มหาสุบินชาดก : ถอดตำนานความฝันข้อที่ ๑


คล้ายกับจะดีขึ้น แต่ไม่ดี : ไม่มีอะไรแน่นอน


ข้อควรเข้าใจเบื้องต้น
                การวิเคราะห์ปัญหาของคนที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง กับคนที่หมดความโลภ ความโกรธ ความหลงแล้ว แม้คำจะเป็นคำเดียวกันหรือประโยคจะเป็นประโยคเดียวกัน ระดับของความหมายในเนื้อคำมีความแตกต่างกัน อีกอย่างหนึ่ง การศึกษาข้อมูลของคนเต็มเปี่ยมด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง กับคนที่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเบาบาง ย่อมมีอรรถแห่งสาระ (ซึมซับความรู้ – รู้สึก – สิ่งที่ได้จากการศึกษา) ที่แตกต่างกัน
                จุดเริ่มต้นจริงๆแล้ว ผมแค่เพียงอยากเสนอหัวข้อความฝันบางหัวข้อเท่านั้น แต่ทำไปทำมาเห็นจะไม่ควร เพราะถ้าเสนออย่างนั้น มันเป็นการเจาะจงเกินไป อาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างผู้เสนอกับผู้รับได้ “สิ่งที่มองเห็นสัมผัสได้ อาจไม่ใช่ความจริงเสมอไป” อีกอย่างหนึ่ง การเสนอเนื้อหาควรให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ดังนั้นจึงต้องเริ่มจากความฝันข้อที่ ๑ เป็นลำดับไป    

ต้นเรื่อง
                พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสุบินว่า “โคตัวผู้ ๔ ตัว มีสีเหมือนดอกอัญชัญ วิ่งออกสู่ท้องพระลานหลวง ทำทีขะมักเขม้นจะชนกันให้ได้ ชาวบ้านชาวเมืองต่างมุงดูด้วยคิดว่าจะได้ดูโคชนกัน โคทั้ง ๔ ตัว ต่างคำรามเสียงขู่สนั่น แต่...ไม่นานก็ผละออกจากกันไป”

คำพยากรณ์
                พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า “มหาบพิตร ผลของสุบินข้อนี้ จักไม่มีในชั่วรัชกาลของมหาบพิตรในชั่วศาสนาของตถาคต แต่ในอนาคต เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ในรัชกาลของพระราชาผู้กำพร้า ผู้มิได้ครองราชย์โดยธรรม และในกาลของหมู่มนุษย์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อกุศลธรรมลดน้อยถอยลง อกุศลธรรมหนาแน่นขึ้น ในกาลที่โลกเสื่อม ฝนจักแล้ง และตีนเมฆจักขาด ข้าวกล้า จักแห้ง ทุพภิกขภัยจักเกิด เมฆทั้งหลายตั้งขึ้นจากทิศทั้ง ๔ เหมือนจะย้อยเม็ด พอพวกผู้หญิงรีบเก็บข้าวเปลือกเป็นต้น ที่เอาออกผึ่งแดดไว้เขาภายในร่ม เพระกลัวจะเปียก เมื่อพวกผู้ชายต่างถือจอบถือตะกร้าพากันออกไป เพื่อจะก่อคันกั้นน้ำ ก็ตั้งเค้าจะตก ครางกระหึ่ม ฟ้าแลบแล้วก็ไม่ตกเลย ลอยหายไป เหมือนโคตั้งท่าจะชนแล้วไม่ชนกันฉะนั้น นี้เป็นผลของสุบินนั้น แต่ไม่มีอันตรายได ๆ แก่มหาบพิตร เพราะเรื่องนั้นเป็นปัจจัย มหาบพิตรเห็นสุบินนี้ ปรารภอนาคต ฝ่ายพวกพราหมณ์อาศัยการเลี้ยงชีวิตของตน จึงทำนายดังนี้ พระบรมศาสดาครั้นตรัสบอกผลแห่งสุบินด้วยประการฉะนี้แล้ว ตรัสว่า จงตรัสเล่าสุบินข้อที่ ๒ เถิดมหาบพิตร” (คัดลอก)

ถอดความคำพยากรณ์
                ผลของความฝันในหัวข้อนี้ จะยังไม่เกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในช่วงศาสนาของพระพุทธเจ้านี้ก่อน แต่ในอนาคต ในสมัยของพระราชาผู้กำพร้า ขาดบริวาร ขาดที่พึ่ง ผู้มิได้ครองราชย์โดยธรรม และในสมัยที่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อสิ่งดีลดน้อยถอยลง ความชั่วหนาแน่น ในช่วงที่โลกเสื่อม ฝนจักแล้ง เมฆจักขาด ข้าวกล้า จักแห้ง ความอดอยากจักเกิด เมฆทั้งหลายก่อตัวขึ้นจากทิศทั้ง ๔ เหมือนฝนจะตก พอพวกผู้หญิงรีบเก็บข้าวเปลือกเป็นต้น ที่เอาออกผึ่งแดดไว้เข้าภายในร่ม เพระกลัวจะเปียก เมื่อพวกผู้ชายต่างถือจอบถือตะกร้าพากันออกไป เพื่อจะก่อคันกั้นน้ำ ฝนก็ตั้งเค้าจะตก เสียงฟ้าครางกระหึ่ม ฟ้าแลบแล้วก็ไม่ตกเลย ลอยหายไป เหมือนโคตั้งท่าจะชนแล้วไม่ชนกันฉะนั้น นี้คือผลของความฝันข้อนี้..

ข้อควรพิจารณา
                จากความฝันข้อนี้ ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่โลกซึ่งหมายถึงประชากรของโลกเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองในสมัยนั้นคือกษัตริย์ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองแผ่นดิน ส่วนปัจจุบันในประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตย ผู้ปกครองก็คือฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจในการวางนโยบายบนแผ่นดิน ซึ่งอาจตีความถึงผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน และผู้นำทางความคิดได้ด้วย ในข้อนั้นชี้ว่า ผู้ได้อำนาจมาด้วยความไม่ชอบด้วยธรรมหรือทำหน้าที่ด้วยความไม่ชอบด้วยธรรม จะไม่มีมิตรที่แท้จริง (บริวาร) เมื่อหามิตรที่แท้จริงไม่ได้ ก็ยากที่จะไว้ใจหรือพึ่งพาใครได้อย่างสนิทใจ กลายเป็นคนโดดเดี่ยวท่ามกลางความไม่น่าไว้วางใจในสิ่งรอบข้างเสมือนคนกำพร้า เมื่อต่างคนต่างก็ไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบ ความชั่วเพิ่มมากขึ้น ความดีลดน้อยถอยลงไปทุกที ในยุคสมัยเช่นนี้ เป็นยุคสมัยที่เสื่อมทั้งบุคคลและผืนแผ่นดิน กล่าวคือ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล แห้งแล้งขาดแคลนอาหาร บางครั้งทำท่าเหมือนฝนจะตกให้ผู้คนได้ดีใจ แต่ไม่ตก อีกนัยหนึ่งอาจตีความไปถึงว่า เรื่องที่ดีๆเหมือนจะเกิดขึ้น แต่เป็นแค่เพียงมายาภาพเท่านั้น

คติปรัชญา
                จะหาความแน่นอนอะไรได้กับปรากฏการณ์ทั้งหลาย
<p align="justify"> </p>

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 22237เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2006 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท