People Power Revolution : การปฏิวัติประชาชน


People Power Revolution หรือ การลุกฮือของมวลมหาประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม จึงเป็นทางออกหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยในสังคมที่พลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะต่อความไปของบ้านเมือง

"" เป็นศัพท์ที่รู้จักกันดีในวงรัฐศาสตร์โลก หมายถึง การลุกฮือของมวลมหาประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม ลักษณะเดียวกับคำว่า "People Uprising"

 People Power Revolution

ถ้าประชาธิปไตย (Democracy) คือ แนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิที่จะปกครองตนเอง ดังสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln - 1861-1865) ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกาที่ว่า "การปกครองในระบอบประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน และไม่มีวันตายไปจากโลกนี้" - "Government of the people, by the people, for the people, shall not perish from the earth" นั่นคืออำนาจในการปกครองประเทศจะต้องมาจากประชาชนหรือได้รับความยินยอมจากประชาชน

แม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่บางประเทศก็เป็นประชาธิปไตยเพียงในนาม บางประเทศเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีเสรีภาพ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ บางประเทศเป็นประชาธิปไตยเชิงเสรี และบางประเทศก็พัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรัฐบาล และมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอ

ในอดีตที่ผ่านมาสังคมไทยก็เฉกเช่นเดียวกับหลายประเทศในโลกที่นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาใช้ นั่นคือเมื่ออำนาจตกไปอยู่กับนักการเมืองที่ส่วนใหญ่ใช้เงินซื้อเข้าสู่การเมืองแล้ว นักการเมืองเหล่านั้นกลับใช้อำนาจนั้นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องทั้งที่ชัดแจ้ง และไม่ชัดแจ้ง โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริงไม่สามารถทำอะไรได้

แต่เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่โลกาภิวัตน์ หรือยุคที่ความลับไม่อาจมีในโลกได้ต่อไปอีกแล้ว นักการเมืองไม่สามารถปกปิดพฤติกรรมชั่วของตน จากประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศที่แท้จริง ประชาชนไทยในวันนี้ จึงเริ่มตื่นตัวทางการเมืองและเกิดสำนึกสาธารณะในอันที่จะไม่ให้นักการเมืองที่ไม่ดีสามารถบริหารบ้านเมืองได้ตามใจชอบอีกต่อไป ดังที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลิงคอล์น ได้กล่าวไว้ว่า "คุณอาจจะหลอกคนทุกคนได้ในบางเวลา คุณอาจจะหลอกคนบางคนได้ตลอดเวลา แต่คุณไม่สามารถหลอกคนทุกคนได้ตลอดเวลา"

การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ที่มากกว่าการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้เริ่มก่อตัวมาเป็นระยะเวลากว่า 35 ปี หากแต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานพอสมควรที่คนไทยและสังคมไทย จะมีสำนึกสาธารณะทางการเมือง การเห็นประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้งมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มากกว่าคำว่าธุระไม่ใช่ มากกว่าคำว่าอย่าหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว มากกว่ารักตัวกลัวตาย จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 หรือวันมหาวิปโยค อันเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทย มากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร
ที่ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งนักศึกษาและประชาชนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้งเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่างๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน จากวันนั้นถึงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 1 แสนคน ได้ประกาศเคลื่อน "กองทัพประชาชนกู้ชาติ" ย้ำรัฐบาลหุ่นเชิดไร้ความชอบธรรม โกงเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจล้างผลาญบ้านเมือง ย่ำยีรัฐธรรมนูญ ซ่องสุมผู้คนทำลายสถาบัน ฉ้อฉลงบประมาณ 1.8 ล้านล้าน ใช้สื่อของรัฐบิดเบือนข้อมูล เปรียบบ้านเมืองกำลังถูกโจรปล้น อันตรายยิ่งกว่าเสียกรุง ลั่นพามวลชนรุกไปข้างหน้า กำจัดโจรปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ให้สำเร็จเป็นราชพลี

นี่คือก้าวสำคัญที่ประชาชนได้เริ่มตระหนักถึงความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอันแท้จริง และไม่ยอมให้นักการเมืองชั่วเข้ามาบริหารประเทศ หรือเข้ามาใช้อำนาจตามใจชอบอีกต่อไป แม้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นของภาคประชาชนหลายครั้งต้องแลกมาด้วยความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การเข่นฆ่าจากเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนด้วยกันเองที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม เหตุการณ์เช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลยหากนักการเมืองมีจิตสำนึกที่จะอุทิศตนเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยย่อมเจริญงอกงาม ประชาชนมีความสุขและไว้วางใจให้นักการเมืองทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามหลักการของประชาธิปไตยอย่างไร้ข้อกังขา แต่ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนักการเมืองร่วมมือกับนายทุน หรือนายทุนเข้ามาเป็นนักการเมืองเสียเองโดยใช้เงินซื้อเสียง ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเอง ธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง การทุจริตโกงกิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างไร้ยางอาย ขาดสามัญสำนึก จิตสำนึก หรือความกล้าหาญที่จะแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง (Spirit) ตรงกันข้ามนักการเมืองส่วนใหญ่กลับไร้ยางอาย ทำได้ทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด เพื่ออำนาจ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

People Power Revolution หรือ การลุกฮือของมวลมหาประชาชนเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรม จึงเป็นทางออกหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยในสังคมที่พลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะต่อความไปของบ้านเมืองมากพอ เพราะการจะทำเช่นนั้นได้จำต้องใช้ความกล้าหาญ ใช้ความร่วมมือของมวลชนจำนวนมหาศาล มิเช่นนั้นแล้วก็จะพ่ายแพ้อำนาจชั่วของรัฐบาลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่รัฐบาลเผด็จการทหาร หรือเผด็จการพลเรือนที่ไร้สำนึก ขาดคุณธรรม จริยธรรมและ Spirit ทางการเมือง

การใช้สิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบเพื่อแสดงความคิดเห็น สนับสนุน คัดค้าน หรือขับไล่รัฐบาลหรือนักการเมือง จึงเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยแบบตัวผู้แทน การออกมาของภาคประชาชน ก็คือ ประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม และ/หรือ ประชาธิปไตยโดยตรง ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น หรือ Active Citizen ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอด ตั้งแต่ร่วมเคลื่อนไหว ร่วมผลักดัน ร่วมตัดสินใจ ร่วมลงมือ และร่วมตรวจสอบ ไม่ใช่แค่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วหยุด ปล่อยให้นักการเมืองใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนตามใจชอบ

ความสำเร็จของ People Power Revolution หรือ การปฏิวัติประชาชน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดและกล่าวถึงอย่างกว้างขวางก็คือ The People Power Revolution หรือ EDSA Revolution and the Philippine Revolution of 1986 หรือ Yellow Revolution (เนื่องจากประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ติดริบบิ้นสีเหลือง) เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการลุกฮือของประชาชนที่ประเทศฟิลิปปินส์เพื่อขับไร้ผู้นำชั่วอย่างอดีตประธานาธิบดี Ferdinand Emmanuel Edral'n Marcos (1917-1989) ในปีพ.ศ. 2529 และในที่สุดชัยชนะก็เป็นของประชาชน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ People Power Revolution -http://en.wikipedia.org/wiki/People_Power_Revolution

ประเทศไทย ในวันนี้คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่จะสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย หรือธรรมาธิปไตยอย่างแท้จริง การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย หากนักการเมือง หรือผู้บริหารประเทศยังขาดคุณธรรม จริยธรรม ไร้ความละอายที่จะกระทำความชั่ว กระทำการทุจริตโกงกิน ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ดังนั้น จึงดูเหมือนว่าหนทางเดียวที่จะปูทางไปสู่การพัฒนาการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพและคุณธรรม ก็คือการให้การศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบแก่เด็กและเยาวชนของชาติ การมีสื่อสาธารณะไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมือง อำนาจรัฐ กลุ่มทุน หรือกลุ่มผลประโยชน์ใดกลุ่มผลประโยชน์หนึ่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยบ่มเพาะให้พลเมืองมีจิตสำนึกสาธารณะต่อสังคม เห็นประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง
ไม่เพิกเฉยที่จะลุกขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติจากคนชั่ว ซึ่งกว่าที่สังคมไทยจะเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดก็อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน "การปฏิวัติประชาชน" หรือ People Power Revolution ที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้

...แต่อย่างน้อยการรวมตัวกันของพลเมืองที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย - People's Alliance for Democracy (PAD) ในวันนี้จึงเป็นต้นกล้าของ People Power Revolution ที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต เพื่อราชอาณาจักรไทย เพื่อชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน.

ทศพนธ์ นรทัศน์
[email protected]

หมายเลขบันทึก: 219779เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แวะมาอ่านค่ะ ขอบคุณค่ะ

แต่โดนด่าเยอะเหลือเกินครับ นับวันยิ่งอันตราย เพราะต่อสู้กับอำนาจรัฐ

        ขอชื่นชมในการใช้ภาษาที่เป็นสากล นุ่มนวลชวนฟังและชวนอ่าน ปราศจากคำส่อเสียด คำหยาบ คำเพ้อเจ้อ ทำให้เป็นการเพิ่มเครดิตให้ผู้พูดหรือผู้เขียน

        สาเหตุหนึ่งที่คนเสียเครดิตขาดคนเคารพนับถือและขาดความยำเกรง ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ภาษาที่หยาบคาย แม้ว่าเขาผู้นั้นจะมีอายุมากหรือสถานะทางสังคมจะดีก็ตาม

๒๖ สิงหา ๕๑ อย่าเรียกว่าปฏิวัตประชาชน เป็นแต่เพียงวาระซ่อนเร้นของกลู่มอำนาจนอกรัฐธรรมนูญการสร้างมายาภาพชวนเชื่อขึ้นโดยใช้พวกกลุ่มหลงยุคพันธมิดเป็นเครื่องมือ ผนวกระบอบกับตุลาการวิบัติ หาควรยกเป็นตัวอย่างการปฏิบัติประชาชนไม่

26 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมประท้วงครั้งสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมจากทุกจังหวัดทั่วประเทศกว่า 1 แสนคน ได้ประกาศเคลื่อน "กองทัพประชาชนกู้ชาติ" ย้ำรัฐบาลหุ่นเชิดไร้ความชอบธรรม โกงเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจล้างผลาญบ้านเมือง ย่ำยีรัฐธรรมนูญ ซ่องสุมผู้คนทำลายสถาบัน ฉ้อฉลงบประมาณ 1.8 ล้านล้าน ใช้สื่อของรัฐบิดเบือนข้อมูล เปรียบบ้านเมืองกำลังถูกโจรปล้น อันตรายยิ่งกว่าเสียกรุง ลั่นพามวลชนรุกไปข้างหน้า กำจัดโจรปล้นชาติปล้นแผ่นดิน ให้สำเร็จเป็นราชพลี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท