KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 616. แนะนำหนังสือ KM ในภาคการศึกษา (๖.๓)


นานาทัศนะ : การจัดการความรู้เพื่อสร้างสังคมฐานความรู้ในภาคการศึกษา

ตอนที่ ๑ , ตอนที่ ๒ , ตอนที่ ๓ , ตอนที่ ๔, ตอนที่ ๕.๑, ตอนที่ ๕.๒,

 ตอนที่ ๖.๑, ตอนที่ ๖.๒

 

13. ตัวแบบการจัดการความรู้ตามโมเดลปลาทู (TUNA Model) มีองค์ประกอบดังนี้

13.1 ส่วนหัว ส่วนตา หรือ KV (Knowledge Vision) เป็นส่วนที่มองว่ากำลังจะไปทางไหน ซึ่งต้องตอบได้ว่า ทำ KM ไปเพื่ออะไร

13.2 ส่วนกลางลำตัว ส่วนที่เป็น หัวใจหรือ KS (Knowledge Sharing) ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือ แบ่งปัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน (Share and Learn)

13.3 ส่วนหาง หรือ KA (Knowledge Assets) เป็นการสะบัดหาง ให้เกิดการขับเคลื่อนความรู้ เป็นการสร้างคลังความรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย ประยุกต์ใช้ ICT และสร้างพลังจากชุมชนนักปฏิบัติ หรือ CoPs

14. ทฤษฎีกบต้ม เป็นทฤษฎีที่นักวิชาการชาวไอริชได้เสนอแนวคิดทฤษฎีโดยการทดลองนำกบมาต้มในอ่างน้ำ 2 อ่าง เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้น

อ่างน้ำที่ชาวไอริชนำมาใช้ทดลองนั้น ใส่น้ำต่างกัน ใบแรกเป็นอ่างน้ำร้อนจัด ใบที่สองเป็นอ่างน้ำที่อุ่นสบายๆ และทำให้ค่อยๆ อุ่นขึ้นจนเดือด ได้ทดลองนำกบมา 2 ตัว ตัวแรกใส่ในอ่างน้ำที่ร้อนจัด ส่วนตัวที่สองใส่ในอ่างน้ำอุ่น ที่ทำให้อุ่นขึ้นจนเดือด โดยผู้ทดลองต้องการศึกษาว่ากบตัวไหนจะตายก่อน หรือตัวไหนจะรอดชีวิต

ผลการทดลองปรากฏว่า กบที่ใส่ในอ่างแรก คือ อ่างน้ำเดือด ปรากฏว่ากบรอดชีวิต แต่กบที่ใส่ในอ่างน้ำอุ่นที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้นกลับตาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เหตุผลคือ กบในอ่างน้ำเดือดจะรู้ว่าน้ำร้อน จึงรีบกระโดดออกมาหลังสัมผัสน้ำเดือดทันที แต่กบที่อยู่ในน้ำอุ่นจะรู้สึกสบาย แม้ว่าน้ำจะค่อย ๆ อุ่นขึ้นก็ไม่ยอมกระโดดออกมา ยังคงอยู่ในอ่างน้ำจนกระทั่งน้ำเดือดจึงตาย

กรณีของกบทั้ง 2 ตัว ในอ่างน้ำ 2 อ่าง เปรียบเทียบกับเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของ บุคคลในองค์กร ถ้าองค์กรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภายนอก จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ อยู่รอดได้ บุคลากรในองค์กรถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการองค์กรให้สามารถแข่งขันได้ ก็จำเป็นต้องปรับตัว บางครั้งจำเป็นต้องละทิ้งแนวคิดเดิม (paradigm) มาสู่แบบใหม่อย่างสิ้นเชิง ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดในองค์กรก็ต้องกระทำ เหมือนกับในอ่างน้ำเดือด คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กบต้องปรับตัวเร็ว กระโดดออกจากอ่างน้ำเดือด จึงจะมีชีวิตรอด ถ้าทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ผลสุดท้ายก็ตาย เหมือนกบที่อยู่ในน้ำอุ่นจนตายในที่สุด เช่นเดียวกัน ถ้าบุคลากรในองค์กรไม่ปรับตัว ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็อาจถึงตายได้ และองค์กรก็ยากที่จะอยู่รอดเช่นกัน ฉะนั้น บุคลากรในองค์กรจึงต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับแนวคิด มีวิสัยทัศน์ใหม่ ก้าวให้ทันหรือนำหน้าการเปลี่ยนแปลงให้ได้ นั่นคือ ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดในสภาวการณ์แข่งขัน และก้าวขึ้นสู่แนวหน้าและเป็นผู้นำในที่สุดได้อย่างไร ปัจจัยเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่ทุกคนในองค์กรต้องช่วยกัน และพร้อมใจกระโดดออกมาจากสภาวการณ์ที่จะทำให้องค์กรล่มสลาย

15. หลักการนำการจัดการความรู้ลงไปปฏิบัติ (KM Implementation) คือ 1) ทำให้ง่ายที่จะเรียนรู้และปฏิบัติ 2) ทำให้รู้ และ 3) ทำให้รัก รักที่จะทำ เต็มใจทำ

16. สรุปลักษณะสำคัญของการจัดการความรู้ คือ

16.1 การจัดการความรู้ หรือ KM เป็นเหมือนน้ำ ต้องลื่นไหลไปตามภาชนะที่บรรจุ นั่นคือ ปรับตามบริบทของกลุ่มหรือองค์กรที่เราอยู่ ต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบ แต่ถ้าใช้ถูกต้อง จะได้ผลลัพธ์คืองานดีขึ้น คนดีขึ้น และวิธีการทำงานดีขึ้น หรือมีนวัตกรรม (Best Practice) มากขึ้น

16.2 การจัดการความรู้เป็นเรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติ เป็นกิจกรรมกลุ่มที่ทำเพื่อระดมปัญญา (Wisdom storming) ผู้ที่จะมาร่วมกิจกรรมต้องเป็นคนทำจริง ต้องช่วยกันระดมเอาความรู้ภาคปฏิบัติหรือสิ่งที่ตนเองทำแล้วเกิดผลดี ออกมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ซ่อนอยู่ในตัวคน เพื่อให้กลุ่มได้รับทราบและหยิบจับเอากลับไปประยุกต์หรือปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง จัดเป็นเวทีระบายสุข ไม่ใช่ระบายทุกข์ และเน้นลักษณะสำคัญของเวทีระบายสุข 4 ประการ คือ พูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ และจดอย่างเข้าใจใส่ใจ

16.3 การจัดการความรู้เป็นบรรยากาศเชิงบวก เริ่มต้นจากสิ่งดี ๆ หรือความสำเร็จ เล่าถึงความสำเร็จว่าคืออะไร สำเร็จอย่างไร สำเร็จด้วยวิธีใด ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความสุข ความชื่นชม ยอมรับซึ่งกันและกัน 

16.4 การจัดการความรู้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคน ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนดีมากเท่าไร การแลกเปลี่ยน การให้และรับซึ่งกันและกันก็จะดีมาก

16.5 การจัดการความรู้เป็นการพูดคุยถึงอดีตที่ทำมา ไม่ใช่พูดถึงอนาคตที่เราอยากทำ นำความสำเร็จในอดีตมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อจะดูว่าเบื้องหลังความสำเร็จนั้นมีความรู้ดีๆ ในเรื่องอะไรที่ซ่อนอยู่ เป็นความรู้ปฏิบัติหรือความรู้ฝังลึกในคนที่ทำสิ่งนั้นสำเร็จ ก็ใช้วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดึงความรู้ออกมา บันทึกไว้ และส่งเสริมให้นำไปปรับใช้ให้เหมาะบริบทของตนเอง

17. ข้อควรระวังเมื่อทำการจัดการความรู้ หรือ KM คือ

17.1 ยึดติดรูปแบบของ KM ว่าต้องอย่างนี้เท่านั้น อย่างอื่นไม่ได้ เชื่อครูมากเกินไปจนไม่ยอมมองแนวทางอื่น

17.2 เสพติด KM อะไรๆ ก็จะ KM อย่างเดียว ทั้งที่บางทีเครื่องมืออื่นๆ อาจให้ผลลัพธ์ดีกว่า

17.3 สนุกสนานกับ KM นอกบ้าน แต่กลับเข้าบ้าน (หน่วยงานตนเอง) แล้ว ทำไม่สนุก เพราะไม่ง่ายเหมือนออกไปทำกิจกรรมกลุ่มที่จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว ทั้งๆ ที่จริงแล้ว KM ต้องอยู่ในงานประจำ ก็คืออยู่ที่หน่วยงานของตนเอง

17.4 เผลอตัวคิดว่า KM ที่ทำอยู่ดีที่สุดแล้ว ทำให้ติดกับดักแห่งความสำเร็จ

17.5 ได้ทำ KM แต่ไม่ได้ผลดีจาก KM อย่างแท้จริง มีกิจกรรม KM มากมาย แต่ไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อองค์กร ผู้มีส่วนได้เสีย และบุคลากรในองค์กร

 

ข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดการความรู้

การใช้ KM ในการบริหารจัดการองค์กรนั้น อย่ายึดติดรูปแบบ เพราะ KM เป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย และอย่าคำนึงเพียงแค่การแลกเปลี่ยนนอกองค์กรเท่านั้น เพราะความรู้จริงๆ จะอยู่ในงานประจำในองค์กร KM เป็นเหมือนน้ำ ปรับเปลี่ยนไปตามภาชนะ เป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญา เกิดขุมทรัพย์ความรู้ที่เป็นความรู้ฝังลึกในคน เป็นบรรยากาศเชิงบวก เริ่มจากสิ่งดีงาม เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคน ยิ่งความสัมพันธ์ดี ยิ่งแลกเปลี่ยนง่าย และเป็นการพูดถึงอดีต ไม่ใช่พูดถึงอนาคต เพราะฉะนั้น การจัดการความรู้จะเป็นสิ่งที่เสริมพลังขององค์กรโดยใช้ศักยภาพของคนในองค์กร เนื่องจากคนเป็นสินทรัพย์ขององค์กร อย่างไรก็ดี เป้าหมายสุดท้ายของการจัดการความรู้ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงกระบวนการในการดำเนินการ และเน้นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน ฉะนั้น การจัดการความรู้จะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการจัดการความรักในองค์กร แต่ถ้าใช้การจัดการความรู้ในองค์กร ก็จะทำให้เกิดความรักในองค์กรขึ้นเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ย. ๕๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 224230เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท