ชีวิตที่พอเพียง : 629. ตามเสด็จทัศนศึกษาสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ๒๕๕๑ – ๑


บันทึกของปีที่แล้วอ่านได้ที่นี่ 1, 2, 3    ผมกลับไปอ่านใหม่ยังรู้สึกสนุกมาก  

 

ปีนี้เราประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เร็วกว่าปีก่อนๆ   คือประชุมเดือนตุลา   ในขณะที่ปีก่อนๆ ประชุมเดือนพฤศจิกา    ดังนั้นหลังจากทำงานตัดสินรางวัลเสร็จ วันที่ ๒๔ ต.. ๕๑ เย็น เราก็ออกเดินทางไปขอนแก่น ด้วยเครื่องบินของการบินไทยเที่ยว ๑๘.๔๕ น.   ที่พิเศษคือ ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี กรรมการรางวัลนานาชาติ ไปร่วมด้วย    โดยมี อ. นพ. อภิชาต ลูกชาย ตามไปดูแล

 

และ รศ. ดร. บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มอ. กรรมการมูลนิธิฯ ก็ไปร่วมด้วย   และท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล) ก็ไปร่วมด้วยเหมือนปีที่แล้ว

 

เราพักที่โรงแรมโซฟิเทล    หมออมรากับผมพักห้อง ๒๐๐๔ 

 

๒๕ ต.. ๕๑

 

คณะแพทยศาสตร์ มข.

เราได้รับแจกเอกสารของ มข. ทันทีที่ไปถึงโรงแรม เมื่อคืนวันที่ ๒๔ ต..    ทำให้ทราบว่า ภายในเวลา ๙๐ นาที ที่ไปเยือน มข. (รพ. ศรีนครินทร์) เราจะได้รับทราบกิจการของโครงการต่างๆ ถึง ๑๓ เรื่อง   ซึ่งผมจำแนกเองออกเป็น ๒ กลุ่ม   คือกลุ่มที่เป็น Research Excellence   กับกลุ่มโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ

กลุ่มโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ได้แก่โครงการปากแหว่งเพดานโหว่ ตะวันฉาย   โครงการสุขภาพนักเรียนชนบท ซึ่งมีกิจกรรมหลายอย่าง ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือโครงการอาหารกลางวัน เพื่อพัฒนาภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียน   และโครงการตามพระราชดำริ

กลุ่มที่เป็น Research Excellence ที่ผมติดใจ คือ ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี   ศูนย์วิจัย เมลิออยโดสิส   วิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยพลังแม่เหล็กผ่าน กระโหลกศีรษะ (rTMS = Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation)   ศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์   และศูนย์วิจัยคณิตศาสตร์ศึกษา   

ผมชื่นชมวิธีตั้งโจทย์วิจัยของศูนย์วิจัยอนุกรมวิธานประยุกต์   ทำให้มีพื้นที่ทำงานได้กว้างขวาง   เปลี่ยนภาพของวิชาอนุกรมวิธาน (Taxonomy) จากภาพวิชาน่าเบื่อ เป็นวิชาน่าสนใจและทันสมัย   และเมื่อไปเยี่ยมชมนิทรรศการและซักถาม   ก็เกิดความเข้าใจว่า นางเอก ของศูนย์นี้คือไรน้ำ    ที่เป็นสัตว์คล้ายกุ้งแต่เป็นสัตว์ชั้นต่ำกว่า    ไรน้ำ  เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมามีชีวิตอยู่ในพื้นที่น้ำขังแอ่งเล็กๆ ที่เป็นแอ่งน้ำชั่วคราวในฤดูฝน     แล้วหลังจากนั้นดินแห้งอยู่หลายเดือน แบบอีสาน    วงจรชีวิตของมันจึงเป็นตัวอยู่เพียงช่วงเวลานั้นๆ คือไรน้ำนางฟ้ามีอายุขัยเพียง ๓๐ วัน   และไรน้ำไทยมีอายุขัยเพียง ๒๐ วัน   พออายุได้ ๗ วันมันก็ผสมพันธุ์และออกไข่   มันผสมพันธุ์ทุกวันและออกไข่ทุกวัน   เพื่อความอยู่รอดของเชื้อสาย   ไข่ของมันอยู่ในดินแห้งได้ ๖ เดือนโดยไม่ถูกทำลาย    พอฝนตก มีน้ำขัง  ไข่ก็ฟักออกเป็นตัว   เป็นวงจรชีวิตที่วิวัฒนาการมาให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมแบบอีสาน    Prof. Bert Sakman นักวิทยาศาสตร์สมองระดับรางวัลโนเบล สนใจมาก เพราะสงสัยว่าหัวของมันใส มองเห็นสมองได้   ผมเดาว่าท่านคงอยากได้สัตว์ทดลองที่ศึกษาสมองได้ง่าย   สิ่งมีชีวิตที่วงจรชีวิตสั้นนี้มีประโยชน์ต่อการทดลองทางพันธุศาสตร์มาก  

 

ผมคุ้นเคยกับศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพราะเป็นกรรมการของ ศูนย์มาหลายปี   ศูนย์นี้ทาง มข. บอกว่าถือเป็น Center of Excellence อันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัย   อธิการบดี รศ. ดร. สุมนต์ สกลชัย บอกว่าเป็นความภาคภูมิใจและสร้างชื่อเสียงให้แก่ มข. มาก   ผมถาม รศ. ดร. พวงรัตน์ ยงวณิชย์ ที่มาถวายรายงาน ว่าการค้นพบที่ภูมิใจที่สุดในรอบ ๒ ปีนี้ คืออะไร    ท่านตอบว่า คือการค้นพบว่าการมียาฆ่าพยาธิ ที่ชื่อ Praziquantel    แล้วชาวบ้านที่ตรวจพบไข่พยาธิบางคนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาดิบๆ (ก้อยปลา)    จึงได้รับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับซ้ำๆ    และได้รับ ยาซ้ำๆ    ทีมวิจัยพบว่าคนที่ติดเชื้อซ้ำๆ และกินยาซ้ำๆ  จะมีอันตราย คือมีโอกาสเป็นมะเร็ง ท่อน้ำดี สูงกว่าคนที่ติดเชื้อซ้ำๆ โดยไม่ได้กินยา    เขาอธิบายว่า การกินยาทำให้พยาธิตาย และปล่อยสารที่มีพิษ เป็นสาเหตุของมะเร็ง ออกมา

 

ศูนย์วิจัย เมลิออยโดสิส ผมก็คุ้นเคย เพราะตอนอยู่ สกว. เราจัดให้เป็นชุดโครงการวิจัยในโครงการ T-2   เราหาทางชักชวนให้นักวิจัยที่ต่างคนต่างทำให้มาทำงานร่วมกัน   เข้าใจว่าขณะนี้กลุ่มที่ทำวิจัยโรค เมลิออยโดสิส เข้มแข็งที่สุดอยู่ที่ มข.   ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะโรคนี้พบในภาคอีสานมากที่สุด   ผมถามคำถามเดียวกันต่อทีมวิจัยที่มาถวายรายงาน   คือ รศ. ดร. สุรศักดิ์ และ รศ. ดร. รศนา ---    ได้รับคำตอบว่า    คือการค้นพบไวรัสที่เป็นเชื้อโรค หรือตัวทำลายแบคทีเรีย Burkoderia pseudomallei ที่เป็นเชื้อโรคนี้    ในภาษาวิชาการเราพูดว่า มีการค้นพบ phage ของแบคทีเรียนี้  

 

หัวข้อหนึ่งใน ๑๓ หัวข้อที่นำเสนอคือเรื่อง Prenatal Diagnosis หรือการตรวจ ทารกก่อนคลอด    เมื่ออ่านเอกสารที่เขาแจกล่วงหน้า ไม่สะดุดหรือประทับใจ   แต่พอมีการนำเสนอ โดยหัวหน้ากลุ่มคือ ศ. นพ. ภิเษก ลุมพิกานนท์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.   ก็เห็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก   เพราะเป็นการศึกษาหารูปแบบของการให้บริการ โดยดำเนิน การแบบ multi-center ใน ๔ ประเทศกำลังพัฒนา    ทำให้ได้รูปแบบบริการที่เหมาะสมกว่าวิธีการที่ยึดถือกันอยู่เดิม   และมีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับ Lancet

 

ผมสงสัยว่า พลังแม่เหล็กทำอะไรแก่สมอง    จึงรักษาโรคซึมเศร้าได้   เอกสารอธิบายว่า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า Eddy Current ขึ้นภายในเนื้อเยื่อของสมอง   เกิดผลด้านกระตุ้นสมอง (Neuro-stimulator) และสร้างความสมดุลภายในสมอง (Neuro-modulator)    ฟังดูคล้ายๆ การรักษาแผนโบราณ   คือเป็นการวิจัยแบบ empirical    เมื่อไปซักถาม ก็ได้ความรู้ว่า มันเกี่ยวข้องกับการหลั่งสารเคมีในสมอง    เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์สมอง คือ ศ. ซักแมน กล่าวว่าปัญหาอยู่ที่โรคซึมเศร้ามันมีหลากหลายสาเหตุมาก   และไม่รู้บริเวณจำเพาะของสมองที่เกี่ยวข้อง    จึงไม่สามารถส่งพลังแม่เหล็กไปยังเป้าจำเพาะที่ได้ 

 

พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง  . เวียงเก่า

หลังร่วมโต๊ะเสวยพระกระยาหารเที่ยง ที่หอประชุมกาญจนาภิเษก ของ มข.   ที่เป็นอาหารพื้นเมือง ปริมาณมากอย่างน่าตกใจ   เรานั่งรถไปประมาณ ๘๐ ก.. ไปยัง อ. เวียงเก่า    เพื่อชมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์    พอไปถึงก็พบ รมต. กระทรวงทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนงค์วรรณ เทพสุทิน   ปลัดกระทรวง ดร. ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช   และอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี อภิชัย ชวเจริญพันธ์ มารับเสด็จ   และ ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยไดโนเสาร์  เป็นผู้ถวายรายงานสรุป   ดร. วราวุธ เป็นเพื่อนร่วมรับปริญญากิตติมศักดิ์ที่ มมส. เมื่อเกือบสิบปีก่อน   เมื่อพบกัน ผมถามท่านว่าทำวิจัยไดโนเสาร์มากี่ปีแล้ว   ท่านตอบว่า ๒๘ ปี

 

เราได้ความรู้ว่าค้นพบไดโนเสาร์ในบริเวณนี้ ๑๔ ชนิด   ในชั้นหิน ๑๒ ประเภท   ในช่วงเวลาระหว่าง ๒๐๐ ๑๐๐ ล้านปีมาแล้ว   โดยพบ Siamotyrannosaurus เป็นบรรพบุรุษของ T. Rex    และพบไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กมาก ที่น่าจะเป็นบรรพบุรุษของนก     

            เขาจัดให้เดินขึ้นทางลาดเชิงเขา ๓๐๐ เมตร ไปชมหลุมขุดค้นที่ ๓   ทำให้เราได้ความรู้ว่า    การค้นพบไดโนเสาร์เป็นผลพลอยได้ของโครงการสำรวจหาแร่ยูเรเนี่ยมในบริเวณนี้   ซึ่งก็พบ แต่ปริมาณน้อยมาก   ส่วนที่เป็นผลพลอยได้กลายเป็นผลงานวิชาการและเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้สำคัญ

 

รถยนต์ในขบวนมีรถตำรวจติดไฟกระพริบที่หลังคานำ ๓ คัน   เราจึงเดินทางบนถนนที่โล่ง    เพราะมีตำรวจมาห้ามรถไว้ล่วงหน้า ให้เอารถเข้าไปจอดในซอยข้างทาง   และมีประชาชนมาปูเสื่อนั่งรับเสด็จด้วยสีหน้าชื่นชมในพระบารมี   เห็นแล้วผมรู้สึกได้ว่าประชาชนมีความรักและศรัทธาในองค์สมเด็จพระเทพรัตน์มากเพียงใด   เพราะจะมีคนมารับเสด็จเป็นกลุ่มๆ ๕ ๑๐ คน ตลอดทาง   แสดงว่าเขามากันเอง  ไม่มีการจัดตั้ง

ถนนจาก อ. ภูเวียงไปยังอำเภอเวียงเก่า เป็นถนนแคบ มีรอยใช้รถเกรดข้างถนนใหม่ๆ   และในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูเวียง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ก็มีการจัดสถานที่รับเสด็จเป็นระเบียบสวยงาม   และหลายส่วนเพิ่งเสร็จใหม่ๆ    

 

หลังดื่มน้ำมะพร้าวแช่เย็นเจี๊ยบ  และอาหารว่าง   เราเดินทางกลับไปขึ้นเครื่องบิน ที่สนามบินขอนแก่น   เป็นเครื่อง แอร์บัส A 390 ที่ นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จัดถวายในการเดินทางครั้งนี้   บินไปยังสนามบินกองทัพบกของค่ายกฤษณ์ สีวะรา จ. สกลนคร    ใช้เวลาบินประมาณ ๒๐ นาที   แล้วนั่งรถบัสของทหารไปยังพระตำหนักภูพานฯ  ระยะทางประมาณ ๒๐ ก..   ช้ากว่ากำหนดการมาก   เมื่อไปถึงจึงให้ทุกคนเข้าห้องพัก   ไปแต่งตัว    และนัดเวลาใหม่ให้ออกมารวมกันเวลา ๒๐.๑๕ น. เพื่อทำพิธีบายศรีผูกเสี่ยว   และรับประทานอาหารค่ำ

 

พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์  อำเภอเมือง  . สกลนคร

อายุ ๓๓ ปี พื้นที่ทั้งหมดกว่า ๒,๐๐๐ ไร่   ตั้งอยู่เชิงเขา   พื้นที่สวนของพระตำหนักฯ ๒๐๐ ไร่   ผมบอกตัวเองว่าเหมือนสวรรค์    มีต้นไม้ใหญ่และไม้ประดับ ไม้ดอก สวยงามมาก   กลางคืนมีไฟส่องสวยงาม  

เช้าวันที่ ๒๖ ต.. หมออมรากับผมรีบออกไปชมสวน   คุณอนันตสิทธิ์  ผู้ดูแลพระตำหนักภูพานฯ มารอพาไปชม และอธิบาย    คนอื่นยังไม่ตื่น   เราได้ชมความงามท่ามกลางแดดเช้า ๖.๓๐ น.   งามเกินคำบรรยาย   หลักสำคัญที่สุดที่พระราชทานเป็นหลักในการจัดต้นไม้ของบริเวณคือ   ให้เก็บต้นไม้เดิม และใช้พรรณไม้พื้นเมืองให้มากที่สุด

 

พิธีบายศรีผูกเสี่ยว

เพื่อเป็นมงคล และความศักดิ์สิทธิ์ ของมิตรภาพ ทรงผูกข้อมือแขกชาวต่างประเทศทุกคน   และพวกเราก็ร่วมผูกด้วย    และถือโอกาสผูกกันเองในหมู่คนไทยด้วย   ผมมีข้อสังเกตว่าผู้กล่าวคำศักดิ์สิทธิ์ในพิธี มีความชำนาญมาก   กล่าวคำอยู่นาน ๑๕ ๒๐ นาทีโดยไม่ต้องอ่านบท ไม่มีติดขัดเลย   ในพิธีมีการฟ้อนด้วย    ในพิธีนี้ผู้หญิงนุ่งซิ่น   ผู้ชายสวมเสื้อหม้อฮ่อม 

ก่อนพิธีมีการออกร้านเสื้อผ้า   ปรากฏว่าเป็นผ้าฝ้ายย้อมครามแม่ฑีตา ที่มีวิธีย้อมแบบย้อมเย็น เป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.    ผมได้ซื้อเสื้อแขนยาวแบบสวมทางศีรษะ   เมื่อลองได้พอดีก็สวมทับเสื้อหม้อฮ่อมตัวที่สวมอยู่   ได้เข้าพิธีผูกเสี่ยวด้วยชุดซื้อใหม่    มีคนชมว่าสวย

 

อาหารค่ำ

จัดที่ห้องกระจก ที่ตกแต่งสวยงามมาก   โต๊ะเสวยมีคนเสิร์พ   แต่พวกเราช่วยตัวเองแบบ บุ๊ฟเฟ่ต์   ผมกินแค่กุ้งแม่น้ำ ๑ ตัว กับก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่เขาเอามาเสิร์พ ก็อิ่มแล้ว    มีอาหารมากมายกินไม่ไหว   เพราะกินกันมาตลอดทาง   แถมบนเครื่องบินก็มีอาหารเต็มที่    ที่หมออมราบอกว่าอร่อยกว่าของการบินไทย

 

คืนนี้กว่าจะได้นอนก็เกือบตี ๑   เพราะหมออมราเอา thumb drive ของ Dr. Lucas มาขอถ่ายเอาไฟล์รูป ที่มี ๒ สามีภรรยาไปให้ภรรยาของ Dr. Lucas   

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ต.. ๕๑

เบลลาจิโอ

1. นิทรรศการโรคพยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี และโรคเมลิออยโดสิส

2. สองสามีภรรยา Sakmann สนใจไรน้ำ

3.บรรยากาศอาหารกลางวันที่ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเศก

4.ภายในพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง

5.พิธีบายศรีผูกเสี่ยว

6. ผมผูกเสี่ยวให้ Dr. Lucas

7.นักแสดงกำลังแสดงถวาย บริเวณกลางหอพระราชทานเลี้ยง ภายในพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

8. โต๊ะเสวย

9.ห้องน้ำอันสวยงาม ทำจากเครื่องเคลือบท้องถิ่น

10.ทรงฉายภาพร่วมกับคณะนักแสดง

11. ทรงฉายภาพร่วมกับคณะกรรมการรางวัลนานาชาติและคู่สมรส

12. ชุดนี้คือคณะกรรมการมูลนิธิฯ คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ และคู่สมรส

หมายเลขบันทึก: 222784เขียนเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2008 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียนท่านอาจารย์ ท่านได้มีโอกาสทำงานยิ่งใหญ่มากครับ ขอให้สุขภาพแข็งแรงนะครับ

*สวัสดีค่ะ

*บายศรีสวยงามมากค่ะ

-เรียนท่านอาจารย์

-ขอเรียนรู้ด้วยคนค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท