การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับแพทย์
ในการดำเนินการ สคส. ผมทุ่มสุดตัว สุดหัวใจ ก็เพราะใฝ่ฝันอยากสร้างระบบ/วัฒนธรรม เรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นในสังคมไทย
ผมมีความเชื่อว่า KM คือคำตอบ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.48 ผมไปประชุมที่ศิริราชร่วมกับโครงการ R2R เขาจัดให้ อ. หมอเชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ ศัลยแพทย์ที่เพิ่งกลับมาจากศึกษาต่อที่แคนาดา มาเล่าเรื่อง “Continuing Education in the Health Profession” ทำให้ผมได้รับความรู้ใหม่ ๆ และเกิดปิ๊งแว้บด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตหลายแว้บ
เวลาพูดกันเรื่อง Continuing Medical Education (CME) ในสมัยก่อน เรามักมองที่เป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ความรู้ของหมอแต่ละคนล้าสมัย มองว่าความรู้และเทคโนโลยีมันก้าวหน้าไป CME จะช่วยให้หมอเรียนรู้และตามทันความรู้
แต่แนวคิดสมัยใหม่ไม่ใช่อย่างนั้น
จุดมุ่งหมายเปลี่ยนจากตัวหมอไปอยู่ที่การดูแลบริการผู้ป่วย การเรียนรู้ต่อเนื่องจากบุคลากรด้านสุขภาพ มีเป้าหมายเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่บริการผู้ป่วย ซึ่งหมายความว่าให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ได้รับบริการที่มีคุณภาพ มีความเหมาะสมกว่าเดิม
เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อประโยชน์ของตนเอง แต่มองเลยไปจับจ้องอยู่ที่ผลประโยชน์ของผู้ป่วย
เป็นวิธีคิดที่เป็นกุศลอย่างยิ่งนะครับ
การเปลี่ยนแปลงบริการผู้ป่วยต้องการการเปลี่ยนแปลงใน 3 ระบบ
1. หลักสูตรการเรียนรู้ที่บุคลากรแต่ละคนกำหนด (self – directed curriculum)
2. ปฏิสัมพันธ์ในกลุ่มย่อย (small group interaction)
3. การเรียนรู้ขององค์กร (organization learning)
หัวใจอยู่ตรงคำนี้ครับ “CME must construct systems to complement and support the
learning of practice based learning”
ผมปิ๊งแว้บทันที หัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิตของแพทย์คือ practice based learning – การเรียนรู้จากการปฏิบัติ
การเรียนรู้จากการปฏิบัติ + ปฏิสัมพันธ์กลุ่มย่อย KM ไงครับ
พวกหมอโชคดีที่วงการวิชาชีพแพทย์มีวัฒนธรรมเรียนรู้แบบนี้มานับร้อยปี ตอนผมเป็นนักศึกษาแพทย์ก็เห็นวัฒนธรรมเรียนรู้แบบนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีการจัดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คมชัดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
สคส. จะศึกษาบทเรียนเหล่านี้ เอามาประยุกต์ใช้กับประชาชนทั่วไปให้มีการปฏิบัติ KM ในทุกภาคส่วนของสังคมไทย
วิจารณ์ พานิช
8 ส.ค.48
ไม่มีความเห็น