Write สาระ (๑๓) ครูรังแกเขา พ่อแม่รังแกฉัน


ทำร้ายด้วยปรารถนาดี

Write สาระ (๑๓)   ครูรังแกเขา พ่อแม่รังแกฉัน

            คุณครูหลายคนทำร้ายลูกศิษย์ด้วยความปรารถนาดี

            สัปดาห์ที่ผ่านมา  นักเรียนเลือกสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม หลายคนเลือกในวิชาที่ตนเองอยากเรียน แต่มีจำนวนมากเลยทีเดียว ที่เลือกวิชาเพิ่มเติมโดยการหยิบยื่น จากคุณครูในนามของความปรารถนาดี   แล้วผลที่ตามมาก็คือ นักเรียนส่วนใหญ่เบื่อหน่าย ไม่สนใจในวิชาที่ตนเลือก

คงเหมือนดังที่พ่อแม่หลายคน พยายามวางทางเดิน แผนการใช้ชีวิตให้กับลูก ๆ  ซึ่งแผนการของพ่อแม่ ที่วางไว้ มักจะสวนทางกับแผนชีวิตของลูกอยู่บ่อย ๆ

ครั้งหนึ่ง นักศึกษากลุ่มหนึ่งประท้วงรัฐบาลศรีลังกา  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐพยายามเกลี้ยกล่อมให้นักศึกษาหยุดการประท้วง  แต่ก็ไม่เป็นผล  จึงไปนำตัวบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองมาให้ทำการเกลี้ยกล่อม    เจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าวว่า “พวกเธอไม่เชื่อฟังพ่อแม่ของเธอหรือ”  กล่าวกันว่านักศึกษาคนหนึ่งพูดว่า  ถ้าหากเจ้าชายสิทธัตตะ เชื่อฟังพ่อแม่  ตอนนั้นคงจะไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

            ....ข้อนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิด  พ่อแม่และครูอาจารย์ เป็นผู้ที่มีความปรารถนาดีแก่ลูกและศิษย์เป็นที่ตั้ง  แต่บางครั้งความปรารถนาดีก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

            นับว่า  โลกนี้ยังโชคดีอยู่ไม่น้อย ที่มีลูก ๆ บางคน ดื้อรั้น ไปยอมเดินไปตามแผนที่พ่อแม่กำหนดให้ และหันไปทำงานอย่างที่ตัวเองชอบและมีความหวังที่จะบรรลุซึ่งความสำเร็จ

            อลิซาเบธ ไน หญิงสาวผมแดง ผู้ต่อต้านอย่างเหนียวแน่น ด้วยการอดอาหาร เมื่อพ่อแม่ของเธอ ไม่ยอมให้เรียนศิลปะสาขาประติมากรรม  จนผู้ปกครองทั้งสอง ถึงกับต้องขอร้องให้บาทหลวงเจ้าคณะภาค ช่วยเกลี้ยกล่อมลูกสาวหัวรั้น ให้ล้มเลิกความตั้งใจ  แต่ก็ไร้ผล  ซึ่งต่อมาภายหลัง  ปรากฏว่าศิลปินสาวผู้นี้ ได้มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก  ด้วยการปั้นรูปบุคคลสำคัญได้อย่างมีชีวิตชีวา

            บิดาของ ไอแซค นิวตัน เสียชีวิต ก่อนที่ลูกชายผู้ยิ่งใหญ่ของเขาจะลืมตาดูโลก  แม่ของเขา พยายามให้เขาดำเนินอาชีพชาวไร่  แต่ก็ไม่ได้ผล  เขาทำงานในฟาร์มอย่างขอไปที  ดังนั้นเธอจึงส่งเขาเข้าเรียน   จนในที่สุดเขาก็ได้ประดิษฐ์สูตรทางคณิตศาสตร์  ที่เรียกว่า “ดิฟเฟอเรนเชียล แคลคิวลัส” ขึ้น และเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ความคิดเกี่ยวกับแรงดึงดูดของโลก

            ฟลอเร้นซ์  ไนติงเกล  ก็เช่นกัน พ่อแม่ผู้มีฐานะของเธอ  ปฎิเสธความต้องการของลูกสาว ที่จะเป็นนางพยาบาล  หาว่าเป็นงานต่ำ ๆ แต่เธอก็ดื้อดึงทำงานนี้จนได้ และยกระดับงานพยาบาลให้สูงขึ้น

            เธอเป็นผู้หญิงคนแรก  ที่ได้รับเหรียญ “ออร์เดอร์  ออฟ เมอริต” เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๗

            มีตัวอย่างอีกมากมาย  เขาเหล่านั้นเป็นเจ้าของศักยภาพที่พ่อแม่และคุณครูไม่ได้เฉลียวใจเลย ว่ามันซ่อนเร้นอยู่ในร่างของเด็ก ๆ

            ไม่มีใครรู้หรอกว่า มีมนุษย์อีกมากน้อยเพียงใด ที่ประกอบการงานไปวัน ๆ อย่างซังกะตาย และประสบความสำเร็จเพียงแค่ผิวเผิน

            ทั้งนี้เพราะเขาเหล่านั้น ปล่อยให้ผู้อื่น ซึ่งอาจจะเป็นพ่อแม่ คุณครูหรือใครก็ตามวางแผนชีวิตให้  จงปล่อยให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองว่า  จะวางเข็มทิศชีวิตไปทางไหน  เพราะถ้าหากมีผู้อื่น  มาตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิตให้  จิตใจของเขาก็จะมีความมานะ พยายามเพียงครึ่งเดียว

(บางส่วนจาก หนังสือคู่มือคนรักงาน ของโดนัลต์  เอ.  แลร์ด

หมายเลขบันทึก: 220263เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2008 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท