การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน (ตอนที่ 3)


ขอขอบคุณท่านผู้ชมเพลงพื้นบ้านทุกท่าน ที่ยังไม่ลืมศิลปะการแสดงท้องถิ่น

การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน

ด้านการแสดงประจำท้องถิ่น (ตอนที่ 3)

ชำเลือง มณีวงษ์  รางวัลพุ่มพนมมาลา

                       ราชมงคลสรรเสริญ

                       ด้านการแสดงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2547

         

ผมไม่อยากให้สิ่งที่ดี มีคุณค่าของแผ่นดินต้องลดน้อยถดถอยลงไป จนในที่สุดอาจจะไม่มีปรากฏบนแผ่นดินในอนาคตอันใกล้นี้  เพราะเราไม่มีทายาทตัวแทนที่แท้จริงเข้ามารับหน้าที่อย่างมั่นคง  บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะกระทำได้ ยังมีอีกหลายช่องทาง แต่ในบางช่องทางก็ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อย แต่กลับไปส่งผลให้ผู้จัดทำมากกว่าที่จะทำให้ไปส่งผลกระทบต่อภาพรวมของชาติ ในคำว่า คงอยู่ได้

 

ผู้ชมในท้องถิ่นนั้นๆ มีความเข้าใจในคุณค่าของภูมิปัญญาด้านนี้

 

        ท่านผู้ชมในแต่ละท้องถิ่นมีความต้องการรับสารข้อมูลที่แตกต่างกัน การนำเสนอผลงานในแต่ละสถานที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปโดยตลอด เพื่อมิให้เกิดความจำเจ ล้าสมัย สถานที่ก็มีส่วนในการนำเสนอผลงาน ท่านผู้ชมในสถานที่ประชุม ชุมนุม สารประโยชน์ที่เขาอยากรู้ อยากได้จะต้องสอคล้องกับงานหรือกิจกรรมที่กลุ่มนั้น ๆ ดำเนินการอยู่ ผู้ชมที่มาให้กำลังใจตามงานวัด อาจชอบเพลงสนุกเฮฮาว่ากันตรง ๆ

       

 

        เพลงพื้นบ้านมีคุณค่า มีคุณค่าในตัวบทร้องทำนองของเพลง เพลงสำหรับเยาว ชนก็ควรที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่นำเสนอได้โดยเยาวชน เพลงพื้นบ้านของนักแสดงศิลปินก็อาจจะเข้มข้น ถึงพริกถึงขิง ว่ากันดุเด็ดเผ็ดมันร้อนแรง แต่ท่านลองนำเอาเพลงของศิลปินนักแสดงมาฝึกให้เด็ก ๆ เยาวชนเล่น ถ้อยคำสำนวนจะไม่สอดรับกับวัยของเขาทำให้นักดูเพลงที่มีความเข้าใจมองรู้ได้ว่า แข็งกระด้างไม่อาจที่จะรับสารแบบนั้นได้

 

        ผมดีใจที่ยังมีครู อาจารย์ในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่จังหวัดสุพรรณบุรี ให้ความสนใจศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน  บางกลุ่มถึงกับคิดสร้างสรรค์สื่อการสอน นำเอามาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน บางท่านคิดกระบวนการขั้นตอนวิธีการสอนเพลงพื้นบ้านขึ้นมา จัดทำเป็นเอกสาร บางท่านสละเวลาไปแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้ฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่เคยได้ไปฝึกหัดเพลงพื้นบ้านจากครูเพลงต้นตำรับเลย  น่าเสียดายที่บุคคลเหล่านั้นไม่เคยผ่านประสบการณ์ตรงในการแสดงมาเลย และที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูลเป็นจำนวนมากออกไปจากสิ่งที่ผมเดินทางไปสืบค้นมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี  บางคนนำเอาข้อมูลของผมไปลงไว้ในตำราเล่มใหญ่ ๆ ของเขาเสียด้วยซ้ำ

       

 

        ตรงจุดนี้เอง จึงทำให้ผมมองเห็นว่า กำลังจะเกิดผลกระทบในทางตกต่ำลง หากมีผู้ที่คิดได้ มองไปในอนาคตข้างหน้า คนอย่างผมอายุใกล้ 60 ปีแล้ว คงมีเวลาอีกไม่นานที่จะยื้อ ฉุดรั้งของดีของแผ่นดินเอาไว้ได้ ถ้าไม่มีคนมาช่วย ของแท้ที่ผมและครูเพลงในยุคเดียวกันได้รับมาก็ค่อย ๆ หมดไป สิ่งที่จะได้มองเห็นในอนาคต อาจเป็นเพียง เพลงรำอีแซว (ความจริงเป็นเพลงร้องโต้ตอบ) เพลงอีแซวทรงเครื่อง (ความจริงมีแต่เพลงฉ่อยทรงเครื่องเล่นแบบลิเก แต่ร้องเป็นเพลงฉ่อย)

 

ผลกระทบ ที่ควรนำเอามาคิดป้องกันและแก้ไข ได้แก่

1. ข้อมูลไม่กว้างขวาง ไม่มีผู้ที่จะเดินทางไปสืบค้นหาข้อมูลมาเพิ่มเติมจึงทำให้มีข้อมูลด้านนี้แคบลงไปทุกที ๆ จนในที่สุดเหลือเพียงผลงานทางวิชาการให้อ่าน เรียนรู้ได้ แต่ไม่สามารถสอนให้เล่นได้ เล่นดี เล่นเป็นมืออาชีพเพราะต้นตำรับได้จากโลกนี้ไปแล้ว

 

2. นักแสดงรุ่นใหม่จะขาดความเคารพ ขาดความศรัทธาในตัวครูผู้สอน ถ้าเขาได้เรียนรู้จากสื่อเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่าจะจัดกิจกรรมที่เลอเลิศอย่างไร ผมเชื่อว่า ได้แค่เรียนรู้ ไม่สามารถที่จะฝึกทักษะ ให้มีความสามารถไปสู่การทดแทนคนรุ่นเก่า ๆ ได้เลย

 

3. นักแสดงรุ่นใหม่จะขาดความมีชีวิต ขาดจิตวิญญาณของศิลปินนักแสดงเพลงพื้นบ้านไปอย่างชนิดที่เรียกว่า มิอาจที่จะเรียกกลับคืนมาได้เลย เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่ได้รับรู้เลยว่า ผู้ที่เป็นครูสอนเพลงพื้นบ้านให้เขา มีความสำคัญมากมายขนาดไหน  คนเหล่านั้นจะไม่ได้รับรู้ว่า ความกล้า กำลังใจได้รับการถ่ายทอดมาอย่างไร 

 

บนเวทีชีวิตของนักเพลงพื้นบ้านที่แท้จริงนั้น  มีบุคคลเฝ้ารอชื่นชมผลงานอยู่ ที่หน้าเวที บางท่านมีความรู้มาก รอบรู้เสียยิ่งกว่าคนที่ทำตัวเป็นคณะกรรมการ รอบรู้เสียยิ่งกว่าศิลปินนักแสดง ท่านคือปราชญ์ชาวบ้านที่ถูกทอดทิ้ง ถูกลืม คือคำตอบที่เห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ภาพลวงที่กำลังเข้ามาแทนที่ โดยไม่อาจที่จะตามลบให้หมดไปจากความจริงได้ ส่วนภาพจริงถึงแม้ว่าจะยังปรากฏบนเวทีการแสดงและวิถีชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งอยู่ก็ตาม แต่ก็มีเหลืออยู่น้อยเต็มที

 

ความสำเร็จมิได้อยู่ที่เวลาเพียงชั่วข้ามคืน  ความพึงพอใจมิใช่อยู่แค่เราเพียงคนเดียว ชื่อเสียงเกียรติยศที่ได้มาอาจมีทั้งของแท้และของเทียม กาลเวลาต่างห่างจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเป็นเจ้าของนั้นเป็นของจริงหรือไม่แท้จริง โปรดช่วยกันพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าให้ได้อย่างสมภาคภูมิ

 

ขอขอบคุณท่านผู้ชมเพลงพื้นบ้านทุกท่าน ที่ยังไม่ลืมศิลปะการแสดงท้องถิ่น

หมายเลขบันทึก: 219695เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

 * ใครที่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเต็มกำลังความสามารถแล้วต้องได้คำตอบนี้เช่นกัน

ความสำเร็จมิได้อยู่ที่เวลาเพียงชั่วข้ามคืน ความพึงพอใจมิใช่อยู่แค่เราเพียงคนเดียว ชื่อเสียงเกียรติยศที่ได้มาอาจมีทั้งของแท้และของเทียม กาลเวลาต่างห่างจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเป็นเจ้าของนั้นเป็นของจริงหรือไม่แท้จริง โปรดช่วยกันพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นตัวแทนคนรุ่นเก่าให้ได้อย่างสมภาคภูมิ

* ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

ขอบคุณ ครูพรรณา

  • ขอบคุณที่ช่วยค้ำจุน ในเวลาที่เสาหลักเหลือให้ยึดเหนี่ยวน้อยลงไปทุกที
  • ใช่ครับ วันนี้เราได้ทำหน้าที่ตอบแทนแผ่นดินถิ่นเกิดอย่างเต็มกำลัง และยังมีพี่ ๆ น้อง ๆ เพือ่น ๆ อีกจำนวนหนึ่งที่เดินร่วมทางเดียวกันมา
  • จะเดินหน้าต่อไป ครับ

ศิลป วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญา เป็นอัตลักษณ์          ที่แสดงตัวตนของท้องถิ่น ควรค่าแก่การรักษา บันทึก และ       สืบทอด ขอชื่นชมครับ                 

  • ขอบคุณ คุณพัฒนากร นริศ ธีราอาชวะ มากครับ ที่ให้กำลังใจ เป็นอีกแรงหนึ่งที่ให้การยกย่องเชิดชูภูมิปัญญาไทย
  • ในวันนี้ ผมยังเก็บเกี่ยวความรู้ และจดบันทึกเรื่องราวเพลงพื้นบ้านในอดีตจนถึงปัจจุบัน ฝากไว้เรียนรู้ในอนาคตต่อไป ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท