nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เรื่องเล่าคนใกล้แก่ ตอน โรยลา...ไม่ใช่โรยรา


ลาหน้าเตา สุกใหม่จากกระทะเป็นสีขาวอมทอง หอมฉุย เส้นนุ่ม หวานนิดๆ กินอร่อยเป็นที่สุด

          ลา เป็นขนมปักษ์ใต้  คนใต้ทำลาไปวัดเฉพาะงานบุญเดือนสิบเท่านั้น   ลาแต่ละจังหวัดหน้าตาไม่เหมือนกัน

คุณยาย(ของลูก)ไปสุราษฎร์ เอาลามาฝาก ๓ แผ่น (ได้มาน้อย ต้องแบ่งหลายบ้าน) แบ่งกินคนละแผ่น ของดีมีน้อยจึงค่อยๆ กัดคำเล็กๆ หอมกลิ่นแป้งผสมน้ำตาลโตนด  อร่อยมาก 

 

กินลาแล้วคิดถึงสมัยเด็กๆ ช่วยยายโรยลา  ยายทำลาไปวัดทุกปี  ทำครั้งละเยอะๆ  เอาไว้แจก และทำลาอับ 

จำได้เลาๆ ว่ายายแช่ข้าวแล้วปิดด้วยใบมะละกอ  ทิ้งค้างคืนให้เปื่อย ก่อนเอาไปโม่ 

          การโม่แป้งเป็น งานสนุกระหว่างยายหลาน   ยายนั่งหมุนโม่  ฉันตักข้าวใส่  โม่แป้งต้องใจเย็น  ใจร้อนแป้งจะหยาบเป็นทราย

ยายสอนวิธีหยอดข้าวใส่โม่  ใช้ช้อนเขียวตักข้าวติดปลายช้อน  มีน้ำพอท่วม น้ำมากไป แป้งที่โม่ออกมาจะหยาบ  น้ำน้อยไป โม่จะฝืด  

การหมุนโม่ต้องสม่ำเสมอ ได้จังหวะพอดี  หมุนเร็วไปแป้งจะหยาบ  หมุนช้าไปน้ำจะไหลออกมาก่อนเหลือแต่ข้าวติดโม่ หมุนไม่ไป   การใส่ข้าวกับการหมุนโม่ต้องเป็นจังหวะพอดีกัน 

ใหม่ๆ หัดหยอดข้าวขณะที่ยายหยุดหมุนโม่  สักพักฉันก็ตักข้าวใส่โดยไม่ต้องหยุด  ไม่นานเราสองคนก็ทำงานเข้าจังหวะกันดี  มือไม่ตีกัน  งานโม่แป้งสนุกมากตรงที่เราจะคุยกันสารพัดเรื่อง  บางทียายก็เล่านิทานให้ฟัง

ไม่นาน ฉันก็ชำนาญงานโม่แป้ง โม่เอง หยอดข้าวเอง จนเป็นงานประจำของฉันในที่สุด   เพราะยายเป็นแม่ค้า ขายขนมจีน ขนมจาก  ขนมขี้มอด  ฉันต้องโม่แป้งทุกเย็น   

เมื่อน้ำแป้งขุ่นขาวไหลลงในถุงผ้าดิบหมดแล้ว  ก็ต้อง ทับแป้ง คือมัดปากถุงให้แน่น  ยกหินโม่ขึ้น  วางถุงแป้งลงบนแป้นโม่  วางหินโม่ ทับแป้งไว้ให้น้ำแห้ง  คือ น้ำใสๆ จะค่อยๆ ไหลออกจากถุงจนกลายเป็นก้อนแป้งเนียนนุ่มมือ  (ถ้าโม่หยาบแป้งจะไม่เนียนนุ่ม)

ยายเอาก้อนแป้งเทลงกะละมังใบใหญ่  ตักน้ำตาลโตนดใส่ลงไป  พลางค่อยๆ ขยำค่อยๆ ยีให้แป้งกลมกลืนไปกับน้ำตาล   กลายเป็นแป้งขนมลาสีน้ำตาลอ่อนข้นพอดี  หอมน้ำตาลโตนดน่ากินตั้งแต่ยังไม่ทันโรย

ต่อเป็นขั้นตอนที่รอคอย คือ โรยลา

เราโรยลากันที่ลานดินหลังบ้าน  บนเตาไม้ฟืนที่ประกอบจากหินสามก้อน  วางกระทะเหล็กใบใหญ่พอร้อน  ใช้พดพร้าวต่อด้ามจุ่มน้ำมันมะพร้าวทากระทะ

ตักแป้งลาใส่ พร็อกโรยลา ยกไปโรยบนกระทะ   แป้งไหลตามรูเป็นเส้นลงบนกระทะ  โรยเป็นแผ่นกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ ฟุต  รอจนขนมสุกหอม  ใช้ ไม้พับลาเริ่มจากใช้ปลายไม้เกี่ยวขอบบนพับลงมาสักผ่ามือ  เกี่ยวขอบซ้ายขวาพับให้เป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือรูปกรวย  เสร็จแล้วใช้ไม้ช้อนแผ่นลาลงวางในถาด  ได้ลา ๑ แผ่น  ทำไปเรื่อยๆ จนมีลาวางซ้อนกันเต็มถาด

การโรยลาเป็นงานฝีมือ  ยายเล่าว่ายายถิด (น้องสาวยาย)โรยลาสวยที่สุด   เส้นเล็กเสมอกัน  โรยเส้นวนเป็นวงกลม  สวยเสมอกันทั้งแผ่น  ไม่มีตะปุ่มตะป่ำ  พับเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วทรงสูง  วางเรียงเป็นชั้นเสมอกันทุกแผ่น  ฟังยายเล่าแล้วฉันอยากทำให้สวยแบบนั้นบ้าง

ยายให้ฉันหัดโรยลา  ใหม่ๆ โรยไม่สวย  เส้นหนา ตะปุ่มตะป่ำ  ผ่านไปไม่กี่แผ่น  ฉันจับทางได้แล้วว่าจะต้องยกพร็อกโรยลาให้สูงจากกระทะเท่าไหร่  จังหวะโรยแป้งลงกระทะนานช้าแค่ไหน  วนเส้นอย่างไร   ไม่นานยายก็บอกว่า  สวยเกือบเท่ายายถิดแล้ว   แล้วยายก็ปล่อยให้ฉันนั่งโรยลาไปคนเดียว  นานๆ ก็จะโผล่มาเปลี่ยนมือให้ฉันพัก   ปีนั้นยายไปคุยกับชาวบ้านว่าหลานสาวตัวแค่นี้ โรยลาสวยกว่ายาย  แต่ไม่ยอมบอกว่า สวยเท่ายายถิดหรือยัง

ลาหน้าเตา  สุกใหม่จากกระทะเป็นสีขาวอมทอง  หอมฉุย  เส้นนุ่ม หวานนิดๆ กินอร่อยเป็นที่สุด

เสร็จแล้ว  ยายเลือกลาแผ่นสวยๆ จัดซ้อนเป็นตั้ง  ใส่ถาดใบงามที่จะเอาไปวัด   ที่เหลือแบ่งใส่จานให้ฉันเดินแจกเพื่อนบ้าน

งานบุญเดือนสิบ  เราเอาปิ่นโต  และลาไปวัด  บางปีก็ได้ขนมพองที่ญาติๆ เอามาให้ใส่ถาดไปด้วย  แต่เป็นธรรมเนียมว่าต้องมีลา

เสร็จงานแล้ว  เรามีลาเหลือมากมาย  จากที่เราทำเอง จากที่ญาติๆ และเพื่อนบ้านเอามาให้  กินไม่หมดเก็บไว้ก็เหม็นหืน  ถึงเวลาที่เราจะทำลาอับกันแล้ว

ทำลา เป็น ลาอับ เพื่อจะได้เก็บไว้กินนานๆ

เริ่มจากเอาน้ำตาลโตนดมาตั้งไฟเคี่ยวให้เหนียวพอดีก่อนจะจับเป็นเกร็ด   แผ่ลาออกเป็นวงกลม  ตักน้ำตาลโรยบางๆ ให้ทั่วแผ่น  พับเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อนที่จะม้วนเป็นท่อนกลมเหมือนท่อนฟืนเล็กๆ   แค่นี้ก็เป็น ลาอับ แล้ว  ยายชอบซ้อนลา ๒-๓ แผ่น  แต่ฉันวางแผ่นเดียว  ลาของฉันแผ่นกระจิ๋วน่ารัก ทำเสร็จช้า

นำม้วนลาอับเรียงแน่นๆ ลงในหม้อเคลือบจนเต็ม  ปิดฝา  เก็บไว้ได้นาน  ยายกำชับไม่ให้เปิดฝาหม้อไว้เพราะ  จะเหม็นไฮ คือเหม็นหืนน้ำมันมะพร้าวนั่นเอง

ลาอับกินใหม่ๆ ไม่อร่อย  เพราะแป้งแข็ง  น้ำตาลไม่เข้าเนื้อ   เก็บสักพักน้ำตาลซึมเข้าเนื้อ ขนมจะนุ่มหอม  อร่อย  และหวานจัด

ลา ๓ แผ่น ของฝากจากคุณยาย ลงท้องสมาชิก ๓ คนไปแล้ว  อร่อยอยากกินอีก  ไม่รู้จะไปหาจากไหน  คิดถึงลาหน้าเตาจริงๆ .

เสาร์ ๘ พ.ย.๒๕๕๑

 

เพิ่มเติม

·    ลาเมืองคอนโรยเส้นเล็กฝอย  สีทองจัด  สวย ประณีต กว่าลาสุราษฎร์  เมืองคอนทำ ลาลอยมัน ด้วย คือโรยลาลงในน้ำมันมากๆ  สุกแล้วลอยเป็นแผ่น  ตักขึ้น  กินกรอบๆ เหมือนของทอด  ยายเรียกลาแบบที่ยายทำว่า  ลาเช็ดทะ  (ทะ  คือ  กระทะ)

·    ตามงานแสดงขนมไทยภาคใต้  มักแสดงการทำลาเมืองคอน  ไม่เคยเห็นลาสุราษฎร์

·    ช้อนเขียว  คือ ช้อนกินข้าวที่ปัจจุบันเป็นสแตนเลส  แต่ก่อนเป็นสังกะสีเคลือบสีเขียว บางทีก็เรียก ช้อนสังกะสี

·    พดพร้าว    คือ เปลือกมะพร้าวส่วนเส้นใย  นำมามัดติดปลายไม้ไผ่  สำหรับใช้จุ่มน้ำมันทากระทะ

·    พร็อกโรยลา    พร็อก ภาษาใต้ใช้เรียกกะลามะพร้าว  เลือกกะลามะพร้าวขนาดใหญ่ ทรงสวย  ผ่าครึ่ง ใช้กะลาครึ่งล่าง (ทรงคล้ายบาตรพระ) ขัดให้สะอาด  เจาะรูที่ก้นหลายๆ รู  ติดด้ามไม้ข้างบน  สำหรับโรยลา

·    ไม้พับลา      ทำจากไม่ไผ่  เหลาเป็นแผ่นแบนกว้างสักครึ่งนิ้ว ยาวกว่าฟุต  ทำปลายให้แหลมสำหรับเกี่ยวพับลา

·    ขนมพอง   เหมือนขนมนางเล็ดภาคกลาง

หมายเลขบันทึก: 221839เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2008 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
P

ชอบๆ ของโปรดค่ะ  ขอบคุณค่ะ 

ไปปลูกป่ามา มีภาพมาฝากค่ะ

กิจกรรมดีๆ อย่างนี้ ต้องอนุโมทนาค่ะ Krutoi

หลังบ้านมีดงลำพู เราเคยเห็นหิ่งห้อยจากระเบียงบ้าน ตอนนี้แสงหิ่งห้อยหายไปหลายเดือนแล้วค่ะ

เคยได้ยินมาว่า หิ่งห้อยจะออกมาเป็นบางฤดู จริงมั๊ยคะ มีใครรู้บ้าง

  • ของมีน้อยอย่างนี้ ต้องอร่อยแน่ๆ เลย
  • แบบนี้ต้องแจกชิมให้ทั่วเลยนะคะ
  • และแน่นอน กินน้อยๆ ไม่อ้วนแน่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท