เทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนา:การจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น


การจัดการพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น

 

บาว นาคร*

คำว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชน (Community Museum) สายันต์  ไพรชาญจิตร์ (2548 น.28)ได้กล่าวไว้ว่า หมายถึง แหล่งหรือสถานที่รวบรวมและจัดแสดงหลักฐานทางโบราณคดี วัตถุโบราณ สิ่งของเครื่องใช้ วัตถุทางวัฒนธรรมรวมทั้งความรู้ภูมิปัญญาที่มีอยู่หรือเคยมีอยู่ในชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างสมัยโบราณที่โดยอายุ รูปแบบทางศิลปะ สถาปัตยกรรม หรือประวัติความเป็นมาเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวของชุมชนนั้นๆที่รวมเรียกว่า โบราณสถาน แหล่งโบราณคดี หรืออาคารสถานที่ที่ก่อสร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้จัดแสดงข้อมูล หลักฐานทางโบราณคดีและทรัพยากรวัฒนธรรมต่างๆ

แหล่งเตาแหล่งเตาอินทขิลเมืองแกน ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 11 บ้านสันป่าตอง ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเมืองแกนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานหลายร้อยปีเป็นชุมชนโบราณก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาตั้งแต่สมัยพญามังรายครองเมืองเชียงใหม่(พ.ศ.1801พ.ศ.1854) ผู้คนในล้านนาสมัยนั้นสร้างสรรค์วัฒนธรรม อารยธรรม วัดวาอาราม กำแพงเมืองคูโบราณ สิ่งก่อสร้างต่างๆคิดค้นเทคโนโลยี ผลิตศิลปกรรม วรรณกรรม และ หัตกรรมต่างๆ ทิ้งไว้เป็นหลักฐานทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์อันเป็นมรดกของดินนี้มากมาย บริเวณเมืองแกนนี้มีที่ราบที่กว้างขวางซึ่งประชาชนเรียกพื้นที่ราบนี้ว่าทุ่งชิ้นแห้งซึ่งเป็นการเปรียบเปรยให้เห็นภาพกว้างใหญ่ของพื้นที่ราบนี้ว่าขนาดที่หาบเนื้อสดผ่านทุ่งนี้กว่าจะถึงอีกฟากหนึ่งเนื้อสดก็กลายเป็นเนื้อแห้งพอดีและบริบทของชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาและทำไร่เป็นหลัก

และเมื่อปี พ.ศ. 2539 กรมศิลปากร โดยมีนายสายันต์ ไพรชาญจิตร์ นักโบราณคดี 7 ว. ฝ่ายวิชาการ สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 6 เชียงใหม่ ได้เขียนถึงประวัติศาสตร์เตเตาเผาที่สำคัญแห่งนี้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2537 นายภาสกร โทณวนิก อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ และรศ. สรัสวดี อ๋องสกุล อาจารย์ประจำสถาบันราชภัฎเชียงใหม่ ได้สำรวจค้นพบร่องรอยดินเผาไฟรูปทรงกรมในบริเวณนายดวงดี ใจทะนง ราษฎรบ้านสันป่าตอง   หมู่ที่ 11 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่  จากการค้นพบแหล่งเตาเผาโบราณบริเวณพื้นที่ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่พบว่าเป็นแหล่งเตาเผาเครื่องถ้วยชาม (Ceramic kiln sites) ซึ่งเป็นแหล่งใหม่ล่าสุดที่ค้นพบและศึกษาอันเป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์สำคัญของประเทศไทย และยังเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ของ ล้านนามีอายุระหว่าง 500-600 ปี หลักฐานที่พบส่วนใหญ่เป็นเครื่องถ้วยชามที่เป็นถ้วยชามเนื้อแกร่ง เคลือบสีเขียวอ่อน หรือ ศิลาดล (light green glazed stoneware/celadon ware) และชนิดเคลือบสีน้ำตาล (greenish brown glazed stoneware) โดยใช้ดินสีขาวคุณภาพเยี่ยม

แหล่งเตาอินทขิลเป็นแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญอย่างมาก ทั้งทางด้านวิชาการโบราณคดี และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของอาณาจักรล้านนา เพราะเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามในอดีตแหล่งใหม่ที่มีความสมบูรณ์ทั้งเตาเผา และตัวอย่างเศษถ้วยชามที่มีมากถึง 4 แห่ง ซึ่งจากการขุดค้นแหล่งเตาเผาในภาคเหนือตอนบนยังไม่เคยพบแหล่งใด ที่มีความสมบูรณ์สวยงามเช่นนี้มาก่อน ดังนั้นจึงมีการสนับสนุนให้อนุรักษ์และพัฒนาเป็นศูนย์การศึกษาเทคโนโลยี การผลิตเครื่องถ้วยชามโบราณของล้านนา รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดี(Archaeological Site-Museum) (อธิชัย ต้นกันยา,2550 น.34)

            เทศบาลตำบลเมืองแกนพัฒนาถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพิพิธภัณฑ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดี โดยซื้อกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีมีหลักฐานเตาเผาเครื่องถ้วยชามสมัยโบราณจากนายดวงดี ใจทะนง และมีโครงการลงทุนเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาหลุมขุดค้นทางโบราณคดีสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า แหล่งเตาอินทขิลเมืองแกน (สายันต์ ไพรชาญจิตร์, 2549 น.8)

            ในปัจจุบันเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนาถือว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการจัดการอนุรักษ์และพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชน ซึ่งการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นในฐานะที่เป็นเครื่องมือในกระบวนการพัฒนาชุมชนจะช่วยให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และทักษะในการจัดการจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพไปสู่ชาวบ้านและสร้างจิตสำนึกในเรื่องความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนของตนเอง(สายันต์ ไพรชาญจิตร์,2548,น.30) และที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นถือว่าเป็นมิติใหม่หรือเป็นนวัตกรรมใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทางด้านทรัพยากรวัฒนธรรมชุมชน และถือว่าได้ว่าเทศบาลเมืองเมืองแกนพัฒนาได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านการบริหารงานท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นและเป็นต้นแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆในการจัดการทางด้านโบราณคดีชุมชนและทรัพยากรวัฒนธรรมในชุมชนต่อไป

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

สายันต์  ไพรชาญจิตร์.กระบวนการโบราณคดีชุมชน : การวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาแบบมีส่วน

            ร่วมเพื่อเสริมความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมในจังหวัด

            น่าน. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษาและภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคม

            สงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2548.

สายันต์  ไพรชาญจิตร์และคณะ.แหล่งเตาอินทขิลเมืองแกน.เชียงใหม่:เทศบาลตำบลเมือง

            แกนพัฒนา,2549.

อธิชัย ต้นกันยา.แหล่งเตาเผาโบราณ "เมืองแกน" ยืนยันมีอยู่จริงในล้านนา.หนังสือพิมพ์มติชน

            รายวันปีที่ 30 ฉบับที่ 10565 ฉบับวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2550 หน้า34.

 



* บุญยิ่ง ประทุม. [email protected].

หมายเลขบันทึก: 225701เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2008 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท