คั่นเวลา 2


"การเรียนรู้และการปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทย เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยทุกคน"

คั่นเวลา 2

ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Global Imbalance กระแสวิกฤตแห่งศตวรรษ" จัดโดย SasinInstitute for Global Affairs (SIGA) หน่วยงานวิจัยภายใต้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.น.พ.เกษมกล่าวถึงวิกฤตระดับโลกที่ทำให้เกิดความไม่สมดุล โดยมนุษย์เป็นคนทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากที่โลกต้องเผชิญใน 4 เรื่อง ได้แก่

         1. ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันนี้มีประชากรโลก 6,700 ล้านคน มีการคาดการณ์ว่าถ้าต้องการอยู่แบบไม่เดือนร้อนมากนัก โลกควรมีประชากร 4,000 ล้านคน หากต้องการอยู่อย่างสบายเหลือกินเหลือใช้ก็ต้องมีประมาณ 1,000 ล้านคน แต่วันนี้ประชากรโลกมากเกินไปแล้ว และคาดกันว่าอีก 30-40 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ล้านคน อีก 50 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านคน ฉะนั้นความไม่สมดุลตรงนี้ต้องรีบดำเนินการ หลายประเทศที่มีนโยบายสำหรับผู้สูงอายุ เขามีปรัชญาว่า "ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระของสังคม แต่เป็นทุนทางสังคม" จึงขอฝากวิธีคิดว่า "ต้องคิดแบบบวก" เอาผู้สูงอายุมาเป็นปัจจัยบวกในการพัฒนาสังคม

         2. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เป็นเรื่องใหญ่มากที่สหประชาชาติมีองค์กรทำเรื่องนี้ทำรายงานมาหลายฉบับพูดชัดเจนว่า ทั่วโลกเขามีองค์กรระหว่างประเทศที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกด้านต่างๆ รัฐบาลทุกประเทศต้องมีหน่วยงานวิจัยและติดตามที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศของตัวเองด้วย เช่น รัฐบาลจีน ตั้งนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ

จึงอยากเชิญชวนให้รัฐบาลไทยตั้งเป็น "วาระแห่งชาติ" ต้องสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อให้มีองค์ความรู้เหล่านี้ให้มากที่สุด เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกต่อข้าว เป็นต้น

         3. วิกฤตพลังงาน ทุกคนรู้พลังงานจากฟอสซิลจะหมด ถ้าน้ำมันหมดจะทำอย่างไร เป็นคำถามที่ตะวันออกกลางคิด และประเทศไทยก็ต้องคิดด้วย เพราะจะมีผลกระทบมาถึงชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนของไทย เนื่องจากขณะนี้เงินส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางซึ่งเป็นเงินจากการขายน้ำมันมาฝากไว้ที่แบงก์ในกัวลาลัมเปอร์มาตะเวนซื้อที่ดินไร่นาเพื่อที่จะปลูกข้าวเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับคนประเทศเขา โชคดีที่บังเอิญกฎหมายไทยไม่ให้คนต่างชาติถือสิทธิที่ดิน

"ตอนนี้เจอชาวนาจะบอกว่า อย่าขายที่เพราะต่อไปนี้เกษตรจะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตรงนี้เป็นโอกาสของเกษตรกร ขอให้ช่วยกันดูแลเพื่อให้เป็นฐานการผลิตพืชอาหาร"

         4. วิกฤตอาหาร นี่คือ "โอกาสทอง" ของไทยที่หาไม่ได้อีกแล้ว เพราะภาคเกษตรจะเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต ดังนั้นทำอย่างไรถึงจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้านการเกษตร หรือ "บีโอไอ การเกษตร" ที่ให้แรงจูงใจทุกอย่างในเรื่องการเกษตร จึงขอฝากผู้ที่เกี่ยวข้องเอาไว้พิจารณา

        ศ.น.พ.เกษม บอกว่า ตัวเลขส่งออกมีสัดส่วนถึง 63% ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศมีสัดส่วนเพียง 37% สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ถ้าประเทศไทยสามารถกลับหัวกลับหางทำให้การใช้จ่ายในประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 60% และส่งออก 40% คิดว่าประเทศไทยจะมีเสถียรภาพมากกว่านี้ 

         ศ.น.พ.เกษม เสนอว่า ประเทศไทยควรจะมีโปรแกรมวิจัย หรือ "research program" ที่ดูเรื่องใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก และมีผลกระทบต่อไทยแล้วภายใต้ research program ก็ให้มีโครงการวิจัย หรือ "research project" เป็นโครงการเล็กๆ ด้วย

        โดยแนวทางดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานให้ประเทศมากกว่า ใครอยากทำอะไร วิจัยอะไรก็ทำ หรือต่างคนต่างทำ เพราะจะทำให้ประเทศไทยได้องค์ความรู้ที่ขาดหายไปกลับมาครบถ้วน จึงของฝากไว้ มหาวิทยาลัย ภาครัฐหรือเอกชน ควรจัดทำวิจัยเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศสักที และเชื่อว่างานวิจัยเหล่านั้นจะมีประโยชน์

         สุดท้าย ศ.น.พ.เกษมฝากไว้ว่า "การเรียนรู้และการปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมไทย เป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยทุกคน"

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

 

หมายเลขบันทึก: 224885เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2008 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดี คุณ บินหลาดง บ่อไร่ แวะมาอ่านที่เป็นสาระที่ต้องรู้การเปลี่ยนแปลง

สวัสดีค่ะน้องบินหลา

  • แวะเข้ามาเติมเต็มให้กับตนเองเจ๊า.. 
  •  
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท