ชงลดแวตกระตุ้นเศรษฐกิจ


ตลาดหุ้นไทยซบ กบข.แอ่นอกรับขาดทุนรอบ 10 ปี

“ศุภวุฒิ” ชงรัฐหาทางออกรับแรงกระแทกวิกฤตเศรษฐกิจโลก 3 มาตรการ โดยลดแวตจาก 7% เหลือ 4%  ธปท.ลดดอกเบี้ยและปล่อยกู้เอสเอ็มอีก่อนภาวะคนตกงานจะลามกว่านี้  ด้าน กบข.ตกตะลึงขาดทุนกำไรครั้งแรกในรอบ 10 ปี  เหตุตลาดหุ้นไทยตก “วิสิฐ” ปลอบใจข้าราชการ  ย้ำปีหน้าสดใสพร้อมหวนกลับตลาดหุ้นไทยเพราะยังให้อัตราผลตอบแทนสูง

นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ภาวการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นที่ผันผวนส่งผลให้การดำเนินงานของ กบข.ในปีนี้คาดว่าติดลบ 7% นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง กบข. โดยยืนยันว่า ในปีหน้าผลการดำเนินงานจะดีขึ้น กลับมาเป็นบวกอยู่ที่ 5-7% เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะคลี่คลายเนื่องจากการลงทุนในตลาดหุ้นยังให้อัตราผลตอบแทนที่สูงสุดเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการฝากเงินในธบัตรตราสารหนี้และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป้าหมายที่คณะกรรมการ กบข. (บอร์ด) กำหนดให้ฝ่ายบริหารสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 6% บวกขึ้นไปอีก 2.75% หรือเท่ากับ 8.75%ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของ กบข. เนื่องจากปีนี้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไปมากกว่า 50% ขณะที่ตลาดหุ้นต่างประเทศลดลงไปเพียง 30% ทำให้น้ำหนักการลงทุนของ กบข.ที่ผ่านมา ที่เน้นการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือน (ต.ค.50 - ก.ย.51) ติดลบ 4.55%”  ซึ่งปัจจุบัน กบข.ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่ 7% และลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ 7% เท่ากันจากเพดานการลงทุนหุ้นในประเทศที่ 11.5% และในต่างประเทศ 12.5% หรือรวมกันมีเพดานลงทุนหุ้นทั้งหมดประมาณ 25% กบข.ยังมีเพดานที่จะสามารถลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้อีก 3% หรือคิดเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท แต่การลงทุนในอนาคตต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าตลาดหุ้นไทยจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ตลาดหุ้นโลกได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว  โดยในปี 52 กบข.จะพลิกอัตราผลตอบแทนเป็นบวกได้จากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น โดยเชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 52 จะไม่เลวร้ายเหมือนปี 40 เพราะไทยไม่ใช่ต้นตอของวิกฤติเศรษฐกิจ และคาดการณ์ว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโต 3-3.5% ของจีดีพี ประกอบกับการลงทุนของ กบข.ในช่วงที่ผ่านมาได้ทบทวนสัดส่วนการลงทุนเรียบร้อยแล้ว โดยมีสัดส่วนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือ Fixed income 60% ใกล้เคียงกับปีนี้ลงทุนในระดับ 59-60% นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนทางเลือกใหม่ ได้แก่ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คืออาคารสำนักงานให้เช่า อพาร์ตเมนต์ให้เช่า ซึ่งให้ผลตอบแทนปีละ 8-10% โดยปัจจุบันลงทุนไป 4% ของพอร์ตจากเพดาน 6.5-7% รวมทั้งยังมีการลงทุนบริษัทโดยตรงซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งลงทุนไปแล้ว 3-4% จากเพดาน 7% ทั้งนี้ จะทยอยลงทุนเพิ่มตามแผน 3 ปี (51-53)นายวิสิฐกล่าวว่า สมาชิก กบข.ไม่ควรดูผลตอบแทนเป็นรายปี แต่ควรดูย้อนหลังในอดีต 3 ปี 5 ปี เนื่องจากสมาชิก กบข.ได้รับผลตอบแทนสะสมเป็นรายปีทุกปี หากสมาชิก กบข.ที่สมัครเป็นสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนช่วงปี 40-50 อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 8.24%  ผลตอบแทนสุทธิย้อนหลัง 3 ปี (ปี 48-50) อยู่ที่ 6.47%  และย้อนหลัง5 ปี (ปี 46-50) อยู่ที่ 6.61%  แต่หากยอดรวมผลตอบแทนทุกปีที่สะสมตั้งแต่ตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบันมียอดรวมกว่า

134% ดังนั้น สมาชิก กบข.จึงไม่น่าวิตกกังวล เพราะผลตอบแทนในปีนี้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น
ในรอบ
  100  ปี  ซึ่งปัจจุบัน  กบข.มีสินทรัพย์สุทธิทั้งสิ้น 360,000-370,000 ล้านบาท จากช่วง ก.ย.51 ที่มี 390,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการคืนเงินให้สมาชิกที่เกษียณ 20,000 ราย โดยปีนี้มีสมาชิกที่เกษียณก่อนกำหนด 12,000-13,000 รายอยู่ในระดับเดียวกับปี 50 ที่มีสินทรัพย์ 360,000 ล้านบาท 

ด้านนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ได้เสนอ 3 มาตรการในการรับมือกับแรงกระแทกจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือมาตรการหรือทางออกที่สามารถทำแล้วเห็นผลได้ทันทีคือ 1. ลดภาษี มูลค่าเพิ่มจาก 7% ลงเหลือ 4% ระยะสั้น 1 ปี  ซึ่งจะกระทบต่อรายได้รัฐบาล 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการน่าจะได้ผลดีกว่าการลดภาษีนิติบุคคล เพราะหากลดภาษีแล้ว แต่ไม่นำออกมาใช้จ่าย โดยเลือกที่จะออมไว้ในภาวะที่คนยังไม่มั่นใจก็จะได้ผลไม่เต็มที่   2. ให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1-1.5% ทันทีเพื่อย้ำว่ามีความจริงจังในการแก้ปัญหาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และหาก ธปท.ลดดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ 3.75% สมมติเหลือ 1% ก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจมากขึ้น แทนที่จะนำเงินสภาพคล่อง 500,000 ล้านบาท มาปล่อยกู้กินดอกเบี้ยจาก ธปท.  และ 3. ให้ภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ร่วมกันรับประกันความเสียหายจากการปล่อยกู้ให้ธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นสถาบันการผลิตที่ใช้ทุนน้อย มีการจ้างงานสูงเพื่อไม่ให้สินเชื่อของภาคเอสเอ็มอีหายไป และไม่ให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น

ส่วนปัญหาการเมืองมองว่า จะไม่สามารถหาจุดประนีประนอมได้ โดยต้องสู้กันจนกว่าจะมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ และจะยืดเยื้อต่อสู้กันไปอีก 2-3 ปี เป็นเหตุผลที่ภัทรมองเศรษฐกิจปีหน้าจะโตได้แค่ 3-3.3% การเมืองคาดเดายาก เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 50 ปี ที่ความขัดแย้งไม่สามารถหาจุดลงตัวได้

ไทยรัฐ 25 พฤศจิกายน 2551


คำสำคัญ (Tags): #วิกฤตเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 225346เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2008 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท