dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

กระต้นพัฒนาสมอง


สมองของเด็กปฐมวัย

การเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัย : กระตุ้นการพัฒนาสมอง

 

                ความรู้ที่ว่าการให้เด็กในช่วง  3-6  ปี  เคลื่อนไหวโดยการวิ่ง   กระโดด  ปีน  หมุนตัว  เดิน      เป็นสิ่งที่เด็กมีความพอใจ   ยิ่งถ้าพวกเขาทำได้ย่อมส่งผลให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเองเป็นอย่างมาก   เด็กวัยนี้สมองส่วนที่ได้รับการพัฒนามากที่สุดคือ  บริเวณสมองที่รับรู้สัมผัสและการเคลื่อนไหว  (sensorimotor)   ผู้ใหญ่จำเป็นต้องปล่อยให้เด็กเล่นเกมทั้งในร่มและกลางแจ้งให้พอเพียง   เปิดโอกาสให้เด็กสำรวจสภาพแวดล้อมต่าง ๆ  อย่างเต็มที่   แนะนำให้เด็กเล่นโดยมีอุปกรณ์การเล่นมากขึ้น   ส่งเสริมให้เด็กเล่นเกมที่ใช้สมาธิมากขึ้น   และให้รู้จักการมองอย่างจดจ่อ   สิ่งที่กล่าวนี้เป็นความรู้ที่        ผู้เลี้ยงดูเด็กปฐมวัย   จำเป็นต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้   สำหรับครูปฐมวัยที่ออกแบบกิจกรรม   โดยให้เด็กนั่งทำงานเป็นเวลานาน    ในแต่ละวันไม่ทำให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ได้เลยหรือถ้าเกิดก็น้อยมาก

กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะสำหรับเด็กปฐมวัย 

                ครูปฐมวัยควรมีความรู้เรื่องกิจกรรมดังกล่าว   เพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวที่เป็นการกระตุ้นการพัฒนาสมอง  ประเภทของการเคลื่อนไหว  ได้แก่

                1.  การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่ต้องเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง  โดยให้ร่างกายทุกส่วนตอบสนองต่อการเคลื่อนไหว  ได้แก่  การดึง  การหมุน   การโยกตัว   การแกว่งหรือหมุน  การลื่น  การโอนเอน

                2.  การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่   เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง  ได้แก่  การเดิน   การวิ่ง   กระโดด   การควบเท้า   สไลด์

                3.  การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์   เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้วัสดุสิ่งของประกอบการเคลื่อนไหว  ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   จินตนาการ  มีความสนุกสนาน  วัสดุที่ใช้สามารถหาได้ง่าย    เช่น  เชือก  ลูกบอล   ริบบิ้น  เศษผ้า  ฯลฯ

การเคลื่อนไหวกระตุ้นการพัฒนาสมอง 

                การที่ครูได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กได้เคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้น  ส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง  เพราะช่วงปฐมวัยเป็นระยะที่สมองบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างการพัฒนา  การเคลื่อนไหวและความต้องการเคลื่อนไหว   เป็นกลไกสำคัญที่จะให้สมองได้ใช้ประโยชน์จากเซลล์สมองและซีนแนปส์   ยิ่งเซลล์และจุดซีนแนปส์นั้นทำงาน   เซลล์และซีนแนปส์นั้นก็จะประสานกระชับมากขึ้น   มีประสิทธิภาพมากขึ้น   แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหว  (movement)  เป็นทั้งผลลัพท์ของสมองที่ได้รับการพัฒนาและเป็นตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการพัฒนาด้วยเช่นเดียวกัน  เด็กที่ครอบครัวเลี้ยงดูแบบไม่ได้ให้เคลื่อนไหวหรือครูปฐมวัยที่ไม่ค่อยได้จัดกิจกรรมกลางแจ้ง/กิจกรรมเคลื่อนไหว  หรือ  จัดกิจกรรมไม่เพียงพอ   ร่างกายจะไม่แข็งแรง   อ่อนแอ   ไม่ทนทาน   การควบคุม   อวัยวะส่วนต่าง    ของร่างกายได้ไม่ดี   แปลว่าสมองมีการพัฒนาน้อยในบางระบบ

                ดังนั้นครูปฐมวัยจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญคือ  ต้องออกแบบเกม   กีฬาให้มีความหลากหลายพอเพียงเพื่อพัฒนาร่างกายและสมองให้ครบทุกด้าน  กิจกรรมที่ครบครันจะช่วยพัฒนาส่วนเชื่อมต่อกับประสาทต่าง ๆ  ของการรับความรู้สึกโดยเฉพาะพัฒนาเซรีเบลลัม   และสมองทั้งสองซีก   การกลิ้งตัว  หมุนและหกคะเมนตีลังกา  เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย   ครูต้องเข้าใจว่าการเล่นของเด็กคือการพัฒนาทักษะที่ก่อรูปขึ้นมาแล้วในวงจรการเรียนรู้ของสมอง   สิ่งที่เด็กพยายามเล่นในวันนี้  เช่น  การควบคุมท่าทางการเดิน   การวิ่งแข่ง  การเล่นกระบะทราย  การเดินบนไม้แผ่นเดียว  การตัดกระดาษเป็นรูปต่าง    เป็นการทำซ้ำ    เพื่อสร้างสมองทุกส่วนให้พร้อมสำหรับการ  ใช้งาน   เพื่อการเรียนรู้ในวัยต่อไป   เพราะกระบวนการเรียนรู้ในความเคลื่อนไหวจะช่วยพัฒนาการาเรียนรู้เกี่ยวกับมิติ  ระยะ  ทิศทาง  เวลา  ความเร็ว  แรง  ฯลฯ  การเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อยู่ที่เด็กต้องปฏิบัติจริงไม่ใช่เกิดจากการบอกเล่าและจำ  การให้เวลาสำหรับการสำรวจและการฝึกฝน  เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาร่างกายของเด็กสู่การกระตุ้นพัฒนาสมอง

                การเคลื่อนไหวในเด็กปฐมวัย   เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ครูปฐมวัยต้องคอยวางแผนและออกแบบให้เหมาะสม   ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กเคลื่อนไหวตามยถากรรม   ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ให้เวลาเด็กทำกิจกรรมการเคลื่อนไหว  คอยให้กำลังใจ  สนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กได้มีกิจกรรมอย่างเหมาะสมและเพียงพอที่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่  เพื่อให้เด็กทุก ๆ คนที่รับผิดชอบ  ได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านร่างกายและส่งผลต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพต่อไป

---------------------

 

หมายเลขบันทึก: 223755เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมากที่แวะมาเยี่ยมเยียนค่ะ

นางสาวกิ่งกาญจน์ พันมะวงค์

สวัสดีค่ะอาจารย์ดร.ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

ดิฉันนางสาวกิ่งกาญจน์ พันมะวงค์ เลขที่ 8 หมู่ที่1 นักศึกษาป.บัณฑิต รุ่นที่ 13 ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

ดิฉันชอบบทความนี้ตรงที่ว่าการเคลื่อนไหวสามารถกระตุ้นพัฒนาสมองของเด็กปฐมวัยในช่วงอายุ 3 - 6 ปีได้

ซึ่งดิฉันจะนำข้อมูลที่ได้้นี้ไปปรับใช้กับหลานของดิฉันซึ่งมี อายุ 4 ขวบ และถ้าดิฉันได้ไปสอนเด็กปฐมวัย

ดิฉันจะนำข้อมูลที่ได้จากข้อมูลนี้ไปปรับใช้กับเด็กปฐมวัยค่ะ

ปีใหม่นี้ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงนะค่ะและก็ขอให้อาจารย์มีความสุขมากๆตลอดปีกระต่ายเลยนะค่ะ

จากลูกศิษย์อาจารย์ค่ะ

เป็นบทความที่ ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนค่ะ สำหรับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย สรุปสั้นๆ ว่า การเรียน ของเด็กปฐมวัยนั้นต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ และการปฎิบัติไปด้วย เพื่อพัฒนาให้ ครบทุกด้าน คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท