ผูกมิตรสร้างสามัคคี (ตอนจบ)


วิธีผูกมิตร ซึ่งวิธีการสร้างไมตรีในทางพุทธศาสนา คือ สังคหวัตถุ แปลว่า  หลักธรรมเป็นเครื่องสงเคราะห์กัน  หมายถึง คุณธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน มี 4 ประการ เราได้กล่าวไว้แล้วเมื่อตอนแรก 2 ประการ  คราวนี้ขออธิบายต่อเพื่อความเข้าใจว่า เหตุใดเราจะต้องรักกลมเกลียวกัน มีความสามัคคีกัน 

อยากอยู่ในสังคมแบบไหน  ก็จงทำตัวแบบนั้นเถิด   

ประการที่ 3     อัตถจริยา คือ ทำตัวให้เป็นประโยชน์    มีคำกล่าวอยู่ว่า

 

รกคนดีกว่ารกหญ้า แต่ถ้ารกคนชั่วช้า รกหญ้าดีกว่ารกคน

 

เราอย่าทำตัวให้เป็นคนรกโลก  เราเกิดมาบนโลกบริโภคทรัพยากรของโลก ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์  คืออย่าอยู่นิ่ง  ต้องเป็นคนขวนขวาย   ดังภาษิตว่า

 

อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น

 

 คือรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์  ทำให้คนอื่นเขานึกถึงเรา  อยู่ให้เขาไว้ใจ จากไปให้เขาคิดถึง  บางคนขาดเรียนไปวันหนึ่ง  พอวันรุ่งขึ้นมาเรียน  ถามเพื่อนว่าเมื่อวานเรียนอะไรกันบ้าง  อาจารย์ถามถึงผมบ้างไหม เพื่อนหันมาถาม  เอ๊ะ!  เมื่อวานนายไม่มาหรือ ?   อย่างนี้แสดงว่าไม่มีประโยชน์อะไรในห้องเรียนเลย  ความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ  ไม่มีอะไรให้จดจำ  จะมาหรือไม่มามีค่าเท่ากัน คนนี้จะอยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่มีผลอะไรต่อส่วนรวม  อย่างนี้แสดงว่าไม่ทำตัวให้เป็นประโยชน์  

อาตมามีพระเพื่อนกันตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์  ปกติเริ่มเรียนตอนบ่ายโมง  ก็ต้องเดินทางออกจากวัดมาประมาณเที่ยงวัน  ถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ใกล้บ่ายโมง  กำลังร้อน  ปกติจะมีตู้น้ำเย็นเล็กๆอยู่ตู้หนึ่งที่หน้าห้องเรียนชั้นสาม มาถึงกำลังเหนื่อย พระท่านก็ฉันน้ำครู่เดียวก็หมด เพราะว่าต่างองค์ต่างร้อน ต่างองค์ต่างกระหาย  ภารโรงก็เอาถังน้ำมาใส่ไว้ให้แค่ถังเดียว  พอเพื่อนรูปนี้มาถึงท่านจะรีบเอาถังน้ำลงไปรองน้ำข้างล่าง  แล้วยกขึ้นมาชั้นสามเอามาเติมให้  เพื่อน ๆ ก็ได้ฉันอย่างเพียงพอ   ทั้งที่ไม่ได้เป็นหน้าที่อะไรของท่านหรอก   แต่ท่านเห็นว่าน้ำหมด  ท่านก็ไปตักมาเติม  ภารโรงเขาไม่ได้มาดูหรอกว่ามันหมดหรือยัง  ท่านทำอย่างนี้ของท่านประจำ ไม่มีใครใช้   ท่านทำของท่านเอง ก็ไม่มีใครที่จะนึกประหลาดใจหรือเห็นความสำคัญอะไรหรอกนะ  ก็เห็นเป็นปกติ  ไม่ได้รู้สึกว่ามันสำคัญอะไรหรอก  แต่มีอยู่วันหนึ่งท่านเกิดติดธุระมาเรียนไม่ได้ มาถึงพระก็ฉันน้ำกันตามปกติ ปรากฏว่า สักครู่เดียวน้ำหมด ใครๆก็เดินมาที่ตู้น้ำเย็น อยู่ห้องเรียนแถวนั้นก็เดินมาที่ตู้น้ำ  มาถึงต่างก็อุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า  เอ้า! น้ำหมดแล้วหรือ  กระหายน้ำจังเลย   ก็ถามถึงกันขรมว่า เอ๊ะ! ท่านรูปนั้นไม่มาหรือวันนี้ รู้กันทั่วเลย ว่าพระรูปนั้นไม่ได้มาเรียน ทุกคนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า   เพราะอะไร ?   เพราะท่านทำตัวให้เป็นประโยชน์  ผู้คนจึงนึกถึง  เราจะต้องรู้จักทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่โลก เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ   แก่ที่ ๆ เราอยู่อาศัย   คนอื่นจึงจะนึกถึง  พอมีความเดือดร้อน  ขาดเหลืออะไรขึ้นมา  จะต้องนึกถึงคนนี้  มาหาคนนี้  นี่แสดงว่าทำตัวเป็นประโยชน์แล้ว

ถ้าเกิดว่าร้อยวันพันปีไม่มีใครถามถึง ไม่มีใครนึกถึง แสดงว่าคนๆ นี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทุกคนลองสำรวจตัวเองซิว่า  ทุกวันนี้เราทำตัวให้มีประโยชน์อะไรแก่ใคร  บ้างไหม  ถ้าอยากมีเพื่อนฝูงมีคนรู้จักเยอะ ๆ   เราจะต้องรู้จักทำตัวให้มีประโยชน์นะ  ถึงจะมีความสำคัญมีคนนึกถึง

 

            ประการที่ 4     สมานัตตตา คือ วางตัวสม่ำเสมอ  

รู้จักวางตัวให้เหมาะสม ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย และให้ความเสมอภาคแก่ทุกผู้ทุกนาม พูดง่ายๆ ว่า ทำตัวให้เข้ากับเขาได้ ไม่ใช่ไปอยู่ที่ไหนก็มีแต่ปัญหามีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้อื่น มีแต่ความวุ่นวาย เข้าที่ไหนวุ่นวายที่นั่น นี่แสดงว่าไม่มีสมานัตตตา คือไม่รู้จักวางตัวให้เหมาะสม  เราต้องรู้ฐานะของเรา  เราเป็นเด็กก็ต้องมีความสุภาพ อ่อนน้อม เคารพยำเกรงผู้ใหญ่  ไม่ใช่ตีตัวเสมอท่าน  ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องวางตัวให้เหมาะสม เป็นผู้ใหญ่ที่น่าคารพ  เป็นผู้ใหญ่ที่ผู้คนยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ   ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วมาทำตัวเหมือนเด็ก  คลุกคลี เฮฮากันเกินไป ก็เกินขอบเขต  ไม่ถือตัว แต่ว่าอย่าถึงกับปล่อยตัวจนไม่เหมาะสมกับฐานะ  เราต้องรู้จักฐานะ  รู้จักอะไรควรไม่ควร  แล้วต้องไม่เอาเปรียบคนอื่น ให้ความเสมอภาคยุติธรรมแก่ทุกคนเสมอเหมือนกัน  

เสมอต้นเสมอปลายนั้น  ตีความได้อีกอย่างว่าร่วมสุขร่วมทุกข์ สุขก็ร่วม ทุกข์ก็ไม่หนี  เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่เอาแต่สุข  พอเจอทุกข์หนีเลย  อย่างนี้ใช้ไม่ได้  และเคยดีอย่างไรก็ให้ดีอย่างนั้น ไม่ใช่เคยรักใคร่เข้าใจกันดี  เห็นใจช่วยเหลือกัน  แต่พอมีฐานะเข้าหน่อยไม่คบแล้วคนพวกนี้ ไปคบเฉพาะคนที่อยู่ในสังคมสูง   ลืมเพื่อนเก่าๆ ลืมญาติมิตรแล้ว  อย่างนี้แสดงว่าไม่มีสมานัตตตา  ต้องดีเสมอต้นเสมอปลาย  ไม่ใช่ว่าชั่วเสมอต้นเสมอปลายนะ  อย่างนั้นต้นคดปลายคด  ใช้ไม่ได้  แต่ถ้าปรับปรุงไปในทางที่ดี  ต้นคดปลายตรงอย่างนั้นใช้ได้   เราต้องไม่ดูถูกคน  เป็นคนเห็นคุณค่าของคน ไม่คบคนเพราะผลประโยชน์  ทำอย่างนี้จะมีความสุข  มีมิตรสหายมากมาย เกิดความสามัคคีขึ้นในสังคม

            ในที่นี้อยากจะเสริมว่า  แม้แต่ทำความดีนี่  อย่าทำคนเดียว  จริงอยู่ อะไรที่ทำคนเดียวได้ก็ทำไปเลย  ไม่ต้องไปมัวรออะไร  แต่ว่าถ้าชวนกันทำ   ร่วมมือกันทำได้ก็ยิ่งดีขึ้นอีก พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า 

 

(กรณีที่ 1)  คนบางคนเกิดมารูปสวย  รวยทรัพย์   แล้วก็มีญาติมิตรเพื่อนฝูงมากมาย  

(กรณีที่ 2) แต่ว่าบางคนมีแต่ทรัพย์ ไม่มีญาติมิตร  ไม่มีคนจริงใจ  ไม่มีสหายร่วมทุกข์ร่วมสุข  

(กรณีที่ 3)  แต่บางคนญาติเยอะแยะ เป็นครอบครัวใหญ่มิตรสหายมากมาย  แต่ว่าไม่ค่อยมีเงิน  มีแต่บริวารสมบัติ  ไม่มีทรัพย์สมบัติ  

(กรณีที่ 4)   แต่บางคนทรัพย์สมบัติก็ไม่มี บริวารสมบัติก็ไม่มี  อยู่อย่างแร้นแค้นและโดดเดี่ยว   เพราะอะไร ?  

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า  คนบางคนทำความดีเองแล้วชักชวนคนอื่นทำด้วย  ไม่รีรอเลย  อะไรที่เป็นความดีขวนขวายทำ  พยายามที่จะทำตามสติกำลัง แล้วไม่ได้ทำแค่คนเดียว  ชวนคนอื่นทำร่วมกันด้วย   จะเด็ก  ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย  ชวนกันมาเลย  ก็มีคนมาร่วมกันทำด้วยจิตใจอิ่มเอิบเบิกบาน เต็มใจ สมัครสมานสามัคคี  นี่พอเกิดมาจึงมีทรัพย์สมบัติมากเพราะทำบุญไว้เยอะ และยังชักชวนคนอื่นทำด้วย  คือสร้างบุญมาร่วมกัน เลยทำให้เกิดมามีมิตรสหายมากมาย  มีคนรักใคร่เยอะแยะ ไปที่ไหนมีแต่เพื่อนมีแต่คนรู้จักมีความอบอุ่น แต่บางคนคิดว่า เอ๊ะ! เราจะทำความดีมันก็เป็นเรื่องของเรา   ใครจะทำไม่ทำมันก็เป็นเรื่องของเขา  อันนี้มันก็ถูก   แต่ว่าถ้าไม่ชวนใครเลย คือนึกจะทำก็ทำเลย ใครจะทำไม่ทำนี่ ไม่ได้คิดถึง  ทำส่วนตัวอย่างเลย  อันนี้ก็เกิดมามีทรัพย์สมบัติมากเพราะทำบุญไว้   แต่ว่าไม่มีบริวารสมบัติ  เพราะว่าไม่ได้ชักชวนใครทำ ไม่ได้ร่วมมือกันทำบุญ  ไม่ได้สร้างบุญร่วมกันกับใครไว้  ก็จะมีชีวิตที่มีความสุขมีทรัพย์สมบัติ  แต่ว่าโดดเดี่ยวไม่มีคนรู้ใจ ไม่มีคนเข้าใจ  ไม่มีมิตรสหาย  ก็เพราะว่าเขาคิดอย่างนั้น คือคิดว่าบุญกุศลเป็นเรื่องส่วนตัวไม่ต้องไปชวนใครที่จริงแล้วมันยังไม่ถูกแท้  ไม่สมบูรณ์

 

ชวนก่อน  แนะนำ ก่อน  แต่เขาจะทำไม่ทำไม่ต้องไปบังคับ  มันอยู่ที่เขา

แต่เราต้องชวนก่อน พยายามแนะนำไปในทางที่ดี 

เราก็จะได้มิตรบริวารมากมาย   แต่บางคนเที่ยวชวนเขาทำบุญทั่วไปหมด ชวนทอดกฐิน  ผ้าป่า ชวนไปทำบุญที่วัดโน้นวัดนี้  ร่วมกับเขาทุกคณะ ไปกับเขาทุกขบวนเลย  แต่ตัวเองไม่ค่อยทำหรอก  อาจจะไม่ค่อยมีหรืออาจจะมีศรัทธาไม่มาก  แต่ว่าชอบ ชอบไปงานบุญงานกุศล ชอบชวนคนอื่น  เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง  บอกบุญให้   แต่ตัวเองไม่ได้ทำอะไรเท่าไรนัก   เลยเกิดมามีเพื่อนฝูงเยอะแยะเพื่อนรวยๆทั้งนั้น   แต่ว่าตัวเองไม่ค่อยร่ำรวยอะไรกับเขา  

คนอย่างนี้เราจะเห็นมาก  เพราะฉะนั้นอย่าทำคนเดียว และอย่าเอาแต่ชวนคนอื่นเท่านั้น   ต้องทั้งทำเองด้วย ชวนคนอื่นด้วยนะ   แต่บางคนไม่เคยคิดที่จะทำเองและก็ไม่เคยชวนคนอื่นทำ  เกิดมาจึงยากจนขัดสนแล้วยังมีชีวิตที่โดดเดี่ยวอ้างว้างอีกด้วย   เราก็เห็นมีอยู่ในสังคมไม่น้อยเหมือนกัน   เพราะฉะนั้น ให้หมั่นทำบุญกุศลและชักชวนคนอื่นด้วย  มีชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ พอกินพอใช้มีความสุขสมบูรณ์และมีมิตรสหาย  ชีวิตก็มีความสุข    ฉะนั้น จงอยู่อย่างรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกัน อยู่อย่างหวังดีต่อกัน อยู่อย่างคนรักกัน เท่านี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว 

 

ตีพิมพ์ในนิตยาสาร  การศึกษาอัพเกรด  ฉบับที่ 040  

ประจำวันพฤหัสบดี ที่  26  กรกฎาคม  - 2  สิงหาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 219795เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

  • ครูอ้อย มาตั้งใจอ่านเจ้าค่ะ
  • ชอบเรื่องเล่า พระรูปนั้น  นำน้ำมาให้เพื่อนฉันทุกวัน 
  • พอวันนั้น  ไม่มา เพื่อนๆ ก็เลยรู้ว่า  พระรูปนั้น  ไม่ได้มาเรียนน่ะเจ้าค่ะ
  • ทำให้รู้ตัวเองเลยว่า..มีส่วนคล้ายแบบนั้น เจ้าค่ะ ครูอ้อย ได้ปฏิบัติหน้าที่  ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของครูอ้อยเลยเจ้าค่ะ
  • เวลาผ่านไป ความดีก็ปรากฎเอง เจ้าค่ะ  มีความสุขใจดีเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากเจ้าค่ะ

นมัสการขอบพระคุณในข้อคิดดีๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ครับ

สวัสดีคะ ขออนุญาตใช้คำนี้นะคะ เป็นมุสลิมคะ ไม่กล้าใช้คำนมัสการ ไม่แน่ใจว่าใช้ได้มั้ย ขอถามแม่ก่อนค่ะ

"ทำความดีอย่าทำคนเดียว" จริงคะ มุสลิมจะละหมาดร่วมกัน ได้ผลบุญมากกว่าละหมาดคนเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท