ปัญหาของบริษัที่กำลังพัฒนา: เมื่อเถ้าแก่กลัวสูญเสียอำนาจ


อำนาจเป็นสิ่งหอมหวานสำหรับคนที่ยังลุ่มหลง... เมื่อใดขาดอำนาจแล้วมักจะเป็นทุกข์...

เห็นประโยคเด่นที่ขึ้นกรอบไว้อย่าคิดว่าลงผิดบล็อก เพราะถ้อยคำออกไปทางธรรมะเล็กน้อย ไม่ผิดแน่นอนครับ เพราะเนื้อหาบทความนี้จะเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของอำนาจที่ทำให้ทุกคนเป็นไปหลายแบบ

อำนาจ คือ ความสามารถในการกำหนดให้ผู้อื่นเป็นไปหรือทำตามรูปแบบที่ตนต้องการ ไม่ว่าจะยินยอม หรือไม่ก็ตาม (อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://gotoknow.org/blog/paramee/56247)

ถึงแม้ว่าอำนาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริหารในแต่ละหน่วยงาน และเปรียบเหมือนอาวุธของแม่ทัพในสนามรบ หากผู้บริหารไร้ซึ่งอำนาจ หรือแม่ทัพไร้ดาบอาญาสิทธิ์แล้วจะบริหารจัดการได้อย่างไร

คงแปลกพิลึกเมื่อแม่ทัพสั่งบุก พลทหารเลวกลุ่มหนึ่งกลับถอยเพราะกลัวตาย แต่ถ้าแม่ทัพมีดาบอาญาสิทธิ์แล้วประกาศว่าใครถอยจะถูกฆ่าให้หมด พลทหารเลวก็ต้องสู้ เพราะสู้เพื่อความอยู่รอด คือถอยก็ตาย สู้ก็ตาย แต่มีสิทธิ์รอด

ในการบริหารเช่นกันผู้บริหารระดับต่าง ๆ ถ้าไร้ซึ่งอำนาจในการปกครอง ผู้บริหารจะไม่สามารถควบคุม จัดการ เพื่อให้งานลุล่วงด้วยดีได้

แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้บริหารระดับสูง ที่มีอำนาจอยู่ในมือแล้วกลัวจะสูญเสียอำนาจ

ปกติแล้วระบบเถ้าแก่หรือระบบครอบครัวดั้งเดิมจะเป็นระบอบที่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่กับเจ้าขององค์กร ดังนั้นการตัดสินใจ การสั่งการจะมาจากเถ้าแก่เพียงคนเดียว

แต่เมื่อองค์กรนั้นได้นำเอาการบริหารสมัยใหม่เข้ามาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และขยายกิจการ ซึ่งจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเพิ่มบุคลากร

อย่างน้อยต้องมีหัวหน้า หรือผู้จัดการที่จะมาแบ่งเบาภาระ

ปัญหาประการหนึ่งที่มักจะพบเห็นในองค์กรที่กำลังพัฒนาคือ พฤติกรรมกลัวเสียอำนาจของผู้บริหารระดับสูง

ผู้บริหารระดับสูงนี้หมายถึง บรรดาเถ้าแก่ อาซิ้ม อาซ้อ อาเฮีย อาเจ็ก ทั้งหลายที่เป็นเจ้าของเงินแล้วผันตัวเองมาเป็นผู้บริหาร เป็นกรรมการบริหารต่าง ๆ

ถ้าหากคนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจบทบาทในการบริหารแล้วปัญหามักจะตามมา เช่น

1. การโยกย้าย สั่งงาน โดยพละการ - ระบบตามใจฉัน ฉันเห็นสมควรว่าคนนี้ควรอยู่แผนกไหนก็ต้องทำตามที่บอก มีการแทรกแซงเรื่องงานและระบบการบริหารตลอดเวลา

2. การอายัดเงินเดือน - เป็นเรื่องแปลกที่ยังพบเห็นในหลายหน่วยงาน เมื่อผู้บริหารระดับสูงเห็นว่าพนักงานดำเนินการไม่ถูกใจตนเอง มักจะถูกอายัดเงินเดือน จากปกติให้รับเงินผ่านธนาคารก็จะรับเงินสดกับผู้บริหารแทน แล้วให้เหตุผลเพื่อปรับความเข้าใจ หรือเรียกมาด่าก่อนนั่นเอง

3. ตัดเงินเดือน - ถึงแม้ว่ากรมแรงงานฯ ระบุชัดว่าไม่ให้บริษัทหัก, ตัดเงินเดือนของพนักงาน แต่บางองค์กรใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมาย โดยแบ่งเงินเดือนออกเป็น เงินเดือน+ค่าคอมมิสชั่น โดยเงินเดือนจะได้น้อยมาก ๆ ที่เหลือเป็นค่าคอมมิสชัน ทำให้บริษัทสามารถหักเงินในส่วนที่เป็นค่าคอมมิสชันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

4. แก่งแย่งชิงเด่นของพนักงาน - ในเมื่อผู้บริหารระดับสูงกุมอำนาจไว้เพียงคนเดียว ทำให้พนักงานบางคนแสวงหาอำนาจเพื่อให้เป็นรองผู้บริหารเพียงคนเดียว แล้วมีอำนาจเหนือพนักงานทั่วไป หรืออยากเป็นเบอร์สองของหน่วยงาน ถึงคราวนั้นย่อมมีกลยุทธ์แปลก ๆ ให้เห็นอยู่เสมอ...

5. ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคนอื่น - เป็นปัญหาใหญ่ของการบริหารเลยทีเดียว เพราะถ้าหากสิ่งใดไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงคิดแล้ว วิธีการหรือข้อเสนอแนะของคนอื่นไม่มีทางเป็นสิ่งที่ถูก แต่ถ้าวัน เวลาผ่านไป เขาอาจจะคิดได้ว่าควรทำแล้วก็สั่งให้ทำ โดยความคิดนั้นจะเป็นของผู้บริหารทันที เผลอ ๆ จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนเสนอแนวคิดนี้ในครั้งแรก

6. แทรกแซงการทำงานฝ่ายอื่น - นอกจากหน้าที่ของตนแล้วผู้ที่หลงไหลในอำนาจจะเฝ้ามองหาข้อบกพร่อง ช่องโหว่ ของหน่วยงานอื่น เมื่อพบแล้วจะโจมตีทันที และแซกแทรงวิธีคิด วิธีทำงานตามโอกาสที่เหมาะสม ส่วนงานตนเองห้ามใครเข้ามาแตะต้อง

7. พฤติกรรมใครคือคนผิด - เป็นสิ่งที่น่าแปลกที่ผู้บริหารระดับสูงมักจะหาคนรับผิดในกรณีที่เกิดปัญหาความบกพร่องของงาน หรือการปฏิบัติ โดยไม่มองหาสาเหตุของปัญหาและหาทางแก้ไข ทั้งที่ปัญหาส่วนหนึ่งมักจะมาจากระบบที่บกพร่องเสียเอง ส่วนความดี ความชอบ ของพนักงานมักจะไม่ค่อยพิจารณา

8. ไม่มีระบบให้แต่พนักงานต้องทำตามระบบ - บริษัทเหล่านี้จะไม่มีการสร้างระบบงาน หรือกำหนดกฎเกณฑ์อะไรมากนัก แต่เวลาจะลงโทษพนักงานมักจะมีกฎระเบียบโผล่ขึ้นมาเป็นพะเรอเกวียน

9. วัฒนธรรมช่างมันเถอะ - เป็นสิ่งที่ยึดถือกันในกลุ่มองค์กรนี้ มักจะมีคำพูดเหล่านี้ ช่างมันเถอะ, ไม่ต้องซีเรียสมากหรอก, ไม่ต้องเป็นทางการมากหรอก, ประชุมอะไรนักหนา, ไม่ต้องวางแผนมากหรอก ลุยเลย...

10. ผู้บริหารเก่งกว่าพนักงาน - ปัญหานี้มักจะทำให้บริษัทถอยหลังลงคลองเลยทีเดียว เพราะผู้บริหารมักจะคิดว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่า พนักงาน และการคิด การตัดสินใจของพนักงานมักจะผิด ผู้บริหารจะต้องคอยแก้ไขปัญหาอยู่เรื่อย ๆ แต่พอมีพนักงานเก่ง ๆ ที่กล้าคิด กล้าเสนอความเห็น มักจะถูกกดไม่ให้มีความคิดเห็นใด ๆ เพียงเพราะกลัวพนักงานจะเด่นกว่า ซึ่งเป็นมหันตภัยที่สำคัญเพราะในที่สุดพนักงานที่ดี ๆ เก่ง ๆ ก็จะหายไปเหลือแต่พนักงานที่ทำตามคำสั่งเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อสังเกตจากประสบการณ์ที่เคยประสพเจอในชีวิตของการทำงาน และไม่อยากบอกเลยว่าเห็นมาเยอะมาก

แต่ถ้าบริษัทไหนที่หลุดพ้นจากการยึดติดสิ่งเหล่านี้แล้วมักจะเป็นบริษัทที่สามารถต่อสู้ในกระแสการแข่งขันได้อย่างสบาย และมีแนวโน้มจะพัฒนาไปในด้านที่ดี และแตกธุรกิจไปด้านอื่น ๆ อีกมาก

ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากการ กลัวเสียดุลอำนาจในการปกครอง หรือสั่งการ เพราะความเคยชินที่จะชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนกอยู่ตลอดเวลา เมื่อต้องมีคนมาช่วยคิด ช่วยทำ แล้วกลัวว่าถ้าพนักงานดีกว่า เด่นกว่า แล้วตนเองจะเสียหน้า หรืออื่น ๆ

ถ้าผู้บริหารสามารถมองกลับเพียงนิดเดียว โดยสนับสนุนให้พนักงานได้คิด ได้ทำ ได้ตัดสินใจ แล้วผู้บริหารเพียงกำหนดนโยบาย ตรวจสอบ ปรับปรุงวิธีการ แล้วความรุ่งเรืองขององค์กรจะไปไหนเสีย... ใช่หรือไม่ครับ... สวัสดีครับ

*** บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อสังเกต หากท่านผู้อ่านมีความคิดเห็นประการใด ถูกหรือไม่ รบกวนช่วยแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นวิทยาทาน และขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ ***

หมายเลขบันทึก: 220824เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2008 06:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 09:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะน้อง

การกลัวเสียอำนาจของเถ้าแก่  กับการกลัวเสียอำนาจของผู้ใกล้เกษียณ..เหมือนกับเปี๊ยบเลย..เอิ๊กเอิ๊ก

ขอบคุณค่ะ

ผมอยู่ในระบบราชการ

  ส่วนใหญ่ก็มักจะพบกับผู้บริหารที่กลัวสูญเสียอำนาจทั้งนั้นแหละครับ

และปัญหาในการทำงานก็จะออกมาคล้ายๆกัน  ต่างกันที่รูปแบบ

    ตามความคิดของผม ผมว่าองค์กรเอกชนไม่น่าจะกลัวสูญเสียอำนาจนะครับ  น่าจะกลัวสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า

                        ขอบคุณครัย

มีครับ...

กลัวสูญเสียผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ แต่มีบางแห่งกลัวสูญเสียอำนาจ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหุ้นส่วนหลายคน หรือพูดง่าย ๆ หากฝ่ายที่ไม่ใช่พวกเดียวกันมีอำนาจในการดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วก็คอยจ้องจับผิด เพื่อเป็นการดิสเครดิต แล้วอยากให้อำนาจการตัดสินใจนั้นเป็นของตนเอง เป็นต้น

เพราะถ้าหน่วยงานที่เป็นระบบระเบียบ อำนาจในการดำเนินการบางอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอน เช่น การพิจารณาลงโทษอะไรสักอย่าง ผู้บริหารระดับสูงไม่สามารถจะตัดสินตามอำเภอใจ ต้องส่งเรื่องให้ฝ่ายพัฒนาฯ หรือฝ่ายบุคคลเป็นผู้ดำเนินการ อะไรทำนองนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท