ฉบับที่ ๑๖ เศรษฐกิจชุมชน OTOP


ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล

 ฉบับที่ ๑๖

กานต์วลีที่รัก

 

                        ใครจะรู้บ้างว่าในบ้านป่าเมืองไกลที่ผมได้แอบมาอยู่นี่ ได้แฝงภูมิปัญญาชาวบ้าน ความรู้ของบรรพชน ที่ตกทอดกันมานานนับหลายร้อยปี  องค์ความรู้ที่ค่อย ๆ สะสม ลองคิดลองทำ ลองผิดลองถูก สืบต่อกันจนเป็นองค์ความรู้ที่ถูกต้องหนักแน่น เป็นประสบการณ์ของภูมิปัญญาที่กระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในผืนแผ่นดินไทยนี้  กานต์วลีถ้าเพียงแต่เรานำภูมิปัญญาเหล่านี้มาประยุกต์ใช้  เราก็จะพออยู่และพอกิน

                        การสร้างรายได้โดยการพึ่งตนเอง เป็นแนวคิดหลักที่เน้นการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ภายในหมู่บ้านหรือตำบล  โดยที่ท้องถิ่นจำเป็นต้องพึ่งตนเอง(Self-reliance) เป็นหลัก ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องอุทิศพลังกาย (Energy) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativeity) และความปรารถนา (desire) ที่จะใช้ทรัพยากรที่หาพบในท้องถิ่นเป็นหลัก เพื่อที่จะสร้างการกินดีอยู่ดี และคุณภาพชีวิตมุ่งสู่ตลาดสากล

                        ONE TAMBON  ONE  PRODUCT หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จึงเกิดขึ้น 

“ ผลิตภัณฑ์ ” เป็นคำกว้าง ๆ หมายถึง ผลิตภัณฑ์   บริการและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การรักษาสิ่งแวดล้อม,การแสดงศิลปะ,การนำเสนอประเพณีวัฒนธรรม ตลอดจนการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์เป็นต้น

                        แนวคิด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  เป็นแนวคิดที่ต้องการให้แต่ละหมู่บ้าน มีผลิตภัณฑ์(หลัก) ๑ ประเภท  ที่ใช้วัตถุดิบ  ทรัพยากรของท้องถิ่น ลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นไปสู่เมืองใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เกิดขึ้น เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง  ตามแนวพระราชคำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

            กานต์วลี  OTOP  นั้น มีหลักการพื้นฐาน อยู่  ๓ ข้อ ข้อแรก นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล

(Local  Yet  Global) ผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

 

ข้อต่อมา คือการพึ่งตนเองและการคิดอย่างสร้างสรรค์ (Self – Reliance – Creativity) ทำความฝันให้เป็นจริงโดยอาศัยกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของท้องถิ่นและข้อที่สาม การสร้างทรัพยากรมนุษย์

(Human Resource  Development) ฟูมฟักประชาชนให้สู้ชีวิตด้วยความท้าทายและจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์

 

            กานต์วลี  ชีวิตของผมและคนจำนวนมากหลายคน ไม่ต้องผลักดันชีวิตให้เข้าไปวุ่นวายในสังคมเมือง เราก็พอมีพออยู่พอกิน  และมีความสุขมากกว่าสิ่งที่คนเมืองได้รับและเป็นอยู่มากนัก กานต์ไม่คิดที่จะหลีกหนีความวุ่นวายมาอยู่กับผมหรือ  เรามาร่วมสร้างสังคมอุดมปัญญาด้วยกัน

 

...ท้องฟ้าคืนนี้มืดนัก

เพื่อนรักอยู่ไหนไกลห่าง

ฤาฝันเลื่อนลอยปล่อยวาง

   ลืมเพื่อนร่วมทางเสียแล้ว.

 

                                                                                                         หรือกานต์ ลืมผมเสียแล้ว

                                                                                                                                     อภิษฐา

คำสำคัญ (Tags): #otop#เศรษฐกิจชุมชน
หมายเลขบันทึก: 223382เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2008 21:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท