ภาษาพม่าง่ายๆ สไตล์เรา (ตอน 4 - ที่พม่า...อะไรๆก็มชิบู แปลว่าไม่มี)


...

ภาพลูกสาวไหว้คุณแม่ตอนออกพรรษา

  • ภาพโฆษณากาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อดังในพม่าบริเวณใกล้ตลาดโบจก (มาจากชื่อท่านนายพลโบจก อ่องซาน ผู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักร (หมู่เกาะอังกฤษ) และญี่ปุ่น

...

  • โปรดสังเกตเครื่องเขินสีแดงมีฝารูปกรวยปิดคล้ายๆ กับ "ขันโตก" ของทางเหนือ เรียกว่า "ทมินอ๊ก" ถ้าใช้ถวายพระเจดีย์ หรือถวายพระเรียกว่า "ซั้วะอ๊ก"
  • "ทมินอ๊ก" เป็นชุดของว่างแบบพม่า ด้านในทำเป็นช่องๆ ไว้ใส่เมี่ยงแช่น้ำมันนึ่ง กินกับถั่ว งา กระเทียม รวมเรียกว่า "และ พะ(.)อ๊ก" น้ำตาลโตนด(น้ำตาลลูกตาล)ก้อน เรียกว่า "ทันญัด"

หมายเหตุ

  • และ พะ(.)อ๊ก = เมี่ยงและเครื่องเคียง
  • และ พะ(.)อ๊ก > ออกเสียง "พะ(.)" ให้สั้นมากๆ / ผู้เขียนใช้เครื่องหมาย '(.)' กำกับ

...

  • ทันญัด = น้ำตาลก้อน ทำจากต้นตาล หรือน้ำตาลโตนด ชาวพม่าเชื่อกันว่า ถ้ากินน้ำตาลก้อนหลังอาหารจะทำให้อาหารย่อยดี ท้องไม่อืด (ความเชื่อนี้ยังไม่มีหลักฐานการวิจัยรับรอง)
  • ผู้เขียนใช้เครื่องหมาย 'ญ' แทน 'ย' กำกับเพื่อแสดงการออกเสียงนาสิก หรือเสียงขึ้นจมูกแบบตัว "ญ" บาลี เสียง "ญ" ทางเหนือหรืออีสาน

...

  • พวกเราคงจะจำได้ว่า ชาวพม่าส่วนใหญ่ไม่ได้ไหว้คนทั่วไปทุกคน ทว่า... ไหว้เฉพาะของเคารพ 5 ประเภท หนึ่งในของเคารพคือ "มิบ๊ะ ชิโค (= แม่พ่อ + ไหว้ = ไหว้แม่ไหว้พ่อในภาษาไทย)"
  • ช่วงออกพรรษาเป็นช่วงที่ชาวพม่าสดชื่นออกหน้าออกตามากที่สุดในรอบปี ชาวพม่าเชื่อกันว่า ใครทำบุญภายใน 1 เดือนแรกหลังออกพรรษาจะได้บุญมากที่สุดในรอบปี เพราะฉะนั้นช่วงนี้งานกฐิน หรืองานบุญอื่นๆ จะคึกคักแบบสุดๆ แม้แต่ใครจะแต่งงานก็ต้องรอออกพรรษา จึงจะดี

...

  • บริษัทกาแฟสำเร็จรูปยี่ห้อนี้ฉลาด จึงออกแบบโฆษณาเป็นภาพลูกสาวไหว้แม่ ซึ่งตามธรรมเนียมพม่า... ลูกหลานจะต้องนั่งต่ำกว่า ไหว้ และมีของขวัญหรือของกำนัล (ในภาพคือ กาแฟสำเร็จรูป)
  • โปรดสังเกตว่า ด้านบนมีโคมไฟหรือประทีปแขวนเป็นราวคล้ายๆ กับทางเหนือของไทย ชาวพม่าเชื่อกันว่า เดือนนี้เป็นเดือนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ (หลังทรงแสดงพระธรรมโปรดพระพุทธมารดา) จึงควรต้อนรับด้วยการจุดประทีป โคมไฟ ให้สว่างไสว จึงจะเป็นมงคล (เหตุแห่งความเจริญ)

...

ภาพแม่ชีและอุบาสิกาพนมมือที่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ย่างกุ้ง พม่า (พฤศจิกายน 2551)

  • คณะของเราติดตามท่านพระอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) ชาวพม่าซึ่งเข้ามาสอนบาลีมูลกัจจายน์ (บาลีใหญ่) ในประเทศไทยมานานหลายสิบปีไปกราบพระมหาเจดีย์ชเวดากอง

...

  • ขอกล่าวให้พวกเราภูมิใจกันหน่อยคือ พระภิกษุ-สามเณรลูกศิษย์ของพระอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระเรียนจบประกาศนียบัตรบาลีใหญ่ในไทยแล้ว ไปเรียนต่อพม่ากันหลายรูป แถมยังเรียนเก่งมากด้วย
  • ตัวอย่างเช่น ท่านพระอาจารย์ไพโรจน์ (ชาวระยอง) สอบได้สูงถึงชั้นท่องพระไตรปิฎกได้ 1 ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก ท่านพระอาจารย์คันธสาระสอบได้สูงถึงชั้นอภิวังสะ ซึ่งพระพม่าทั้งประเทศสอบผ่านอย่างมากเพียงปีละ 2-3  รูป ฯลฯ ทำให้พระไทยมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่พระพม่าเป็นอันมาก

...

  • ธรรมเนียมของพม่านั้น... ถ้าท่องพระไตรปิฎก (ไม่ใช่ท่องเฉยๆ ต้องสอบบาลีชั้นสูงมาก่อน และอธิบายได้ด้วย) ได้ 1 ปิฎกจะมีสิทธิ์ขึ้นรถฟรีทั่วประเทศ ถ้า 2 ปิฎกจะมีสิทธิ์ขึ้นรถฟรี-เรือฟรีทั่วประเทศ ถ้า 3 ปิฎกจะมีสิทธิ์ขึ้นรถ-เรือ-เครื่องบินฟรีทั่วประเทศ
  • พวกเราคงจะจำได้ว่า การไหว้พระมีสำนวนว่า "พญา ชิโค (= พระ + ไหว้ = ไหว้พระพุทธเจ้า)" , "ตยา ชิโค (= พระธรรม + ไหว้ = ไหว้พระธรรม) , "ตังคา ชิโค (= พระสงฆ์ + ไหว้ = ไหว้พระสงฆ์)"

...

  • ชาวพม่านั้น... ถ้าไม่ได้กราบพระเจดีย์เช้า-เย็น ใจจะไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว จึงนิยมไปกราบพระเจดีย์ใกล้บ้านหรือกราบพระที่บ้านอย่างน้อย 2 รอบได้แก่ รอบเช้าและรอบค่ำ
  • แม่ชีในภาพไปกราบ ไปสวดมนต์ นับลูกประคำ (ส่วนใหญ่จะสาธยายพระพุทธคุณไป นับลูกประคำไป) หรือทำสมาธิที่พระมหาเจดีย์ชเวดากองแต่เช้า ตรงกับสำนวนว่า "พญา ชิโค (= พระ + ไหว้ = ไหว้พระพุทธเจ้า)

...

  • สำนวนไหว้พระพุทธเจ้า หรือไหว้พระเจดีย์นี้... ชาวพม่ามีศัพท์คำว่า "บูชา" คือ "ปูซอ" ทว่า... คำนี้ไม่นิยมใช้
  • คำว่า "เจดีย์" แบบออกเสียงแบบบาลีพม่า หรือ "เซดีย์" ไม่นิยมใช้ในคนพม่าทั่วไป ถ้าจะใช้ที่วัดก็ใช้ได้ (พระพม่าส่วนหนึ่งพูดได้ 3 ภาษาคือ พม่า บาลี และอังกฤษ)

...

ขอทบทวนศัพท์ตอนที่ 3 > [ Click ] ได้แก่

  • ชิ(sh)โค = ไหว้

...

  • พญา = พระพุทธเจ้า พระเจดีย์
  • ตยา = พระธรรม
  • ตังคา = พระสงฆ์

...

  • มิ = แม่
  • บ๊ะ = พ่อ
  • สหย่า = ครูบาอาจารย์

...

ขอทบทวนสำนวนที่น่ารู้ได้แก่

ภาษาพม่า คำแปล
พญา ชิโค ไหว้พระพุทธ
ตยา ชิโค ไหว้พระธรรม
ตังคา ชิโค ไหว้พระสงฆ์
มิ บ๊ะ ชิโค ไหว้แม่ ไหว้พ่อ
สหย่า ชิโค ไหว้ครู

...

ครั้งก่อนผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า ถ้าคนไทยให้ของอะไรกับชาวพม่าคงจะรู้สึกว่า ชาวพม่านี่... "มือแข็ง" ไม่รู้จักไหว้

ถึงตรงนี้... พวกเราคงจะเข้าใจกันแล้วว่า ชาวพม่าส่วนใหญ่สงวนลิขสิทธิ์มือไว้ไหว้เฉพาะของเคารพ 5 ประเภทเท่านั้น ปกติจะไม่ไหว้คนที่เหลือ

...

ทีนี้ถ้าไม่ไหว้... ชาวพม่าจะทักทาย (ทักทาย = "นกแซด" / วิธีจำง่ายๆ คือ ให้จำว่า ฟังคล้ายกับนกพูดกัน เนื่องจากเสียง "แซด" เป็นเสียงคนคุยกัน)

คำตอบคือ ผู้ชายพม่าจะทักทายกันด้วยสำนวน "เหน่ เกา ลา" หรือ "สบายดีไหม" ถ้าสบายดีตอบ "เหน่ เกา แด (แด = คำบอกปัจจุบัน)" ถ้าไม่สบายจะตอบ "เหน่ มะ เกา บู" นั่นเอง

...

อย่าลืมว่า เวลาทักทายกัน... "เหน่ เกาลา" ให้ทำตาโตๆ และยกเสียงท้ายประโยคคำถามให้สูงขึ้นคล้ายๆ ภาษาอังกฤษ ยกไม้ยกมือหน่อยจึงจะดูดี (ในสายตาชาวพม่า)

การยกไม้ยกมือเวลาทักทายกันของชาวพม่านี้ จะทำท่าอะไรก็ได้ แต่ไม่ควรทำตัวนิ่งๆ เนื่องจากอาจทำให้ชาวพม่าเข้าใจผิด คิดว่า คนไทยไม่อยากรู้จัก ถ้าทำท่าไม่ถูกให้ลองดูหนังแขก หรือลิเกพม่าสักพัก จะพอเดาได้ว่า เวลาชาวพม่าทักกันจะมีภาษาทางกายประกอบนิดหน่อย

...

ชาวพม่าบางท่านก็จับไม้จับมือ เชคแฮนด์ (shake hands) แบบฝรั่ง ซึ่งคงจะได้รับอิทธิพลจากอังกฤษมานานกว่า 100 ปี

การจับมือนั้นภาษาพม่าเรียกว่า "เละ-ซแว (เละ = มือ; ซแว = ดึง / เล็ก-ซแว = ดึงมือ = เช็คแฮนด์ / "ซแว" ควรพูดให้เร็วที่สุด เนื่องจากสระ "อะ" ในภาษาพม่าออกเสียงสั้นกว่าสระ "อะ" ในภาษาไทยมาก)"

...

ผู้หญิงพม่าที่แต่งงานแล้ว ส่วนหนึ่งจะไม่นิยมจับมือ หรือสัมผัสร่างกายกับผู้ชายอื่น เพราะฉะนั้นถ้าชาวพม่าผู้หญิงไม่จับมือด้วยก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะธรรมเนียมพม่าในเรื่อง "ผัวเดียวเมียเดียว" ค่อนข้างเข้มงวด

คำ "ไหว้" นั้น... ภาษาพม่าเรียกว่า "เละ-อ๊กฉี่ (เละ = มือ; อ๊กฉี่ = พนม / เวลาจำให้คิดว่า คำ "อ๊ก" คล้ายๆ กับ "อก" ในภาษาไทย)"

...

ภาษาพม่ามีการนำคำ "ไม่มี (มะ ชิ บู; ชิ = มี; มะ_บู = ไม่)" มาใช้มากกว่าภาษาอื่นๆ ในโลก ตัวอย่างเช่น ถ้าจะถามว่า "หมอ (=สยาหวุ่น) อยู่ไหม" ภาษาพม่าจะถามว่า "หมอมีไหม (สยาหวุ่น + ชิ + ลา / สยาหวุ่น = หมอ; ชิ = มี; ลาหรือตลาเป็นคำต่อท้ายประโยค เพื่อเปลี่ยนให้เป็นคำถามว่า "หรือ")

ถ้าหมออยู่ ให้ตอบว่า "มีหมอ" ภาษาพม่าต้องกลับกันเป็น "หมอมี" หรือ "สยาหวุ่น ชิ แด (สยาหวุ่น = หมอ; ชิ = มี; แด = คำต่อท้ายประโยคบอกความเป็นปัจจุบัน)

...

ภาษาพม่ามีคำบอก "กาล" หรือเวลาที่ใช้ต่อท้ายประโยคบอกเล่าให้สมบูรณ์อยู่ 2 กาลได้แก่ ปัจจุบันกับอนาคต

  • ถ้าประโยคปัจจุบันจะต่อด้วยคำว่า "แด (= ปัจจุบัน)"
  • ถ้าประโยคอนาคตจะต่อด้วยคำว่า "แหม่ (= อนาคต / ความหมายคล้ายๆ กับคำว่า "จะ" ในภาษาไทย

...

คำลงท้ายประโยคบอกเล่า บอกเวลา
แด ปัจจุบัน
แหม่ อนาคต = จะ

...

เพราะฉะนั้นถ้าหมอ (= สยาหวุ่น) อยู่ (ปัจจุบัน) จะพูดว่า  "หมอ (สยาหวุ่น) + มี (ชิ) + ปัจจุบัน (แด) = สยาหวุ่น ชิ แด = หมออยู่)

ถ้าหมอไม่อยู่ (ปัจจุบัน) จะพูดว่า "หมอ (สยาหวุ่น) +ไม่ (มะ_บู) + มี (ชิ)" = สยาหวุ่น มะ ชิ บู (ประโยคปฏิเสธไม่ต้องใส่คำบอกเวลา)

...

คำว่า "ไหว้" ตรงกับคำว่า "เละ อ๊กฉี่" (เละ อ๊กฉี่ = มือ + พนม = ไหว้) ถ้าจะพูดว่า "ไม่ไหว้" ภาษาพม่าซึ่งมากไปด้วยคำว่า "ไม่มี" จะกล่าวว่า "ไหว้ + ไม่มี (เละ อ๊กฉี่ + มะ ชิ บู)" รวมกันเป็น "เละ อ๊กฉี่ มะ ชิ บู"

กล่าวกันว่า มิตรภาพนั้นคือ การยอมรับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยไม่เข้าไปตัดสินหรือพิพากษาว่า อีกฝ่ายหนึ่งถูกหรือผิด... เรื่องความแตกต่างระหว่างชาวพม่าและชาวไทยก็ไม่ใช่เรื่องที่พวกเราจะต้องเข้าไปพิพากษาว่า เขาถูกหรือเราถูก ทว่า... ควร "รู้เขารู้เรา" เพื่อให้ได้เมตตากัน และป้องกันความเข้าใจผิด ซึ่งพบได้บ่อยในปรากฏการณ์ "ข้ามวัฒนธรรม (cross culture)"

... 

เคล็ดไม่ลับ         

  • เวลาเชคแฮนด์หรือจับมือแบบฝรั่ง ควรทำตาโตๆ

...

  • เวลาทักทายกับชาวพม่า ควรลงท้ายประโยคด้วยเสียงสูงๆ ขยับร่างกายไปมานิดหน่อย
  • ผู้ชายพม่าที่สนิทกันหลายๆ คนชอบจับตัวกันที่ไหล่ แล้วเขย่าคล้ายๆ กับท่าเริ่มของมวยปล้ำซูโม่

...

  • ภาษาพม่าเป็นภาษาที่มีคำว่า "ไม่มี" มากกว่าภาษาอื่นๆ ในโลก คนไม่อยู่ก็ว่า "ไม่มี (มะ ชิ บู / มะ_บู = ไม่; ชิ = มี)"
  • คำอื่นๆ จะมีคำ "ไม่มี" แทรกอยู่บ่อย เช่น "ไม่ไหว้" ภาษาพม่าจะพูดว่า "ไหว้ + ไม่มี (เละ อ๊กฉี่ + มะ ชิ บู = เละ อ๊กฉี่ มะ ชิ บู)"

...

  • ถ้านึกคำพม่าขึ้นมาไม่ออก... ให้ลองพูดภาษาอังกฤษไปดื้อๆ อย่าเพิ่งตกใจ เนื่องจากคำในภาษาพม่าหลายๆ คำใช้คำตรงกัน หรือทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษ เช่น โทรศัพท์ (telephone) = "เทลิโฟน" คำนี้ถ้าเรานึกไม่ออก พูดว่า "เทโลโฟน" แบบอังกฤษ คนพม่าก็มักจะเข้าใจ ฯลฯ
  • ถ้าอยู่ในวัดและนึกคำพม่าไม่ออก... ให้ลองพูดคำบาลีแทรกเข้าไปในภาษาพม่า พระพม่ามักจะฟังออก

...

ศัพท์ในตอนนี้     

  • นกแซด = ทักทาย (วิธีจำให้นึกถึง "นก" แล้วนึกถึงเสียงคนคุยกัน "แซด)
  • เละ ซแว = เชคแฮนด์ หรือจับมือแบบฝรั่ง (เละ = มือ; ซแว = ดึง)
  • เละ อ๊กฉี่ = พนมมือ (เละ = มือ; อ๊กฉี่ = พนม / เวลาจำให้นึกว่า "อ๊ก" ของพม่าคล้ายกับ "อก" ของไทย ให้นำมือ (เละ) ไปไว้ที่อก คือ การพนมมือ

...

  • แด = คำต่อท้ายประโยคบอกเล่า ระบุเวลา "ปัจจุบัน"
  • แหม่ = คำต่อท้ายประโยคบอกเล่า ระบุเวลา "อนาคต" คล้ายคำว่า "จะ" ในภาษาไทย

...

  • สยาหวุ่น = หมอ
  • ปูซอ (คำนี้ไม่นิยมใช้ทั่วไป) = บูชา
  • เซดีย์ (คำนี้ไม่นิยมใช้ทั่วไป) = เจดีย์

...

  • ซั้วะอ๊ก = ขันโตกมีฝาปิด (ใช้กับเจดีย์หรือพระ)
  • ทมินอ๊ก = ขันโตกมีฝาปิด
  • และ พ(.)อ๊ก = เมี่ยงแช่น้ำมันนึ่ง กินกับถั่วทอด งา กระเทียม
  • ทันญัด = ก้อนน้ำตาลโตนด

...

เครื่องหมายกำกับเสียง

  • 'ญ' > ออกเสียงนาสิก หรือเสียงขึ้นจมูกแบบตัว "ญ" บาลี เสียง "ญ" ทางเหนือหรืออีสาน
  • '.' > จุดแสดงสระเสียงสั้นมากๆ ประมาณ 1 ใน 3 ของสระอะภาษาไทย

แบบฝึกหัด          

จงแปลภาษาไทยเป็นภาษาพม่า

  • ทักทาย
  • เชคแฮนด์หรือจับมือแบบฝรั่ง
  • พนมมือ
  • ไม่พนมมือ
  • หมออยู่
  • หมอไม่อยู่

เฉลย                 

  • ทักทาย = นกแซด
  • เชคแฮนด์ = เละ ซแว
  • พนมมือ = เละ อ๊กฉี่
  • ไม่พนมมือ = เละ อ๊กฉี่ มะ ชิ บู
  • หมออยู่ = สยาหวุ่น ชิ แด
  • หมอไม่อยู่ = สยาหวุ่น มะ ชิ บู

ขอแนะนำ                                               

  • ขอแนะนำให้อ่านตอนต่อไป (ตอนที่ 5)
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "ศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร"
  • [ Click ]

...

  • ขอแนะนำเว็บไซต์ "มอญศึกษา"
  • [ Click ]

...

  • ถ้าไม่ได้อ่านตอนก่อนหน้านี้ ขอแนะนำให้อ่านตั้งแต่ตอนที่ 1
  • [ Click ]

...

ที่มา                                                                 

  • กราบขอบพระคุณ > ท่านพระอาจารย์ธัมมานันทมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต (สมณศักดิ์พม่า) และท่านพระอาจารย์ชนกะ วัดท่ามะโอ ลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ นักเรียนภาษาพม่า > 22 พฤศจิกายน 2551 > แก้ไข 25,29 พฤศจิกายน 2551.

...

  • สงวนลิขสิทธิ์บทความในบล็อก "บ้านสุขภาพ" และ "บ้านสาระ"
  • ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปใช้ส่งเสริมสุขภาพ หรือเผยแพร่ความรู้ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า

...

คำสำคัญ (Tags): #burmese#myanmar#ภาษาพม่า
หมายเลขบันทึก: 224715เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2008 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีครับดัยรู้ภาษาเยอะๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท