอดของยานในอนาคต
  • ระยะเวลาปฏิบัติงาน 2 ปี
  • เครื่องมือมีที่เป็นฝีมือของอินเดียเอง 5 ชิ้น และที่เป็นของต่างชาติอีก 6 ชิ้น


ภารกิจดวงจันทร์ของ อังกฤษ นาซา และรัสเซีย ในอนาคต

อังกฤษ

  • กำลังเสนอแผน
  • ภารกิจที่ดวงจันทร์ครั้งแรกนี้จะเป็นการศึกษา แผ่นดินไหว (moonquakes) เพื่อช่วยให้วิศวกรก่อสร้างฐาน(ปฏิบัติการ) บนดวงจันทร์ที่สามารถทนแรงจากแผ่นดินไหวได้
  • แผ่นดินไหวดวงจันทร์เป็นเรื่องที่น่าฉงนเนื่องจากดวงจันทร์ไม่มีแผ่นเปลือกโลก (tectonic plate) ที่การเคลื่อนตัวเป็นสาเหตุแผ่นดินไหวบนโลก นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้มากมาย และข้อมูลและตัวอย่างมาจากด้านของพระจันทร์ที่หันหาโลก ยังไม่มีข้อมูลจากอีกด้านหนึ่ง
  • เรียกโครงการ Moonlite (ย่อจาก Moon Lightweight Interior and Telecommunications Experiment or MoonLITE) รูปภาพ 
  • ค่าใช้จ่ายประมาณ 100 ล้านปอนด์ (£)
  • ยาน Moonlite ยาว 3 ฟุต หนัก 1,900 ปอนด์ โคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับ 62 ไมล์
  • ส่งยานขึ้นไปเพื่อยิงโพรบไปที่ผิวดวงจันทร์ (จำนวน 4 โพรบ ด้วยความเร็ว 620 ไมล์ต่อชั่วโมง) โพรบในรูปเป็นหมุดสีขาวหนัก 30 ปอนด์ จะเข้าไปลึก 6 ฟุตจากผิวดวงจันทร์ ซึ่งจะส่งข้อมูลแผ่นดินไหว (seismic data) และอุณหภูมิกลับมาที่ยาน MoonLITE orbiter แล้วส่งต่อมายังโลก เป็นเวลา 1 ปี การส่งข้อมูลยังพื้นฐานการทดสอบเครือข่ายการสื่อสารที่นักอวกาศจะติดต่อกับโลกในยานที่มีมนุษย์อวกาศ และติดต่อจากฐานบนดวงจันทร์
  • ข้อมูลว่าแผ่นดินไหวของดวงจันทร์เกิดได้หลายแบบ (ข้อมูลจากภารกิจโครงการอะพอลโลของนาซา) เช่น จากแรงโน้มถ่วงของโลกดึง หรือจากการขยายตัวของหินเมื่อถูกแสงอาทิตย์) การที่บางครั้งแรงถึง 5 ริคเตอร์บอกว่าแผ่นดินใต้เปลือกอาจยังไม่อยู่ตัว
  • โพรบจะหาองค์ประกอบทางเคมีของหิน ถ้ายิงที่ขั้วของดวงจันทร์อาจจะหาแหล่งน้ำ 
  • คาดว่าจะยิงส่งยานในระหว่าง พ.ศ.2555-2556 (4-5 ปีข้างหน้า)

นาซา (NASA)

  • ยานอวกาศสำหรับโคจร LRO (Lunar Reconnaissance Orbiter)
  • จะส่งยาน ในฤดูใบไม้ผลิ 2552 โดยใช้จรวด Atlas V401
  • จะใช้เวลา 4 วันถึงดวงจันทร์ แล้วจึงเข้าวงโคจร elliptical orbit และเข้าวงโคจรสุดท้าย แล้วจะโคจรเป็นวงกลมที่ขั้วดวงจันทร์ ในระดับสูงกว่าพื้นผิวประมาณ 50 ก.ม.
  • วัตถุประสงค์
    • เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับ ประวัติของโลก ระบบสุริยะ และจักรวาล ฯลฯ 
    • ทดสอบเทคโนโลยี ระบบ การบิน เทคนิคการสำรวจ เพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มความสำเร็จในภารกิจสู่ดาวอังคารและดาวอื่นๆ
    • ดูทรัยากรของดวงจันทร์ที่จะนำมาใช้บนโลก (expand Earth's economic sphere to conduct lunar activities with benefits to life on the home planet ตรงๆเลยก็เท่ากับ เก็บเกี่ยวทรัพยากร)
  • ผลที่ได้จาก LRO คือ แผนที่สมบูรณ์เกี่ยวกับลักษณะและแหล่งทรัพยากรของดวงจันทร์ ที่สำคัญสำหรับการออกแบบและสร้างฐานบนดวงจันทร์ มุ่งหาบริเวณที่จะใช้ในการร่อนลงจอดอย่างปลอดภัย หาแหล่งทรัพยากร และศึกษาสภาพของรังสีทีจะมีผลต่อมนุษย์
  • ภารกิจ 1 ปี
  • เครื่องมือ 6 ชนิดที่จะใช้
    • กล้องเทโลสโคปรังสีคอสมิค (CRaTER ชื่อเต็ม คือ Cosmic Ray Telescope for the Effects of Radiation) จะตรวจสภาพการแผ่รังสี หาผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการปกป้องคุ้มกัน
    • เครื่องวัดความร้อน (Radiometer)
    • การหาแผนที่ของการกระจายไฮโดรเจน ด้วยเครื่องตรวจนิวตรอน (Neutron Detector) จะบอกปริมาณรังสีในสภาพแวดล้อม
    • การหาแผนที่พื้นผิวทั้งดวงจันทร์ด้วย Lyman Alpha Mapping Project (LAMP)
    • การวัดความสูงต่ำของผิวด้วย Laser Altimeter
    • กล้องถ่ายภาพขาว-ดำ ความละเอียดสูง
  • ข้อมูลจะใช้ในอนาคต เพื่อส่งนักอวกาศและหุ่นยนต์และสร้างฐานบนดวงจันทร์
  • ชุดข้อมูลที่ได้ครั้งแรกทั้งหมดจะเก็บใน the Planetary Data System (PDS) ที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ ภายใน 6 เดือนหลังเสร็จสิ้นภารกิจ หลังจากนั้นข้อมูลจะนำไปเก็บทุกๆ 3 เดือน ข้อมูลที่ประมวลผลแล้วจะทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์มากยิ่งขึ้น และจะเป็นพื้นฐานสำหรับการส่งมนุษย์สู่ดวงจันทร์อย่างปลอดภัย รวมทั้งต่อการสำรวจระบบสุริยะในอนาคต

รัสเซีย

  • กำลังวางแผน
  • มีแผนสร้างฐานถาวรบนดวงจันทร์ก่อน พ.ศ. 2558
  • การไปขุดหา ฮีเลี่ยม-3  และนำกลับมายังโลก จะเป็นอันดับความสำคัญแรกของการสำรวจดวงจันทร์ (เปิดเผยตรงไปตรงมา)
    • ฮีเลี่ยม 3 เป็นแหล่งพลังงานที่ดีเยี่ยมในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีกากกัมมันตภาพรังสี และจะใช้เทคโนโลยีฟิวชันที่อาจใช้เป็นพลังงานของจรวดเพื่อท่องสู่ห้วงอวกาศที่ลึกในอนาคต บนโลกมีน้อยแต่บนดวงจันทร์น่าจะมีมากมายเนื่องจากไม่มีชั้นบรรยากาศและสนามแม่เหล็กที่จะทำให้ฮีเลี่ยม3จากอวกาศชั้นนอกสลายหมดไปอย่างรวดเร็ว

ในวิดีทัศน์ต่อไปนี้ คุณ Christopher Barnatt อธิบายนิวเคลียร์ฟิสิกส์และการนำฮีเลี่ยม-3มาใช้ ปัจจุบันพลังงานนิวเคลียร์ได้จากปฏิกริยาฟิชชันของยูเรเนียม ได้พลังงานแต่เกิดกัมมันตภาพรังสีและกากกัมมันตภาพรังสี การใช้ ก็าซฮีเลี่ยม-3 ในปฏิกริยาฟิชชัน (ได้ฮีเลี่ยมและโปรตอน)จะได้พลังงานสะอาดกว่าปฏิกริยาฟิวชันระหว่างทริเที่ยมและดิวทริเลี่ยมจะเกิดฮีเลี่ยมและนิวตรอน(เกิดการสูญเสียพลังงานและมีปัญหาการควบคุมนิวตรอน) จึงเป็นวิธีที่ไม่นิยม 
ยานอวกาศบรรทุกก็าซฮีเลี่ยม-3 จำนวน 25 ตันจะให้พลังงานสหรัฐฯได้เป็นปีๆ ก็าซฮีเลี่ยมมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ต่อตัน ดวงอาทิตย์ปล่อยฮีเลี่ยม-3และสะสมมากมายบนดวงจันทร์ (1 ล้านตันบนผิวดวงจันทร์) หลายประเทศกำลังมีโครงการที่จะนำก็าซนี้มาใช้บนโลก (Mining Helium-3 On the Moon from YouTube by ExplainingTheFuture, posted July 12, 2008)

 


ปิดท้ายด้วยคำถาม ซึ่งผมเพิ่งเริ่มคิด หลังจากอ่านข้อมูลต่างๆและนำมาสู่การเขียนบทความนี้ แต่หลายคนคงคิดเรื่องนี้ไปหลายรอบ อย่างน้อยก็ คุณ Paul Spudis จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ ได้พูดตอนหนึ่งในบทความผ่านเว็บวารสาร NewScientist ว่า "He says the settlement of the Moon and the development of its resources will raise issues that will need to be confronted. "There is a question of what kind of politico-economic paradigm you will do that under," he says, adding that he thinks these issues are still 20 to 40 years away from coming to a head. [15]

*************************************************************************************************

ภาคผนวก

หลุมเครเตอร์บนดวงจันทร์
หลุมที่เกิดจากการชนดวงจันทร์ของ แอสเทอรอยด์ โคเม็ท หรือเมทีโอไรท์ เฉลี่ยด้วยความเร็ว 20 ก.ม.ต่อวินาที ที่ผิวมีหลุมเป็นล้านๆหลุม (เนื่องจากไม่มชั้นบรรยากาศ ดวงจันทร์จึงไม่ถูกป้องกันเหมือนกับโลก เพราะวัตถุอะไรก็ตามจากอวกาศจะถูกเผาไหม้จนสิ้นเมื่อเช้าชั้นบรรยากาศของโลก) นอกจากนี้ลักษณะของหลุมจะไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากไม่มีลมที่จะพัดหรือแรงน้ำที่จะชะ และไม่มีแรงทางธรณีที่จะทำให้หลุมกร่อนไป
มีแนวผาจำนวนมาก เรียกว่า rupes เกิดจากขอบของหลุม เช่น rupes Altai ยาวประมาณ 50 ก.ม. ขนาดของหลุมส่วนมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 15 ก.ม.และส่วนมากเป็นวงกลม ลักษณะหลุมอาจเป็นแบบธรรมดา (simple) ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 ก.ม. หรืออาจเป็นแบบซับซ้อน (complex) ซึ่งมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 20-175 ก.ม. และมีเนินสูงตรงกลาง หลุมที่ขอบกว้างเรียกว่า impact basin มีประมาณ 40 ที่


ข้อมูลเพิ่มเติม

ดวงจันทร์

  1. เป็นบริวาร (satellite) ของโลกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
  2. เกิดหลังจากโลกประมาณ 60 ล้านปี (หรือประมาณ 4.3 พันล้านปีมาแล้ว)
  3. ระยะห่างจากโลก 3.84 แสนกิโลเมตร
  4. ขนาด 3474 km
  5. มวล 7.347 x 1022 kg
  6. องค์ประกอบ แบ่งเป็นชั้นๆ 4 ชั้น
    • ชั้นนอกสุดเป็นเปลือก (crust) เป็นพื้นผิวแห้ง เต็มไปด้วยฝุ่นและหิน เปลือกหินด้านที่หันหน้าหาโลกหนาประมาณ 100 ก.ม. ส่วนด้านตรงข้ามหนาเพียง 60 ก.ม. ส่วนประกอบของหินคล้ายกับของโลกแต่มีธาตุอะลูมิเนียมและไททาเนียมมากกว่า แร่ที่พบบนดวงจันทร์และไม่รู้จักมาก่อน บางอย่างต่อมาก็พบบนโลก คือ Armalcolite, Transquillityite, และ Pyroxferroite
    • ชั้นถัดไปเรียกว่า rigid lithospheric mantle หนาประมาณ 1000 ก.ม.
    • ชั้นที่สามเป็นชั้นหินร้อนกึ่งแข็ง (non-rigid asthenospheric mantle)
    • ชั้นในสุดเป็นแกนดวงจันทร์น่าจะเป็นพวกเหล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 360 ก.ม.คิดเป็นมวลประมาณ 2-4 %
  7. ไม่มีชั้นบรรยากาศ ทำให้ท้องฟ้ามืดตลอด
  8. สนามแม่เหล็กน้อยมาก (10 ส่วนล้านของโลก) ไม่สามารถใช้เข็มทิศได้
  9. แรงโน้มถ่วง 17 %
  10. หมุนรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 27.3 วัน
  11. หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วคงที่ คนบนโลกจะเห็นพระจ้นทร์ด้านเดียวตลอดเวลา (ภาพด้านหน้า และด้านหลัง) เนื่องจากหมุนรอบตัวเองประมาณเดือนละ 1 รอบเท่ากับระยะเวลาที่ใช้โคจรรอบโลก 
  12. ตำแหน่ง (geometry) ระหว่าง โลก-ดวงจันทร์-ดวงอาทิตย์ กำหนดรูปของพระจันทร์ (เฟส, phase) ซึ่งจะซ้ำทุก 29.5 วัน   
  13. พระจันทร์ปรากฏให้เห็นเป็น 4 แบบ ขึ้นกับระยะ (phase) ต่างๆของการโคจร
    1. พระจันทร์ควอเตอร์แรก (First Quarter Moon ,F)¹ ครึ่งหนึ่งจะถูกแสงจากพระอาทิตย์ส่อง
      • สังเกตที่ ครึ่งบนของโลก (northern hemisphere) ในท้องฟ้าทางใต้เวลาตะวันตกดิน จะเห็นอยู่ต่ำ ด้านขวามือจะสว่าง
      • สังเกตจาก ครึ่งล่างของโลก (southern hemisphere ทางใต้ของ Tropic of Capricorn) พระจันทร์จะอยู่สูงในทางตอนเหนือ ด้านซ้ายมือสว่าง
    2. พระจันทร์เต็มดวง (Full Moon , Full) โลกอยู่ระหว่างพระอาทิตย์และพระจันทร์
    3. พระจันทร์ควอเตอร์สุดท้าย (Last Quater, L)
    4. พระจันทร์เต็มดวงข้างแรม (New Moon) พระจันทร์อยู่ระหว่างพระอาทิตย์และโลก
  14. (ในภาพนี้ มีระยะระหว่างระยะทั้งสี่ด้วย Image Source: http://www.enchantedlearning.com)

  15. เวลาที่พระจันทร์จะขึ้นหรือตก ขึ้นกับเฟส
    1. จะขึ้นช้ากว่าวันก่อนทุกครั้งประมาณ 30-70 นาที จึงปรากฏในกลางวันพอๆกับเวลากลางคืน
    2. ถ้าเป็น New moon จะขึ้นในเวลาเดียวกับพระอาทิตย์ขึ้นและตกในเวลาใกล้กัน เมื่อวันผ่านไป (waxes to become a crescent moon, a half moon, and a gibbous moon, on the way to a full moon) พระจันทร์จะขึ้นในเวลากลาววันหลังพระอาทิตย์ขึ้น และช้าลงทุกวัน ไปตกในเวลากลางคืน และตกช้ากว่า ในคืนก่อนเรื่อยๆ
    3. ในช่วงพระจันทร์เต็มดวง เวลาที่พระจันทร์ขึ้นและตกจะนำไปก่อนขั้นหนึ่ง จะขึ้นเมื่อพระอาทิตย์ตกและจะตกเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ขณะที่ wanes (becoming a half moon and a crescent moon, on the way to a new moon) พระจันทร์ขึ้นช่วงกลางคืนหลังจากพระอาทิตย์ตก และขึ้นช้าลงๆ แล้วตกในเวลากลางวันหลังจากพระอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว แล้วพระจันทร์จะขึ้นดึกๆซึ่งขึ้นช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้น และตกแถวๆเวลาพระอาทิตย์ตก ตรงกับเวลาที่เป็น new moon อีกครั้ง
  16. น้ำขึ้นน้ำลงบนโลกเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงดึงดูดจากดวงจันทร์
    • น้ำจะโป่งในแนวแรง (ตัวของโลกเองถูกแรงดึงหนีจากน้ำในฝั่งตรงข้ามด้วย)  จะเกิดวันละสองครั้งเนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเอง อธิบายครั้งแรกโดย เซอร์ ไอแซค นิวตัน ปี 1686
    • ขณะที่พระจันทร์ พระอาทิตย์และโลก อยู่ในแนวเดียวดัน คือในช่วงข้างขึ้นพระจันทร์เต็มดวง (full moon) หรือข้างแรมพระจันทร์เต็มดวง  (new Moon) จะเกิดน้ำขึ้นน้ำลงที่แรง เรียก สปริงค์ไทด์ (ไม่เกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลิ--spring) เนื่องจากแรงโน้มถ่วง
    • กรณีที่ดวงจันทร์ช่วง new Moon อยู่ใกล้โลกมากผิดปกติ (นานเกิดครั้งไม่เกินปีครึ่งต่อครั้ง) เรียก Proxigean Spring Tide เป็นน้ำขึ้นน้ำลงที่สูง
    • น้ำขึ้นน้ำลงน้อยๆที่เรียก Neap tide เกิดเมื่อพระอาทิตย์และพระจันทร์อยู่แนวตั้งฉากกับโลก

อ่านถึงนี่แล้วหรือครับ กำลังจะบอกว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ครับ คงต้องกลับมาดูและปรับแก้ครับ ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 227550เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2008 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่าน เรียนรู้ เรื่องดวงจันทร์ค่ะ

สุขภาพแข็งแรงนะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท