รายการชุมชนสำราญ ช่อง ETV (UBC96) นำเสนอเพลงอีแซว


ขอขอบคุณสื่อสารมวลชนทุกแขนง โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ที่ได้ช่วยเผยแพร่ผลงานเพลงพื้นบ้านทำให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้เรื่องราว

รายการชุมชนสำราญ

โทรทัศน์ดาวเทียม ETV (UBC96)

นำเสนอเพลงอีแซวสายเลือดสุพรรณฯ

   วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2551

เวลา 11.00 น. และเวลา 18.30 น.

   วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551

เวลา 20.30-21.00 น.

 

           หลังจากที่คณะในทีมงานรายการชุมชนสำราญ มาบันทึกเทปโทรทัศน์ผมซึ่งเป็นครูผู้ฝึกสอนและนักแสดงในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5,11,14 และ 17 พฤศจิกายน 2551 (รวม 4 วันเต็ม) กับความตื่นเต้นเร้าใจในวิธีการของน้อง ๆ ที่เก็บเอาความเป็นธรรมชาติไปให้ได้มากที่สุดในหลายๆ ตอนผมถูกจับให้ไปเข้ากล้องแบบไม่มีการนัดหมายใดๆ เลย (แต่น้องๆ เขารู้กันกับเด็กๆ ในวง)

 

           ผมได้ติดต่อทางทีมงานของน้องเบญ ที่ได้มาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงเพลงพื้นบ้านของผมในการจัดการเรียนรู้ฝึกปฏิบัติ จนเด็ก ๆ เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สามารถนำผลงานออกไปรับใช้สังคมรับงานแสดงเป็นอาชีพเสริมให้นักเรียนได้มายาวนานเกือบ 20 ปีแล้ว ผลงานที่บันทึกไว้ ได้ถูกวิเคราะห์โดยทีมงาน รายการชุมชนสำราญ จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี ช่อง UBC96 หรือโทรทัศน์ดาวเทียม ช่อง ETV ของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยจะออกอากาศ 2-3 ครั้ง ด้วยเนื้อหาเดียวกัน เป็นเวลาครั้งละประมาณ 30 นาที

 

           ครั้งที่ 1 จะออกอากาศในวันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2551 ตั้งแต่เวลา 11.00 น.

                      และในเวลาค่ำ 18.30 น. อีกช่วงเวลาหนึ่ง

           ครั้งที่ 2 จะออกอากาศซ้ำในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551 เวลา 20.30 น.

(แต่ถ้าจะให้แน่นอน ตรวจสอบรายการออกอากาศทางเว็บไซต์ http://www.etvthai.tv  ของ โทรทัศน์ดาวเทียมและเคเบิลทีวี ช่อง ETV อีกครั้ง นะครับ)

          

          

          

          

 

           ติดตามชมเบื้องหน้า เบื้องหลัง ชีวิตความเป็นอยู่ของนักแสดงเพลงพื้นบ้านกับการแสดงที่พัฒนาและรักษาระดับมืออาชีพ ที่ใครเขาหาว่า เป็นมหรสพชาวบ้าน (ชั้นต่ำ) ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะนี่คือ เอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงความสวยงาม ความเจริญที่มีมานานกว่า 100 ปี หากไม่มีศิลปะทุกแขนงให้ได้เห็น เราจะค้นหาที่มาของแหล่งกำเนิดได้จากอะไร สิ่งที่ยังคงหลงเหลือ จากบทเพลงพื้นบ้านที่อยู่ในตัวบุคคล ในสมุดจดบันทึก (เนื้อร้อง บทเพลง) ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตของสังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ นั้น ได้อย่างแท้จริง

 

           ในการนำเสนอผลงานเพลงอีแซว เพลงเรือในครั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณ ท่าน ผอ.ดำรงค์ ทองดี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านหมี่ ที่ได้ให้การสนับสนุน ทำให้นักแสดงได้มีเวทีแสดงความสามารถ ผ่านสื่อโทรทัศน์ ช่อง ETV หรือเคเบิลทีวีช่อง UBC96 ทีมงานเขาติดตามไปบันทึกภาพการแสดงสด ทั้ง 2 สถานที่ คือ เพลงเรือในสระน้ำ และเพลงอีแซวบนเวทีการแสดงที่เต็มไปด้วยบรรยากาศกลิ่นไอแห่งงานเทศกาลลอยกระทงที่ยังอยู่ในความทรงจำของเด็ก ๆ นักแสดงในวงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 อยู่อย่างมิรู้ลืม

 

           เบื้องหลังของความสำเร็จ กว่าที่จะได้มาซึ่งภาพและเสียง ทีมงานจากรายการชุมชนสำราญ เขาต้องมาตามเก็บเรื่องราว บรรยากาศ และความเคลื่อนไหวในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เด็ก ๆ ในวงเพลง 16-19 คน เริ่มมาโรงเรียน การใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนตลอดทั้งวัน การเรียนรู้ในชั่วโมงเรียนทั้งที่ผมเป็นผู้สอนและในวิชาอื่น ๆ การฝึกซ้อมเพลงพื้นบ้านนอกเวลาเรียนจะต้องฝึกซ้อมตั้งแต่ 16.00-18.00 น. ซึ่งในบางวันก็เลยไปจนค่ำ (18.30 น.) หรือบางครั้งล่วงเลยไปมากกว่านั้น โดยมีท่านผู้ปกครองมารอรับลูก ๆ ของท่าน

 

           ครูผู้ฝึกสอน จะต้องเตรียมการวางแผนที่จะทำให้งานสืบสานเพลงพื้นบ้านไปสู่ความสำเร็จ ณ จุดที่ประชาชน ท่านผู้ชมพึงพอใจ นักเรียนที่เป็นนักแสดง จะต้องอุทิศเวลา กำลังแรงงานฝึกฝนตามหน้าที่ ร้องนำ ลูกคู่ ผู้แสดงและรำประกอบ จนถึงทีมผู้ทำหน้าที่ให้จังหวะกลอง ฉิ่ง กรับ แสดงออกมาด้วยความสามารถอย่างเต็มที่ ท่านผู้ปกครองให้ความไว้วางใจครูผู้สอน และสถานศึกษา  อนุญาตให้ลูกหลานเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ปฏิบัติจนเห็นคุณค่า สามารถจัดตั้งกลุ่มนักแสดงรับงานได้ มิใช่ลงมือทำเพียงข้ามวันหรือข้ามคืนหรือเพียง 1 ปี 2 ปี แต่เพลงพื้นบ้านวงนี้มีการดำเนินงานมาเกือบที่จะถึง 20 ปีแล้ว

          

 

             

           ภาพที่เห็นผ่านรายการชุมชนสำราญ ทางหน้าจอทีวี เป็นภาพจริงที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่ง เพียงแต่เงื่อนไขเรื่องของเวลาทำให้ไม่สามารถนำเสนอได้อย่างละเอียด เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ ได้นำเสนอผลงานผ่านสื่อโทรทัศน์ เป็นครั้งที่ 88,89 และ 90 (ช่อง ETV นำเสนอ 3 ครั้ง) ความจริงมากว่า 90 ครั้งแล้วเพราะบางช่องบางรายการ เขานำเอาข้อมูลไปออกอากาศซ้ำ 3-4 รอบ ก็มี เช่น ช่อง 10 ทีวี และช่อง SHOW ต้องขอขอบคุณสื่อสารมวลชนทุกแขนง โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ที่ได้ช่วยเผยแพร่ผลงานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน ประเภทเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเรือ ลำตัด เพลงพวง มาลัย เพลงแหล่ เสภา เพลงเต้นกำ เพลงขอทาน ทำขวัญนาค ฯลฯ ทำให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรับรู้ศิลปวัฒนธรรม ขนบประเพณีที่ดีงามเก่า ๆ ของคนไทยเราซึ่งยังพอมีผู้ที่ปักหลักดำรงรักษาเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ในทั่วทุกภาคของประเทศไทย ครับ

 

นายชำเลือง มณีวงษ์  ครูผู้อนุรักษ์ และสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้าน  ปี 2513-2551

                              รางวัลชนะเลิศประกวดเพลงอีแซว จ.สุพรรณบุรี ปี 2525

                              รางวัลราชมงคลสรรเสริญ (พุ่มพนมมาลา) ปี 2547

                              โล่รางวัล ความดีคู่แผ่นดิน ททบ.5  ปี 2549

หมายเลขบันทึก: 223722เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2008 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้รู้เรื่องราวการอนุรักษ์ศิลปพื้นบ้านสุพรรณของคุณครูร่วมกับรุ่นน้องชาวบรรหารฯ1 แล้วเป็นปลื้ม นำพาสู่สากลบนจอแก้ว แล้วผู้ชมมีความสุข เป็นสุดยอดของผู้แสดง แต่ ณ ที่นี้เป็นนักเรียนของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1ที่เกิดจากฝีมือครูชำเลือง .... ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณศิลปินพื้นบ้านเพลงอีแซว สุพรรณบุรี

ขอให้กำลังใจคุณครูและชาวบรรหารทุกคน....ครับ

สวัสดี ครับ คุณ ศ-ศักดิ์

  • ที่นี้เป็นนักเรียนของโรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1 ที่เกิดจากฝีมือครูชำเลือง .... ครูที่เป็นครูด้วยจิตวิญญาณศิลปินพื้นบ้านเพลงอีแซว สุพรรณบุรี
  • ขอขอบคุณในกำลังใจ ที่ คุณศ-ศักดิ์ส่งมาให้ ผมจะได้นำเอาความเห็นนี้ไปให้เด็ก ๆ ได้รับรู้ด้วยตนเองทุกคนครับ
  • กว่าที่ชื่อเสียงของเราจะหอมฟุ้ง เป็นที่รู้จัก เป็นที่ต้องการของสื่อ ของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ ก็ต้องใช้เวลานานมาก ครับ

สวัสดีค่ะ

* มาส่งความสุขปีใหม่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท