การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน (ตอนที่ 2)


บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะกระทำได้ ยังมีอีกหลายช่องทาง แต่ในบางช่องทางก็ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อย แต่กลับไปส่งผลให้ผู้จัดทำมากกว่าที่จะทำให้ไปส่งผลกระทบต่อภาพรวมของชาติ ในคำว่า คงอยู่ได้

การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน

ด้านการแสดงประจำท้องถิ่น (ตอนที่ 2)

ชำเลือง มณีวงษ์  รางวัลพุ่มพนมมาลา

                       ราชมงคลสรรเสริญ

                       ด้านการแสดงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2547

        

           

ณ บนเวทีการแสดง ในงานระดับใหญ่ ๆ ทีมีการแสดงของเยาวชน หน้าเวทีมีเก้าอี้ 200-300 ตัว แต่มีคนนั่งชม 10-15 คน จนถึงแทบจะไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทำเพลงจะเอากำลังใจมาจากไหน แล้วใครจะเป็นคนเติมไฟใส่ฟืนให้มีพลังต่อสู้ ไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง  จะรอคอยงบประมาณสนับสนุนก็คงรอไม่ได้ จะรอความช่วยเหลือก็คงไม่ทันแล้ว  เราจึงได้เห็นภาพที่แท้จริงอย่างทุกวันนี้

 

        ปัจจัยในการสนับสนุนส่งเสริมที่มีส่วนช่วยพยุง ประคับประคองให้ศิลปะการแสดงยังคงมี ยังอยู่ได้นั้น  มีองประกอบที่สำคัญ คือ

1.    ผู้แสดงที่มีคุณภาพ ที่มีการพัฒนาไปสู่ระดับมืออาชีพ

2.    ผู้ให้การสนับสนุน จัดให้มีเวที จัดหาวงเพลงไปแสดง

3.    ผู้ชม ในท้องถิ่นนั้น ๆ มีความเข้าใจในคุณค่าของภูมิปัญญาด้านนี้

 

ผู้แสดงที่มีคุณภาพ ในระดับมืออาชีพ

 

        กว่าที่จะพัฒนานักแสดงไปถึงจุดจุดนี้ได้ ผู้ที่ทำหน้าที่ฝึกสอน จะต้องมีความเข้าใจในบทบาทการแสดงของเพลงพื้นบ้าน 1 วง อย่างถ่องแท้จริง ๆ ว่า กรอบขอบเขตของงานมีมากน้อยอย่างไร แค่ไหน

        ความสูญเปล่า จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีความต่อเนื่องอย่างยาวนาน ถาวร ฝึกเพียงชั่วครู่ชั่วยามแล้วก็เลิกราไป พอนึกขึ้นได้ก็ย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ผู้แสดงไม่มีโอกาสได้พัฒนา คงที่อยู่ในระดับเล่นได้ ดีขึ้นมาหน่อยถ้าครูผู้ฝึกสอนตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องพัฒนาผู้แสดงให้ถึงขั้นที่สูงขึ้น คือ จะด้องมีความสามารถดี-ดีมาก ถ้าแบบนี้จะมีการเกาะติดอยู่กับผู้แสดงชุดเดิม ฝึกหัด พัฒนา ประเมินค่า ปรับปรุง จนไปถึงทางตัน

        ความสำเร็จ จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมาจากครูผู้ฝึก เพลงพื้นบ้านทุกประเภท มีตัวตน มีคนแสดงที่ยังมีชีวิตจิตวิญญาณ ถ้าครูผู้ฝึกคนใดกำหนดกรอบของศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านเอาไว้เสียมากมาย การพัฒนาก็จะเป็นไปแบบยากลำบาก  ครูผู้ฝึกคนใดเปิดกรอบ ไม่ต้องกำหนดขอบเขตมากนัก ค่อยตะล่อมเข้ามาอย่างช้า ๆ แบบสั่งสม จะเกิดอิสระในการแสดงความสามารถ ยกตัวอย่าง เช่น นักแสดงร้องไม่เป็น ฝึกหัดอย่างไรก็ร้องไม่เป็น ก็ค้นหาจุดเด่นของเขา แล้วมอบหมายหน้าที่อื่นให้ไปก่อน

 

        ในวงเพลงพื้นบ้าน 1 วง มีบทบาทหน้าที่อยู่หลายด้าน ได้แก่

-         หน้าที่ร้องนำ  เป็นพ่อเพลง เป็นแม่เพลง

-         หน้าที่ร้องช่วย  เป็นคอสองรองลงไป ช่วยร้องในบางวรรค บางตอน

-         หน้าที่ร้องรับ เป็นลูกคู่ ช่วยพูดเจรจาโต้ตอบกับนักแสดง

-         หน้าที่แสดงประกอบบทร้อง  ทำให้ผู้ชมเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

-         หน้าที่ผู้ให้จังหวะ ตีกลอง,ตะโพน,โทน,รำมะนา,ฉิ่ง,ฉาบ และกรับ ฯลฯ

 

ในสภาพของกลุ่มนักแสดงจริง ๆ เขาจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองโดยอัตโนมัติ นักแสดงที่เป็นนักร้องนำก็อยากที่จะฝึกหัดให้จังหวะ ไปขอให้ผู้ที่ตีตะโพน ตีกลอง ฝึกให้ ผู้แสดงที่เป็นคอสอง ต้องการฝึกหัดรำประกอบก็ไปขอคำแนะนำและฝึกรำกับกลุ่มผู้ที่รำประกอบ ในเวลาไม่นาน ทุกคนในวงก็จะทำหน้าที่ได้หลายอย่างทดแทนหน้าที่ แลกเปลี่ยนหน้าที่กันได้

ตรงนี้เอง ด้วยการไม่มีขอบเขตของเพลงพื้นบ้าน เป็นการแสดงแบบเปิดกว้าง ใครมีความสามารถอะไรก็นำมาผสมผสานกัน จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่นำไปสู่การแสดงด้นสด ๆ สร้างความสนใจให้กับท่านผู้ชมได้ทุกงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก ๆ ตัวเล็ก ๆ คนต่อคน คนแล้วคนเล่าที่ออกมาร้องต่อในเรื่องเดียวกันแบบฉับพลัน มันจึงเป็นความมหัศจรรย์ ยากจะหาที่เปรียบได้ จึงเป็นความน่าเสียดายที่เมื่อมีใครบางคน มากำหนดท่ารำ กำหนดจังหวะให้กับเครื่องดนตรี และกำหนดว่าจะต้องผูกสัมผัสตามผังคำกลอน ใน 8-10 คำ ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น เพราะนี่คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น

-         ท่ารำในการแสดงเพลงพื้นบ้านไม่มีการกำหนด ใครจะรำท่าไหนก็รำไป

-         จังหวะที่ใช้ประกอบการร้อง เขาตีกลองแบบสนุก ๆ หาใช่เล่นตามหน้าทับ

-         บทร้องเพียงแค่สัมผัสคำลงก็พอ ในระยะเริ่มต้น และมีคำสัมผัสในบ้าง

 

ถ้าคำพูดของผมมีเหตุมีผลมีคุณค่า อยากที่จะขอเชิญชวนผู้ที่มีฐานะ มีตำแหน่งชำนาญการ เชี่ยวชาญในสาขานี้ ยอมสละเวลาไปฝึกหัดเพลงพื้นบ้านสัก 1 อย่าง แล้วขึ้นไปแสดงบนเวทีกับศิลปินที่จัดว่า เล่นเป็นมืออาชีพแล้วจะได้รู้ว่า ความสามารถเฉพาะตัวคืออะไร  การเขียนกลอนในอากาศ เขาเขียนกันได้อย่างไร การแสดงท่าทางเคลื่อนไหวไปจนถึงรำตามถนัด ได้อารมณ์ความรู้สึกที่ฝังใจ เรียกเสียงฮา ความสนุกสนาน สอดแทรกคติสอนใจ ช่วยทำให้ศิลปินยึดเป็นอาชีพอยู่รอดได้ เพราะความมีเสน่ห์ในตัวเองของเพลงพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น

 

ผู้ให้การสนับสนุน จัดให้มีเวที จัดหาวงเพลงไปแสดง

 

ผู้ให้การสนับสนุน มีบทบาทสำคัญมาก ในส่วนที่จะยังคงรักษาศิลปะการแสดงนั้น ๆ ให้คงอยู่ ที่วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี มีเวทีเพลงอีแซว ให้ศิลปินได้ไปแสดงผลงานทุกปี ปีละ 2 ครั้ง  ในงานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี มีเวทีศิลปวัฒนธรรม ให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในหลาย ๆ ด้านรวมทั้งเพลงพื้นบ้านหลายแขนงด้วย  เจ้าของงานแก้บนในเขตอำเภอดอนเจดีย์ ยังให้ความสนใจติดต่อวงเพลงอีแซวไปแสดงในงานของท่าน  ที่น่าเก็บเอาไปคิดคือ เป็นการกระทำที่มั่นคงถาวรมาโดยตลอด มิใช่แค่เพียงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ได้แล้วก็เลิกราไป

ผมไม่อยากให้สิ่งที่ดี มีคุณค่าของแผ่นดินต้องลดน้อยถดถอยลงไป จนในที่สุดอาจจะไม่มีปรากฏบนแผ่นดินในอนาคตอันใกล้นี้  เพราะเราไม่มีทายาทตัวแทนที่แท้จริงเข้ามารับหน้าที่อย่างมั่นคง  บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะกระทำได้ ยังมีอีกหลายช่องทาง แต่ในบางช่องทางก็ช่วยเหลือได้เพียงส่วนน้อย แต่กลับไปส่งผลให้ผู้จัดทำมากกว่าที่จะทำให้ไปส่งผลกระทบต่อภาพรวมของชาติ ในคำว่า คงอยู่ได้

 

ช่องทางในการดำเนินงานมากมายหลายอย่าง ได้แก่

 

1.    จัดเวทีการประกวดศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน

2.    จัดกิจกรรมที่มีการส่งเสริมศิลปะการแสดงหลาย ๆ ชนิด

3.    จัดการอบรมให้เยาวชนได้ฝึกหัดการแสดงเพลงพื้นบ้านที่สนใจ

4.    จัดตั้งชมรม กลุ่มผู้อนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่น มีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง

5.    สนับสนุนงบประมาณตั้งวงเพลงพื้นบ้านรับงานแสดงในระดับท้องถิ่นทั่วไป

 

(ติดตามบทความตอนที่ 3  การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน)

หมายเลขบันทึก: 219692เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สนับสนุนศิลปะพื้นบ้านค่ะ

มีความสุขคะ

นี่ก็เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง นำมาฝากค่ะ

 

สวัสดีค่ะ

* " การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันโดยอัตโนมัติ "  สำคัญที่การเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง

* ศิลปะนี้จะคงอยู่ได้ต้องเอาจริงนะคะ

คุณใยมด (Yaimod)

  • เห็นภาพการแสดงมโนราแล้วอดคิดถึงศิลปะพื้นบ้านที่สวยงามของภาพใต้อีกหลายอย่างไม่ได้ เพลงบอก, ดีเกฮูลู, หนังตลุง
  • เฮ้อ! น่าเสียดาย  มีให้ได้พบเห็นบ้างแต่ก็น้อยลงไปทุกที
  • ชีวิตอยู่ได้ควบคู่กับการทำงานด้านนี้มายาวนานครับ  ขอบคุณมาก ๆ

สวัสดีครูพรรณา

  • ใช่ครับคุณครูพรรณา การศึกษาในวันนี้ เด็ก ๆ เกือบที่จะไม่มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นรากเหง้า เราเกือบจะลืมที่มา
  • นอกจากการเอาจริงเอาจังแล้ว ความอยู่รอดได้ คนที่จะมาสืบทอดต้องเรียนรู้ให้เป็นจริง ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท