การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน (ตอนที่ 1)


ใครจะเป็นคนเติมไฟใส่ฟืนให้มีพลังต่อสู้ ไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง จะรอคอยงบประมาณสนับสนุนก็คงรอไม่ได้ จะรอความช่วยเหลือก็คงไม่ทันแล้ว เราจึงได้เห็นภาพที่แท้จริงอย่างทุกวันนี้

การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน

ด้านการแสดงประจำท้องถิ่น (ตอนที่ 1)

ชำเลือง มณีวงษ์  รางวัลพุ่มพนมมาลา

                       ราชมงคลสรรเสริญ

                       ด้านการแสดงพื้นบ้าน ปี พ.ศ. 2547

       

        การที่จะรับสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นให้คงอยู่ได้ในศิลปะการแสดงประเภทต่าง ๆ นั้น มีปัจจัยสนับสนุนส่งเสริม และนำไปสู่ความถดถอยหลายประการซึ่งเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา ทำให้ผู้คนที่อยู่วงในไม่ได้ฉุกคิดถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ คงเอาแต่สร้างสรรค์ผลงาน นำเอาผลผลิตที่ตนได้คิดรังสรรค์ไว้ ออกไปนำเสนอให้ผู้คนได้เห็น ได้ชื่นชม ได้รับรู้ในความเป็นผู้คิดริเริ่ม หาได้กลับไปมองในส่วนของความสำเร็จที่แท้จริง ว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร

 

        ถ้ามองไปที่ตัวศิลปินเจ้าของผลงานการแสดงเพลงพื้นบ้านประเภทนั้น ๆ แล้วจะพบว่า ยังขาดตัวตายตัวแทน หรือมีได้ก็ไม่เท่าคนเก่า ทั้งทางด้านคุณภาพ กายภาพ และที่สำคัญ ความมีชีวิต จิต วิญญาณของนักแสดงรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาแทนคนเก่าเมื่อหมดอายุขัยจากไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุด ที่ทำให้ศิลปะการแสดงต้องสูญหายไปทีละอย่าง ๆ จนเหลือให้เห็นน้อยลงไปทุกที ๆ

 

        มองที่ความอยู่รอด เรื่องของการพัฒนา ปรับปรุงศิลปะการแสดงให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูผู้ชม ประเด็นนี้ จะต้องเก็บข้อมูลบนเวทีการแสดงทุกงาน และสิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักคือ การแสดงบนเวที ณ สถานที่นั้น ผู้ชมต้องการชมอะไร การแสดงแบบไหน หากยังติดตายอยู่กับสิ่งที่เตรียมเอาไว้เพียง 15-20 นาที แล้วก็หมดข้อมูลไป หรือมีการสอดแทรกอะไรต่อมิอะไรนำเอาเข้ามาปะปนจนคนดูจับได้ว่า ยังมิใช่ของแท้ก็จบกัน

 

        ในมุมมองของความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ที่เจ้าภาพต้องยอมเสียสละทรัพย์จัดหาจ้างวานวงเพลงไปแสดง ตรงจุดนี้ต้องใช้ประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาจากเวทีการแสดงอย่างยาวนานและอย่างต่อเนื่อง เป็นการสอดรับกับงานนั้น ๆ ทำให้เจ้าของงานรู้สึกภาคภูมิใจว่า มหรสพคณะนี้มาแสดงในงานของเขาจริง ๆ มิใช่มาแสดงในงานทั่ว ๆ ไป เมื่อเลิกแล้วลาเจ้าภาพกลับแบบไม่มีเยื่อใย ไม่มีสิ่งใดผู้มัด ต่างฝ่ายต่างเป็นอิสระจากกัน

 

        ในวันนี้ แม้ว่าศิลปินในระดับมืออาชีพเริ่มที่จะลดน้อยลงไป  มองคนรุ่นใหม่ ๆ อย่างไรก็หาตัวตายตัวแทน ที่จะมาทำหน้าที่สานต่อได้ยากเต็มที นักแสดงระดับมืออาชีพที่โดดเด่นรองลงมาจากนักแสดงที่เป็นศิลปินในหัวใจพยายามตั้งวง ประกาศรับงาน วันแล้ววันเล่า เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่สามารถออกไปรับใช้สังคมได้อย่างยั่งยืน มั่นคง ทั้งที่พวกเขาเหล่านั้นทำจริง เป็นจริง ร้องเป็นเล่นได้อย่างถูกต้องตามต้นฉบับเดิม แล้วพวกเขายังขาดอะไรอีกหรือ จึงทำให้ภาพที่เห็นต้องเป็นอย่างนั้น

 

        ศิลปินในวงเพลง ระดับรอง ๆ ลงไป เขาพอมีงานบ้าง แต่ไม่มากพอที่จะอยู่รอดได้ในการที่จะประคับประคองทีมงาน หรือคนในวงเพลงพื้นบ้าน 1 วง จำนวนผู้แสดงและผู้ให้จังหวะประมาณ 12-15 คน การเสริมแรงให้กับทีมงานจะเอามาจากไหน การแสดง 1 งาน (เล่น 2-4 ชั่วโมง) ก่อนที่จะทำการแสดงจะต้องมีการฝึกซ้อมกันเป็นแรมเดือนหรือนานกว่า นี่พูดถึงคนเป็นนะ ถ้านักแสดงหัดใหม่คงมิใช่แค่เดือน อาจจะ 1-3 ปี จึงจะออกไปแสดงหน้าเวทีได้ มีคำพูดของครูเพลงที่ผมยังจดจำได้ว่า คนเล่นเพลงพื้นบ้านมีอยู่  3 ระดับ

 

        ป้าอ้น จันทร์สว่างกับป้าทรัพย์ อุบล ครูเพลงของผมได้บอกกับผมว่า ครู การที่จะเป็นนักแสดง จะต้องไปให้ถึงที่สุดให้ได้จึงจะเรียกว่านักแสดง มีอยู่ 3 ระดับ ได้แก่

1.    เล่นได้  (สามารถแสดงได้ตามที่ฝึกหัดมา)

2.    เล่นดี    (มีผู้ดูผู้ชมให้การยกย่องว่าร้องดี รำสวย พูดคล่อง)

3.    เล่นเป็น (เป็นมืออาชีพ เข้าถึงความรู้สึกภายในของผู้ชม ตรึงตาตรึงใจได้)

 

ถ้ามิเช่นนั้นก็เป็นได้แค่มือสมัครเล่น ตรงนี้เองคือ จุดที่นักแสดงทุกคน ทุกวงจะต้องร่วมกันคิดว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไร ลงทุนเวลา แรงงาน ทุนทรัพย์ไปแล้วเท่าไหร่ ผลงานที่ออกมาตกต่ำ อยู่กับที่ หรือก้าวหน้าไปไกล จะเอาอะไรมาเป็นตัววัด

-         ตัวผู้ฝึก ผู้ทำวงเพลงพื้นบ้าน ประเมินค่าผลงานของตนเองว่า มีความพึงพอใจ (เป็นความถูกใจของคนเพียงคนเดียว)

-         คณะกรรมการตัดสิน ที่นั่งดูการแสดง 3-5 คน ลงมติว่า ให้รางวัลชนะเลิศ (ประทับใจคนส่วนน้อย 3-5 คนซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่ดูเพลงเป็นเสียด้วยซ้ำ)

-         มีผู้สนใจติดต่อให้ไปร่วมกิจกรรม ให้เวลาทำการแสดงอย่างเต็มที่        

    (เวลาที่เหมาะสมกับกิจกรรม ช่วยทำให้มีคุณค่า)

-         มีผู้ชมให้ความสนใจชมการแสดงพอสมควรกับมหรสพประเภทของเก่า     

    (คนดูเพลงมีพอประมาณ 100-300 คน พอตกดึก อาจเหลือเพียง 50-60 คน)

-         มีเจ้าภาพติดต่อการแสดง มีผู้ชมให้กำลังใจพอประมาณทุกสถานที่

    (มีผู้เกี่ยวข้อง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเสียเงินหา อีกฝ่ายยอมเสียเวลาชมการแสดง)

            

ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้านในวันนี้ ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนดูไม่มากถ้าหากเป็นเวทีจรหรือเวทีกลางแจ้งที่มิใช่ห้องแสดงเฉพาะงานนั้น ๆ ที่ผู้ชมถูกบังคับให้ต้องนั่งชมละก็ผมว่า มีท่านผู้ชมมาให้กำลังใจสนับสนุนสัก 50-100 คนก็เพียงพอกับผลงานแล้วนะ แต่ในภาพจริงที่ผมติดตามและเก็บข้อมูลมาได้ ณ บนเวที ในงานระดับใหญ่ ๆ ทีมีการแสดงของเยาวชน หน้าเวทีมีเก้าอี้ 200-300 ตัว แต่มีคนนั่งชม 10-15 คน จนถึงแทบจะไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทำเพลงจะเอากำลังใจมาจากไหน แล้วใครจะเป็นคนเติมไฟใส่ฟืนให้มีพลังต่อสู้ ไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริง  จะรอคอยงบประมาณสนับสนุนก็คงรอไม่ได้  จะรอความช่วยเหลือก็คงไม่ทันแล้ว  เราจึงได้เห็นภาพที่แท้จริงอย่างทุกวันนี้

 

(ติดตามบทความตอนที่ 2  การที่จะคงอยู่ได้ ในศิลปะพื้นบ้าน)

หมายเลขบันทึก: 219689เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2008 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

***เสียดายภูมิปัญญาอันลุ่มลึกที่เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจทั้งยังขาดการสนับสนุนจากคนรุ่นปัจจุบัน

***ขอให้มีกำลังใจนะคะ

สวัสดีค่ะ

* น่าเป็นห่วงนะคะ

* เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

สวัสดีครับ คุณกิติยา

  • ขอบคุณในความคิดที่มองเห็นภาพในอดีตมาจนถึงในปัจจุบัน
  • ในเรื่องของความสนใจเด็ก ๆ มีให้น้อยมากจริง ๆ ณ เวลานี้
  • ผู้ที่จะให้การสนับสนุนแบบแท้จริงมีไม่มากหรืออาจจะไม่มีเสียด้วยซ้ำ นอกเสียจากคำว่า ผลประโยขน์ ที่จะตอบกลับมา
  • ขอบคุณมากครับ ที่เป็นกำลังใจให้คนทำงานในส่วนของภูมิปัญญาไทยเพลงพื้นบ้าน

อาจารย์ พรรณา

  • วันนี้ผมคงได้แต่ขายประสบการณ์และร้องด้นกลอนสดเตือนสังคมไทยว่า อีกไม่นานเราคงจะต้องพูดคำเดียวกันว่า เสียดาย
  • เช่นเดียวกันครับ ขอบคุณในความคิดที่ร่วมกันห่วงใยเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท