แข่งขันกับตนเองหรือแข่งขันกับผู้อื่นจึงจะประสบความสำเร็จ


ใครจะเป็นคนยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้นได้ แล้วใครเล่าที่เป็นคนฉุดให้คุณภาพต่ำลง จะต้องค้นหาต่อไป เพื่อให้ได้พบข้อเท็จจริง แล้วเปลี่ยนทิศทางใหม่ นำพาเยาวชนเดินทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง

ควรแข่งขันกับตัวเอง

หรือแข่งขันกับผู้อื่น

จึงจะประสบความสำเร็จ

(ชำเลือง มณีวงษ์ วิเคราะห์ข้อมูล)

 

          ขึ้นชื่อว่าการแข่งขันย่อมจะได้มาซึ่งความยินดี ดีใจ และความเศร้า เสียใจ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด สิ่งที่เราได้ครอบครองก็อยู่กับเราไม่นาน ความเสียใจก็มีวันจืดจาง มีวันเลือนหายไปในเวลาต่อมา จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง เช่นเดียวกันกับความยินดี เป็นปลื้มเมื่อเราได้รับความสำเร็จ แต่ความปลื้มอกปลื้มใจนั้นคงอยู่ได้ไม่นานก็ค่อย ๆ คลาย และจางหายไปจนเป็นปกติ

 

          ในชีวิตความเป็นจริงมนุษย์ต้องอยู่กับการแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ หรือความสำเร็จที่จะได้รับ คุ้มมากบ้างน้อยบ้าง บางครั้งก็ได้ไม่คุ้มกับการที่เราจะต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างให้กับเขาไปโดยที่ผู้เสียหายไม่ทันได้รู้ตัว กว่าที่จะนึกได้ คิดได้ก็สายเกินแก้เสียแล้ว ต่อให้พูดคำว่า เสียดายให้ดังแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะเรียกร้องความจริงกลับคืนมาได้  ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ที่ได้มาซึ่งความเสียใจ ยังนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า ดีกว่าเสียด้วยซ้ำ

 

          ผมอยากหยิบยกเอาประสบการณ์ที่ตนเองได้รับ มาเล่าให้ท่านได้เห็นภาพแห่งความเป็นจริงว่า ความสำเร็จที่ผมเดินทางบนถนนแห่งเพลงพื้นบ้านมาตลอดชีวิต ผ่านงานแสดงบนเวทีมานานกว่า 30 ปี อยู่บนเวทีแสดงร่วมกับนักเรียนมาเกือบ 20 ปี แต่เมื่อเล่าไปแล้ว อาจจะไม่มีผู้คนเห็นคุณค่าก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า เพราะถ้าหากมีคนเชื่อผม เดินตามแนวทางของคนที่บุกเบิกด้วยความบริสุทธิ์ใจจริง ๆ จนประสบความสำเร็จในงานแสดงบนเวที  ผมมั่นใจว่า การดำเนินงานสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไปได้ไกลกว่านี้ เพราะผมอยู่ในเหตุการณ์ มาตลอดชีวิต

         

 

          จากวันที่ไม่มีใครให้ความสนใจเรื่องของการสืบค้นหาคนเพลง จนกระทั่งผมฝึกหัดนักเรียนออกไปแสดงรับใช้สังคมในสถานที่ต่าง ๆ มากกว่า 500 งาน (ความจริงนับ 1000 งาน) แต่ในระยะต้น ๆ ไม่ได้มีการบันทึกรายการแสดงเอาไว้ บางครั้งมีงานเร่งด่วน บางครั้งนำเด็กออกไปเป็นวิทยากร แสดงวันละ 5 - 10 รอบ มีบางที่เคยสาธิตการแสดงวันละ 10 – 20 รอบก็ยังมี (รอบละ 20 นาที) การเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาการของผู้แสดง ในวงเพลงพื้นบ้าน ในวงเพลงอีแซวนักเรียนเกิดขึ้นทีละน้อยแบบสั่งสม โดยมีจุดมุ่งหวัง แต่มิได้เร่งรีบไปให้ถึงจุดนั้นโดยทางลัด อาศัยชื่อเสียงของตนเองขยาย เผยแผ่ออกไป จนในที่สุดมีผู้ให้การสนับสนุนเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

 

          มีบุคคลที่ทำหน้าที่ให้การสนับสนุนงานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง แจ้งให้ผมทราบว่า การถ่ายทอดความรู้เรื่องเพลงอีแซว ไม่สามารถที่จะของบประมาณมาดำเนินการได้ เพราะเพลงอีแซวมีการจัดการเรียนการสอนกันในโรงเรียนอยู่แล้ว  ในความเป็นจริงผู้ของบประมาณ ขอไปเป็นเงินเพียงเล็กน้อย และไม่ได้ของบประมาณมาเพื่อถ่ายทอดความรู้เพลงอีแซวนักเรียน แต่ของบสนับสนุนเพื่อการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน 5 อย่าง ให้กับผู้ที่มีความสนใจ และใช้เวลาในวันหยุดด้วย สิ่งที่ผู้ขอต้องการกับการตัดสินใจข้างต้น จึงดูจะไปคนละทาง ทำเหมือนว่าจะให้การสนับสนุน แต่ความจริงน่าจะไม่ใช่

 

การแข่งขันกับผู้อื่น (ประกวดประชันแข่งขัน)

          ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่าอะไร เป็นช่องทางหนึ่งที่จะจุดประกายให้เด็ก ๆ เยาวชนที่เริ่มต้นสืบสานเพลงพื้นบ้าน ศิลปะ กีฬาให้มีความฮึกเหิมมีกำลังใจในการฝึกฝนเพื่อเอาชนะ สร้างชื่อ

เสียงให้กับวงเพลง และสถานศึกษาได้ ผมรู้สึกชื่นชมยินดีกับหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดประกวด แช่งขัน ประชันความสามารถ บางกิจกรรมใช้เงินงบประมาณ นับล้านบาท (น่าเสียดาย) แต่บางกิจกรรมก็มีงบประมาณให้เพียง 15,000 บาท แต่ตั้งเป้าว่า จะต้องจัดประกวดเพลงอีแซวนักเรียน โดยมีคณะเข้ามาประกวด จำนวน 5-10 คณะ (แบบนี้คณะที่มาเหนื่อยมาก ความคุ้มค่าไม่ต้องพูดถึง ต้องมาด้วยใจ) คราวนี้ก็มาถึงจุดสำคัญ เมื่อการแข่งขันกับผู้อื่นเสร็จสิ้นจบลงแล้ว นอกจากได้เงิน (ไม่นานก็ใช้หมด) ได้ชื่อเสียง (ไม่นานวันก็จางหายไป) ได้ถ้วยรางวัล (เก็บเอาไว้ดูได้นานตลอดไป) แต่เมื่อหันไปมองผลกระทบที่ตามมา  ความหอมหวนจากกลิ่นไอที่ได้รับ ช่วยอะไรได้บ้างหรือไม่ ช่วยรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้จริงหรือไม่ ช่วยให้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งอาชีพนักแสดงมีรายได้หรือไม่ หรือกลับลงมาเป็นอยู่อย่างเก่า มีเท่าเดิม เท่ากับเมื่อก่อนแข่งขันนั่นเอง

 

การแข่งขันกับตนเอง (พัฒนาด้วยความคิดสร้างสรรค์)

          ปัจจุบันเรียกว่าคุณภาพ เป็นการมองตนเองว่า ขณะนี้ เราอยู่ในระดับใด สูงต่ำ อันดับใด โดยวัดที่ความพึงพอใจของท่านผู้ชม คนดูชื่นชมชื่นชอบ หลั่งไหลเข้ามาให้กำลังใจ

มีเวทีแสดงเปิดโอกาสให้อย่างต่อเนื่องยาวนาน มีรายได้ที่อาจจะมากกว่างบประมาณของ 1 หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ การพัฒนาไปสู่ความมีคุณภาพทำได้ไม่ยากนักเพียงแต่จะต้องใช้เวลาและมีความเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง ครูผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกสอนและควบคุมวงจะต้องคลุกคลีอยู่กับนักแสดง และเป็นต้นแบบที่ดี ที่ถูกต้องได้ การพัฒนางานเพลงพื้นบ้านสู่การแสดงมืออาชีพ มิได้เกิดจาการจัดการเรียนการสอนเฉพาะในชั่วโมงเรียนเท่านั้น การเรียนในวิชา ในชั่วโมงเรียนเป็นการจัดการเรียนรู้ เป็นการฝึกปฏิบัติ แต่มิอาจที่จะนำไปสู้ความมีเจตคติต่อศิลปการแสดงพื้นบ้านได้จริง  มีบางสถานศึกษาจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมที่หลากหลาย เน้นให้เห็นว่าได้บูรณาการ แล้วประเมินเจตคติของนักเรียนว่า เห็นคุณค่าของเพลงพื้นบ้านมากน้อยแค่ไหน มีตัวบ่งชี้บอกความสำเร็จให้ด้วย  คำตอบเดียวที่ชัดเจนคือ สามารถนำคณะนักเรียนไปแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทนั้นได้จริงไหม แสดงได้นานแค่ไหน หากมีเงื่อนไงในเรื่องของเวลาแสดงละก็ ยังไปไม่ถึงมีเจตคติแน่นอน ครับ

        

         

                   

         

        (การแสดงเพลงอีแซว ส่งเสด็จพระศพสมเด็จพระพี่นางสู่สวรรคาลัย  ที่ศาลาวัดดอนเจดีย์)

 

ความสำเร็จ ความพึงพอใจ ความสมหวัง

          มีระดับของความพึงพอใจ

1.     ระดับมีความรู้ บอกได้ อธิบายได้ เล่าเรื่องราวของเพลงพื้นบ้านนั้น ๆ ได้

2.     ระดับฝึกปฏิบัติได้ เล่นได้ แสดงได้ถูกต้องครบถ้วนกระบวนการแสดงเพลงพื้นบ้าน

3.     ระดับมีเจตคติ เห็นคุณค่าของศิลปการแสดงท้องถิ่น แสดงได้อย่างมืออาชีพ

ทั้งหมดนี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานหรือผลผลิตมีความพึงพอใจในส่วนตัวเอง หรือยอมที่จะให้ประชาชนจำนวนมาก ๆ เป็นผู้ประเมินด้วยสายตาแล้วหยุดยืนดู หรือเดินหนีจากหน้าเวทีไป ทำให้เราต้องกลับมาคิดแล้วพัฒนา ปรับปรุง โดยวิเคราะห์หาจุดเด่นจุดด้อยมาทำการแก้ไขให้ตรงจุดนั้น ๆ ก็จะค่อย ๆ เกิดคุณภาพที่ตรงประเด็น โดนใจท่านผู้ชม ความเป็นมืออาชีพก็จะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ความจริงหนึ่งงานแสดง ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าเงินรางวัลที่กองงานจัดการประกวดจ่ายให้เสียอีก แต่บางสถาบันยังบอกว่า การจัดประกวดในแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณหลายแสน (พูดไม่ชัดเจน มองเห็นตัวเลขค่าใช่จ่ายเบลอ ๆ) ไม่แน่นอนว่าจ่ายเป็นค่าอะไรมากจัง และในทางกลับกัน งบประมาณสนับสนุนจำนวนน้อย จะนำไปจ่ายให้เด็ก ๆ เพียงพอต่อการเดินทางและเบี้ยเลี้ยงที่ไหนเล่า

 (วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ มีครูชำเลือง มณีวงษ์ กำกับและแสดงร่วมอยู่ด้วย)

 

ในวันนี้ มีเด็ก ๆ นักเรียน เยาวชนคนสุพรรณฯ ได้รับการฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัดกันมากขึ้นนับจำนวนเป็นพันคนหรือมากกว่าแล้ว แต่พวกเขาเหล่านั้นมีคุณภาพอยู่ในระดับใด ใครจะเป็นคนยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้นได้ แล้วใครเล่าที่เป็นคนฉุดให้คุณภาพของเด็ก ๆ ที่ฝึกหัดศิลปะพื้นบ้านต่ำลง จะต้องค้นหาคนกลุ่มนั้นกันต่อไป  เพื่อให้ได้พบข้อเท็จจริง แล้วเปลี่ยนทิศทางใหม่ นำพาเยาวชนเดินทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 223398เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณค่ะสำหรับเรื่องราวดี ดี  ที่นำมาให้อ่าน

ชอบดูเพราะแต่งกายชุดไทยสวยงามค่ะ

ชอบฟังเพราะ เป็นเพลงสมัยก่อนที่หาฟังได้ยากมาก

แต่ถ้าให้ร้อง คงต้องขอนะคะ

อิอิ

ชอบร้องแต่คาราโอเกะค่ะ

เพื่อนบอกว่า ไม่อยากไปด้วยเพราะไม่วางไมค์

ร้องได้ หรือไม่ได้ ก้อไม่ปล่อยไมค์

อิอิ

คุณณัชชา

  • ขอขอบคุณ เช่นกัน ที่แบ่งเวลาเข้ามาอ่านเรื่องราวเก่า ๆ จากคน (แก่ ๆ) และชอบชุดการแต่งกายของนักแสดง
  • ชุดแบบนี้ ผ้านุ่งโจงกระเบนแบบสมัยเก่า เหลืออยู่เพียงคณะเดียว นอกนั้นเขาประยุกต์เป็นผ้านุ่งตัดสำเร็จกันหมด
  • เพลงพื้นบ้านโบราณ เริ่มที่จะหารับฟังและหาชมได้ยากขึ้นทุกวัน  อีกไม่นานคงเลือนหายไปจากความทรงจำของเยาวชน
  • การที่น้องณัชชา เป็นคนชอบร้องเพลงก็แสดงว่า มีศิลปะ-ดนตรี อยู่ในหัวใจดีครับ เราได้เป็นคนจรรโลงไว้ซึ่งความไพเราะ สวยงาม
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท