การกลับมาของเคนส์ และบทบาทของรัฐไทย (1)


การกลับมาของเคนส์

ใต้กระแส : อรรถจักร สัตยานุรักษ์  กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ชัยชนะของบารัก โอบามา ไม่ใช่เพียงแค่จุดเปลี่ยนทางการเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ได้ประธานาธิบดีเป็นคนผิวสีเท่านั้น (ซึ่งอย่าลืมนะครับ ว่า ผิวเท่านั้นที่ไม่ขาว หากแต่ระบบคิดและการดำรงชีวิตของโอบามานั้น ไม่สามารถวางอยู่ในกรอบของคนผิวสีทั่วไปในอเมริกาได้เลย) หากแต่เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกด้วย

เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ทำให้โอบามาขึ้นมาสู่ตำแหน่งได้ มาจากการทำลายตัวเองของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ที่ได้ขยายตัวอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา

ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้ลดบทบาทของรัฐ โดยเฉพาะในด้านบริการลงไปโดยเชื่อว่า หากทำให้ "ตลาด" เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐ การแข่งขันใน "ตลาด" นั้น จะทำให้ประสิทธิภาพของการบริการนั้นเพิ่มมากขึ้น ภายใต้ระบบเสรีนิยมใหม่นี้ระบบประกันสุขภาพที่ครั้งหนึ่งเคยมีความเข้มแข็งก็เสื่อมสลายไป ที่สำคัญ การปลดปล่อยการควบคุมการบริหารและการจัดการในภาคบริการด้านการเงินได้ทำให้ "ตลาด" ทั้งหมดที่ผูกเข้ากับการบริหารและการจัดการการเงินใหม่นั้นต้องพังทลายลงไป

การพังทลายของระบบเศรษฐกิจโลก ที่เป็นผลพวงของการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้ลากเอาคนจำนวนมหาศาลในโลก ให้ตกอยู่ในสภาพตกงานในขณะที่ข้าวยากหมากแพง กันไปทั่วหน้า

การพังทลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการของ "ตลาดเสรี" นั้น ไม่ได้นำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด เพราะใน "ตลาดเสรี" นั้น การแข่งขันกันในการเก็งกำไรก็เป็นไปได้อย่างเสรีเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ "ตลาดเก็งกำไร" ซึ่งเป็นตลาดที่ไม่มีการผลิตจริงได้พังทลายเป็นส่วนแรก แล้วดึงเอาภาคการผลิตจริงให้หยุดชะงักงัน และอาจจะต้องพังทลายตามไปด้วย หากไม่มีการแก้ไขให้ภาคการผลิตจริงดำเนินต่อไปได้

การว่างงานที่ทวีสูงมากขึ้นในโลกส่งผลกระทบต่อการค้าทุกระบบในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญของการแบ่งงานกันทำในระบบโลกในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ก็หยุดชะงักไปในทันที ประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาทิเช่น จีน อินเดีย บราซิล กำลังตกอยู่ในภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

การพังทลายของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ "รัฐ" กลับมาทำหน้าที่มากขึ้น (bring the state back) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำให้ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศโงหัวขึ้นมาจากสภาพพังทลายในปัจจุบัน

"รัฐ" จะต้องหวนกลับมาทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำให้บทบาทของรัฐกลับมา ซึ่งก็คือ การกลับมาของ "จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์" (the return of John Maynard Keynes) นั่นเอง

เคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ชุบชีวิตเศรษฐกิจของโลกหลังจากความล่มสลายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาได้เน้นให้ขยายบทบาทของรัฐในการสร้างการจ้างงาน เพราะการจ้างงานนั้นเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเงินโดยรวมของรัฐ อันจะนำไปสู่การขยายตัวของการผลิตและการบริโภค

ทฤษฎีของเคนส์ในเรื่องการจ้างงานนั้นได้ส่งผลทำให้ "ความเชื่อมั่น" กลับคืนมา และได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามกระเตื้องขึ้นจนก้าวมาถึงปัจจุบันได้ จึงกล่าวได้ว่าบทบาทของรัฐในการจ้างงานรวมไปถึงทางด้านบริการอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่การเยียวยาคนตกงาน หากแต่ได้ทำให้หัวใจของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม คือ "ความเชื่อมั่น" กลับมาทำงานต่ออีกด้วย

บารัก โอบามา เคยแสดงความคิดเห็นต่อการเล่นกลทางการเงินของบรรดานักธุรกิจการเงินการธนาคารมาก่อนหน้าจะลงสมัครประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว โดยเขาเห็นว่าน่าจะต้องมีการควบคุมการเล่นกลทางการเงินเช่นนี้โดยรัฐ และเมื่อเริ่มเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง สิ่งที่โอบามาเน้นเสมอตลอดเวลาในการหาเสียงในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ก็คือ การแก้ไขปัญหาคนว่างงาน กรณีตัวอย่างที่โอบามายกไว้ ได้แก่ กรณีนายโจ ช่างปั๊มน้ำ ก็เห็นได้ชัดเจนถึงการคิดว่า ตนเองจะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรในอนาคต

โอบามาจะหวนกลับมาใช้กรอบความคิดหลักของเคนส์อย่างแน่นอนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยการเน้นบทบาทของรัฐในการทำให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ขึ้นมา การจ้างงานเต็มที่ที่จะเกิดขึ้นนั้น อาจจะไม่ใช่การสร้างโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ดังเช่น โครงการนิวดิล (New Deal) ในสมัยประธานาธิบดีรูสเวลต์ หากแต่มีโอกาสมากที่จะเป็นการกีดกันสินค้าจากต่างชาติ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสองด้านด้วยกัน นั่นคือ ทำให้อุตสาหกรรมภายในประเทศปรับตัวผลิตสินค้าทดแทนสินค้าราคาถูกจากต่างชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานในอเมริกาตามมา (อย่าลืมว่าการขยายตัวของเสรีนิยมใหม่ของอเมริกานั้น เกิดขึ้นจากภาคการเงินที่ไม่ใช่การผลิตจริง ดังนั้น โอกาสในการกลับเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนการผลิตจริงให้อยู่ได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ)

การกลับมาของเคนส์จึงเป็นเรื่องจริงอย่างแน่นอน และเชื่อได้ว่าจะขยายตัวออกไปสู่ประเทศในยุโรปอื่นๆ อย่างแน่นอน ระบบการค้าระหว่างประเทศก็จะถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

บทบาทของรัฐที่กลับมาเพราะ "เคนส์" จะเอื้ออำนวยทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปสามารถกลับมาเข้มแข็งได้ในเวลาไม่นานนัก เพราะการทำให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ จะนำไปสู่การบริโภค โดยอยู่ในเงื่อนไขของการบริโภคสินค้าที่สนับสนุนให้เกิดการผลิตทดแทนขึ้นภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งก็จะทำความเชื่อมั่นกลับมาในไม่ช้า และจะนำมาซึ่งการเติบโตของระบบการผลิตต่อเนื่องต่อไป

แต่การกลับมาของ "เคนส์" ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย การเดินตามหลังทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้ ก่อให้เกิดการพังพินาศมาครั้งหนึ่งแล้วใน พ.ศ. 2540 ในวันนี้เองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เราจะปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นนี้ เราจะหวนกลับมารื้อฟื้นบทบาทของรัฐในการจ้างงานได้ในระดับไหน เพราะเราได้ผูกตัวเองเข้ากับการค้าขายในระบบเศรษฐกิจโลกไปจนหมดสิ้นแล้ว

การจ้างแรงงานในระบบซึ่งคิดได้ประมาณร้อยละสิบของกำลังแรงงาน เป็นการจ้างงานในภาคการผลิตส่งออกเป็นส่วนใหญ่ แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไรในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป

การกลับมาของเคนส์จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดในสถานการณ์ประเทศไทยวันนี้ หากเป็นไปไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจที่พังทลายและหนักหน่วงกว่าเมื่อทศวรรษที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 221952เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2008 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท