ทุนนิยมสร้างสรรค์จากมุมมองของบิล เกตส์


บิล เกตส์

คอลัมน์ ระดมสมอง โดย ไสว บุญมา [email protected]  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 06 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4051

การจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีโลกของนิตยสารฟอร์บสบ่งว่าปีนี้ บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ สองเพื่อนซี้ชาวอเมริกันกลับมาครองอันดับ 1 และ 2 อีกครั้ง คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 11 และ 14 สิงหาคมที่ผ่านมาพูดถึงการเกษียณตัวเองของบิล เกตส์ จากบริษัทไมโครซอฟท์เมื่อปลายเดือนมิถุนายนด้วยอายุเพียง 52 ปี ต่อจากนี้ไปเขาจะทุ่มเทเวลาให้กับการแก้ปัญหาของโลกผ่านมูลนิธิซึ่งเขาและภรรยาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ด้วยทรัพย์สินส่วนตัวจำนวน 34,000 ล้านดอลลาร์ และจะได้รับจากวอร์เรน บัฟเฟตต์อีกราว 37,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากเริ่มทำงานกับมูลนิธิได้ไม่นาน บิล เกตส์ ก็เขียนบทความลงนิตยสาร Time ฉบับประจำวันที่ 11 สิงหาคม ในหัวข้อเรื่อง "จะแก้ไขระบบทุนนิยมอย่างไร" (How to Fix Capitalism) เสริมด้วยการให้บรรณาธิการของนิตยสารนั้นสัมภาษณ์ออกอากาศ ในเรื่องเดียวกัน (ดูการสัมภาษณ์ที่ตัดตอนเหลือ 4 นาทีกว่าๆ ได้ทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.time.com/gatesspeaks)

บิล เกตส์ มองว่าระบบทุนนิยมมีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมมนุษย์ ในปัจจุบันนี้มนุษย์เรามีมาตรฐานการครองชีพ สูงกว่าทุกยุคทุกสมัยในอดีตเพราะเราใช้ระบบทุนนิยม ซึ่งมีข้อดีมากกว่าระบบเศรษฐกิจอื่น ความบกพร่องของระบบทุนนิยมแสดงออกมาในรูปของความอดอยากยากจนอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความอยู่ดีกินดีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะนี้โลกจึงยังมีคนยากจนมากกว่า 1 พันล้านคนซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยรายได้วันละไม่เกิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลจากความก้าวหน้าและการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ควร นอกจากความยากจนแล้ว ชาวโลกจำนวนมากยังต้องเผชิญกับโรคร้ายหลายชนิดอีกด้วย เช่น เอดส์ มาลาเรียและวัณโรค เท่าที่ผ่านมาเรามักพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีให้รัฐบาลและขององค์กรการกุศลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ

บิล เกตส์ มองว่าจริงอยู่บทบาทของรัฐบาลและองค์กรการกุศลมีความสำคัญยิ่ง แต่วิธีที่เราทำกันมานั้น จะไม่สามารถเอาชนะปัญหาได้ถ้าเราไม่นำเอาพลังอันมหาศาลของระบบทุนนิยมมาใช้แก้ปัญหาด้วย อย่างไรก็ดีเนื่องจากระบบนี้มีความบกพร่อง การแก้ปัญหาของโลกจำเป็นจะต้องใช้ระบบทุนนิยมที่ได้รับการแก้ไข ให้เป็นชนิดที่เขาเรียกว่า "ทุนนิยมสร้างสรรค์" (creative capitalism) ในความเห็นของเขา ทุนนิยมสร้างสรรค์ไม่จำกัดอยู่แค่สิ่งที่บริษัทต่างๆ ทำกันอยู่บ้างแล้ว เช่น โครงการด้านการกุศล และไม่ใช่วิธีขอร้องให้บริษัททำสิ่งที่ดีๆ เพิ่มขึ้น แม้สิ่งเหล่านั้นยังมีความสำคัญอยู่ แต่มันไม่พอ ในความเห็นของบิล เกตส์ ทุนนิยมสร้างสรรค์หมายถึงการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทห้างร้านใช้ความเชี่ยวชาญที่ตนมีอยู่แล้วในแนวใหม่ๆ ซึ่งจะเอื้อให้พวกเขาสร้างกำไรไปพร้อมกับช่วยแก้ปัญหาของโลก แรงจูงใจอาจเกิดได้ 2 ทางคือ บริษัทห้างร้านอาจค้นพบโอกาสใหม่ได้ด้วยตนเอง และรัฐบาลและองค์กรการกุศลอาจสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมาให้แก่พวกเขา

ในด้านการค้นพบโอกาสใหม่ด้วยตนเอง บิล เกตส์ อ้างถึงหนังสือชื่อ The Fortune at the Bottom of the Pyramid ของ C. K. Prahalad ซึ่งชี้ให้เห็นว่าทั่วโลกยังมีตลาดขนาดใหญ่ที่บริษัทห้างร้านมองข้ามเพราะไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาดมากพอ บริษัทไมโครซอฟท์เองก็เคยตกอยู่ในกลุ่มนี้ บิล เกตส์ เล่าว่าไมโครซอฟท์ได้บริจาคเงินและโปรมแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งรวมกันแล้วมีค่าเกินกว่า 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยคนยากจนให้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทเปลี่ยนใจและเริ่มใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเขียนซอฟต์แวร์พัฒนาโปรแกรมใหม่เพื่อใช้ในประเทศด้อยพัฒนา 2 ด้านด้วยกันคือ ด้านแรกเป็นโปรแกรมที่ใช้รูปภาพเป็นหลักเพื่อเอื้อให้คนที่อ่านหนังสือไม่ออกสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ และด้านที่สองเป็นโปรแกรมที่นักเรียนทั้งห้องสามารถใช้คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะเครื่องเดียวพร้อมๆ กันได้โดยต่างคนต่างใช้เมาส์ของตัวเอง อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่เรื่องโทรศัพท์มือถือในประเทศเคนยา เขาเล่าว่าในตอนก่อนลงทุนบริษัทโทรศัพท์ประเมินว่าจะมีผู้ใช้ราว 4 แสนคนเพราะชาวเคนยาส่วนมากยากจน แต่ในขณะนี้มีชาวเคนยากว่า 10 ล้านคนใช้โทรศัพท์มือถือทำให้บริษัทได้กำไรอย่างงดงาม เคล็ดลับของความสำเร็จเกินคาดนั้นได้แก่บริษัทเปลี่ยนฐานการคิดค่าโทรศัพท์ จากเป็นนาทีมาเป็นวินาทีทำให้ชาวเคนยาสามารถเข้าถึงโทรศัพท์ได้อย่างกว้างขวางขึ้น

นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และตลาดใหม่แล้ว บิล เกตส์ มองว่าบริษัทห้างร้านอาจได้ประโยชน์จากการขายสินค้า ในราคาต้นทุน ให้แก่คนยากจนโดยเฉพาะบริษัทผลิตยาและบริษัทผลิตซอฟต์แวร์ ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำมาก บริษัทเหล่านี้อาจแยกตลาดออกเป็นสองส่วนคือ ขายในราคาสูงในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและขายในราคาต่ำในตลาดที่ขาดกำลังซื้อ ส่วนบริษัทที่ไม่สามารถแยกตลาดได้ ในขณะนี้มีหลายบริษัทเข้าร่วมโครงการจำพวกกันกำไรส่วนหนึ่งไว้ให้แก่การกุศลโดยเฉพาะ บริษัทเหล่านี้ขายดีขึ้นเพราะผู้ซื้อสินค้าจำนวนมากมองเห็นความสำคัญของการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ยิ่งกว่านั้นบริษัทเหล่านี้มักสามารถจ้างพนักงานที่มีความทุ่มเทสูงได้ง่ายขึ้น เพราะพวกเขาต้องการทำงานกับบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง

ในด้านการสร้างแรงจูงใจโดยรัฐบาลและองค์กรการกุศล บิล เกตส์ มองว่าด้านนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะปัญหาบางอย่างบริษัทห้างร้านจะไม่เข้าไปช่วยแก้ในกรอบของแรงจูงใจที่มีอยู่แล้ว เช่น ปัญหาเกี่ยวกับมาลาเรีย เนื่องจากผู้ที่ต้องการวัคซีนและยาส่วนใหญ่เป็นคนจนในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดกำลังซื้อ บริษัทยาจึงไม่คิดที่จะผลิตวัคซีนและยาเพื่อต่อสู้กับมาลาเรีย ในกรณีนี้รัฐบาลและองค์กรการกุศลอาจสร้างแรงจูงใจโดยใช้ระบบการยกย่องซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ชั้นเยี่ยม เช่น องค์กรเอกชนในฮอลแลนด์เริ่มพิมพ์ชื่อของบริษัทยาที่มีโครงการผลิตยาสำหรับคนจน บริษัทยาเกิดแรงจูงใจจากการที่จะได้มีชื่อปรากฏอยู่ในบัญชีขององค์กรนั้น หรือในขณะนี้สหรัฐอเมริกามีกฎหมายออกใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับบริษัทยา นั่นคือ บริษัทที่ผลิตยาสำหรับโรคร้ายซึ่งไม่ได้รับความใส่ใจ เช่น มาลาเรีย จะได้รับการพิจารณาอย่างเร่งด่วนเมื่อนำยาขนานใหม่มาขอใบอนุญาตจากรัฐบาล การได้ลัดคิวมีค่าเท่ากับยาขนานใหม่นั้นจะทำกำไรให้บริษัทรวดเร็วขึ้น

นอกจากนั้นสิ่งที่บิล เกตส์ มองว่าสำคัญยิ่งได้แก่นโยบายของรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาเอง เขามองว่ารัฐบาลเหล่านี้จะต้องมีกฎหมายและข้อบังคับที่เอื้อให้ระบบทุนนิยมงอกงาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่ให้ประกันสิทธิในทรัพย์สิน หรือความรวดเร็วในการออกใบอนุญาตการทำธุรกิจ ในปัจจุบันประเทศเหล่านี้มีสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบทุนนิยมมากมาย ซึ่งปรับเปลี่ยนได้อย่างเชื่องช้า กระนั้นก็ตามเขามองว่าเราจะรอจนกว่าอุปสรรคเหล่านั้นหมดไปไม่ได้เพราะเรายิ่งรอนานเท่าไร ผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมก็จะยิ่งมากขึ้น

บิล เกตส์บอกว่าขั้นต่อไปเขาจะใช้เวลาปรึกษาหารือกับผู้นำในภาคการเมือง และผู้นำในภาคธุรกิจเพื่อหาทางส่งเสริมทุนนิยมสร้างสรรค์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เขาเชื่อว่าโลกเราจะสามารถแก้ปัญหาหนักหนาสาหัสได้ เขาและภรรยาก่อตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวที่จะสร้างโลกยุคใหม่ขึ้น โลกยุคใหม่นี้จะไม่มีมนุษย์คนใดต้องเลี้ยงชีพด้วยรายได้เพียงวันละไม่ถึงหนึ่งดอลลาร์ เขามองว่าระบบทุนนิยมสร้างสรรค์จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกใหม่ และหวังว่าต่อไปจะมีผู้เข้าร่วมความเคลื่อนไหวกับเขามากขึ้น

หลังจากอ่านบทความและฟังข้อสัมภาษณ์ของบิล เกตส์ ผมยังยืนยันการฟันธงในบทความบทก่อนที่ว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะได้รับรางวัลโนเบล และขอฟันธงไว้ตรงนี้ด้วยว่า เขาจะไม่สามารถแก้ปัญหาของโลกตามที่เขาคาดหวังได้ด้วยการใช้ระบบทุนนิยมสร้างสรรค์หากนักการเมือง และนักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้าร่วมความเคลื่อนไหว ซึ่งเขากำลังทำตัวเป็นหัวจักร

หมายเลขบันทึก: 221946เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2008 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท