เศรษฐกิจไทยปี 52 จ่อปากเหว หอการค้าออกโรง หนุนรัฐเร่งใช้งบแสนล้าน


ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 เป็น 2 กรณีคือ กรณีปกติ และเลวร้าย

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 เป็น 2 กรณีคือ กรณีปกติ และเลวร้าย ในกรณีปกติ หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงไม่มากเกินไป และการเมืองไทยมีเสถียรภาพในครึ่งแรกของปี จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 3.9-4.1% การส่งออกขยายตัว 8-10% การนำเข้าขยายตัว 8.5% ดุลการค้าเกินดุล 2,003 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,003 ล้านเหรียญฯ ส่วนเงินเฟ้อขยายตัว 3-4% มีการว่างงาน 600,000-750,000 คน หรือ 1.6-1.9% เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่ว่างงาน 500,000 คน หรือคิดเป็น 1.5% ส่วนกรณีเลวร้าย ไม่ว่ารัฐบาลจะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 100,000 ล้านบาท เร่งเบิกจ่ายลงทุนผ่านโครงการขนาดใหญ่ ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.5-1% ตามทิศทางขาลงของดอกเบี้ยโลก หรือรับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับต่ำ แต่หากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมาก จากการชะลอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น  ขณะที่การเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพ ก็คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพียง 2.9-3.1% การส่งออกขยายตัว 0-0.02% การนำเข้าขยายตัว 1% ดุลการค้าเกินดุล 1,018 ล้านเหรียญฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,518 ล้านเหรียญฯ เงินเฟ้อ 2-2.5%  การว่างงาน 760,000-900,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 2-2.3% จากปีนี้   ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นปัจจัยบวก แต่สนับสนุนให้รัฐบาลใช้งบขาดดุล 100,000 ล้านบาทอย่างรวดเร็ว และเห็นด้วยที่จะเปิดประชุมสมัยวิสามัญ

ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ทันภายในเดือน ก.พ. ปีหน้า เพราะยิ่งเบิกจ่ายช้าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจถอยลงอีก ส่วนทั้ง 2 กรณี หากใช้เหตุการณ์ปัจจุบัน กรณีปกติ เป็นไปได้มากที่สุด แต่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาใด ๆ ได้ กรณี 2 มีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีปกติ มองโลกแง่ดีเกินไป ปีหน้าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในกรณีเลวร้าย โดยขยายตัวต่ำกว่า 3% การส่งออกไม่ขยายตัว เพราะขณะนี้หลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาการขอยืดเวลาชำระเงินค่าสินค้าทำให้ขาดสภาพคล่อง ซึ่งเมื่อผู้ผลิตต้นน้ำมีปัญหา ก็จะทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่อง หรือปลายน้ำกระทบด้วย เชื่อว่าการส่งออกไทยจะลดลงตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า  ส่วนปัญหาว่างงาน น่าจะไม่เลวร้าย หากผู้ประกอบการประคองสถานการณ์ด้วยการลดเงินเดือน หรือลดโบนัส อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐผลักดันแรงงานต่างด้าวออกจากไทยโดยเร็ว แล้วจัดหาแรงงานไทยทดแทน ซึ่งจะช่วยไม่ให้อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นได้   ปีหน้าเศรษฐกิจไทยเผาจริงแน่ ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาตัวแปรที่ควบคุมได้ก่อน โดยเฉพาะปัญหาการเมือง ส่วนวิกฤติโลกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ไม่เช่นนั้น วิกฤติเศรษฐกิจที่ไทยต้องเผชิญในครั้งนี้ อาจใช้เวลามากกว่า 3 ปีแก้ปัญหา เพราะคนที่มีอำนาจแก้ปัญหายังมองไม่ออกว่าจะแก้จุดใดบ้าง และยังเกิดความขัดแย้งในประเทศ แต่หากคนไทยร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติเหมือนในปี 2540 ที่ใช้เวลาฟื้นเศรษฐกิจเพียง 3 ปี เชื่อว่าครั้งนี้ไทยจะสามารถกู้วิกฤติได้เร็ว

ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งเอกชนกับเอกชน และเอกชนกับรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย สนับสนุนการใช้งบขาดดุล 100,000 ล้านบาทของรัฐบาล โดยต้องให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเห็นผลได้ใน 6 เดือน และนำเงินส่วนหนึ่งมาเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดึงเศรษฐกิจขึ้นมาได้

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ธุรกิจ อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในมุมมองหอการค้า ซึ่งสำรวจความเห็นนักธุรกิจ 800 ตัวอย่าง วันที่ 3-11 พ.ย.2551 ว่า ผู้ตอบ 49.1% ระบุว่า อุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอย่างมาก อีก 34.5% ระบุปานกลาง ส่วนน้อยสุดมีเพียง 3.6% โดยปีหน้า ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโดยตรงมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว วิกฤติการเงินโลก และความเชื่อมั่น ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ยอดขาย ผลประกอบการ สภาพคล่องทางธุรกิจ การจ้างงาน การส่งออก และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง รวมถึงจะมีการปลดคนงานเพิ่มขึ้น  หากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ได้รับการแก้ไข อุตสาหกรรมที่จะมียอดขายและยอดส่งออกลดลงมากที่สุดก็เช่น ผลิตภัณฑ์เหล็ก ยางและผลิตภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องประดับ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องหนัง และรองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมที่จะปลดคนงานมากที่สุด คือ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ยืนยันว่า จะยังไม่มีการปลดคนงาน หรือหากจะปลด ก็จะทำในอัตราน้อยที่สุด

ส่วนปัญหาที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข 5 ลำดับแรก คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ย  ราคาน้ำมัน  และความเชื่อมั่น แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดูแลเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน  และดำเนินธุรกิจต่อไปได้  คือ  ลดต้นทุนการผลิต เช่น ลดภาษี ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ให้ค่าเงินบาททรงตัวและอ่อนค่าอย่างมีเสถียรภาพ เสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น

                                                                                  

ไทยรัฐ  ไทยโพสต์  คม ชัด ลึก  โพสต์ทูเดย์ 

กรุงเทพธุรกิจ  มติชน  ข่าวสด  แนวหน้า 14 พฤศจิกายน 2551

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจโลก
หมายเลขบันทึก: 222818เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2008 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท