ขอเล่นด้วยคนนะ..นะ


ลูกรัก
     ในโลกของเด็กเป็นโลกง่าย ๆ ไม่มีเรื่องราวการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่เด็กจะเล่นด้วยกันนั้น พวกเขามองกันว่า อยากจะมาเล่นด้วยแล้วเล่นเป็นหรือเปล่า เล่นเก่งหรือเปล่า แพ้เป็นไหม จะร้องไห้หรือพาลโกรธทุกคน ขี้โกง หรือชอบโวยวาย เปลี่ยนกติกาบ่อย ๆ ถ้าเป็นคนนิสัยดี สนุกสนาน เด็ก ๆ ก็จะชวนกันเล่นต่อไปได้ แต่ถ้าเป็นคนไม่เข้าท่า พวกเพื่อน ๆ พร้อมใจกันไม่เล่นด้วย ง่าย ๆ และตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ

 

สาเหตุที่เด็กไม่ค่อยมีเพื่อน

 

1. มีลักษณะนิสัยไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น เจ้าอารมณ์ ชอบเอาชนะ ขี้โกง แพ้แล้วชวนตี กวน เอาเปรียบ ฯลฯ

2. ขาดทักษะในการเข้าสังคม ไม่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ควบคุมอารมณ์ของตนเองไม่เป็น ไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทำตามความคิดเห็นของคนเองเป็นหลัก

3. ทักษะการเล่นบกพร่อง เล่นเป็นไม่กี่อย่าง ยอมรับการเล่นใหม่ ๆ ได้ช้า หรือไม่ยอมรับ เล่นไม่เก่ง

4. ถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ ยอมเด็ก ส่งเสริมให้เด็กปรับตัวไม่เก่ง

 

วิธีการแก้ไข

 

1. ฝึกให้หัดยับยั้งตัวเอง ถ้าสังเกตเด็กให้ดี จะพบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เด็กคาดหวัง เด็กจะแสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์ทันที ซึ่งอาจเป็นความโกรธ น้อยใจ กลุ้มใจ หงุดหงิด ฯลฯ งานของพ่อแม่งานหนึ่งที่สำคัญที่จะต้องฝึกสอนลูกตั้งแต่ อายุ 1 ปี ขึ้นไป ก็คือฝึกให้ลูกเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง หัดยับยั้งอารมณ์ หยุดตัวเองให้มีเวลาวิเคราะห์แยกแยะปัญหาต่าง ๆ การที่จะฝึกสอนเด็กได้ พ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่าง ในการยับยั้งการแสดงออก เป็นต้นแบบของเด็กอยู่ตลอดเวลา 

 

     แม่ที่เจ้าอารมณ์ ลูกก็จะเจ้าอารมณ์ตามด้วย พ่อที่โมโหแล้วขว้างของ คงไม่น่าแปลกใจที่จะพบว่า เวลาลูกโกรธ ลูกก็จะขว้างของด้วย การฝึกให้เด็กเรียนรู้ที่จะหยุดยั้งอารมณ์และตัวเอง เพื่อให้เวลาตัวเองคิดไตร่ตรอง และวางแผน หลังจากนั้นจึงลงมือทำหรือแสดงออก ซึ่งพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก หลังจากการไตร่ตรองแล้วมักจะเหมาะสมกว่าพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกไปตามอารมณ์ และความรู้สึกแรก

 

    ผู้ฝึกจึงต้องรู้ว่า ตนเองจะฝึกอะไรให้เด็ก อยู่ใกล้เด็กเพียงพอที่จะเป็นพี่เลี้ยง ช่วยเด็กให้ควบคุมอารมณ์และคิดไตร่ตรอง ทีละเล็ก ทีละน้อย ถ้าทำได้ดี ก็จะเห็นว่าเด็กควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นในเวลาที่ผ่านไป

 

2. ลดการส่งเสริมทำให้เด็กใจร้อน โดยเฉพาะการตามใจเด็กในทุกรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กเรียนรู้ว่า “ของฉันต้องทันที” การที่พ่อแม่ทำให้เด็กทุกอย่าง หรือให้ทุกสิ่งที่เด็กต้องการ เพื่อแลกกับการหยุดร้องไห้อาละวาดของเด็ก หรือยอมให้เด็กทำ หรือเล่นในสิ่งที่อยากเล่น สิ่งใดที่ไม่ชอบ ก็ไม่ต้องทำ ทั้งหมดที่กล่าวมา จะทำให้เด็กติดนิสัยใจร้อน รอคอยไม่เป็น และเอาแต่ใจตัวเอง

 

3. ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองเพิ่มขึ้น เพราะการที่เด็กมีโอกาสช่วยตัวเองขึ้นมาตามวัย จะเสริมทำให้เด็กมีโอกาสทำผิดพลาด เนื่องจากขาดประสบการณ์และคิดล่วงหน้าไม่ถึง ทำให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้แก้ไขปัญหา หรือข้อผิดพลาดได้คล่อง ที่เน้นเรื่องนี้ เพราะการอยู่รวมกับเด็กอื่น ๆ หลายคน ต่างคนต่างก็ไร้ประสบการณ์ จึงมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้กันทุกคน การยอมรับข้อผิดพลาด ของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งการหาแนวทางแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้น จะช่วยทำให้เด็ก เป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนได้ง่ายขึ้น

 

4. ฝึกสอนให้เด็กเรียนรู้จักอารมณ์ของผู้อื่น และอารมณ์ของตนเอง พอ ๆ กับการเรียนรู้ ที่จะควบคุมอารมณ์ตนเอง และช่วยปลอบโยน ผ่อนคลายอารมณ์ของผู้อื่นเป็น จุดสำคัญของการสอนในหัวข้อนี้ อยู่ที่คุณสมบัติของผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก ว่าควบคุมอารมณ์ตนเอง มากน้อยเท่าใด รู้จักปลอบโยนเด็ก เมื่อเด็กกำลังมีอารมณ์พลุ่งพล่าน ได้เหมาะสมหรือไม่ และให้โอกาสเด็ก ได้ฝึกฝนมากน้อยเพียงใด

 

5. ฝึกสอนวิธีการเล่นที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเล่นเงียบ ๆ 2 คน การเล่นรวมกับคน 3 – 4 คน และวิธีการเล่น ที่เล่นรวมกับคนหลาย ๆ คน การเล่นที่ง่ายไม่ซับซ้อน รวมไปถึงการเล่น ที่ใช้ความสังเกต ใช้ทักษะยาก ๆ เป็นต้น ไม่ว่าจะฝึกให้ลูกเล่นสิ่งใด พ่อแม่ นอกจากจะต้องนึกถึงใจของเด็กด้วยว่า สิ่งที่ฝึกนั้นต้องสนุก เร้าใจ บรรยากาศสบาย ๆ และการเล่นนี้สามารถนำไปเล่นกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ ไล่จับ เป่ายิงแบ พระราชา บัลลูน ดีดลูกหิน จระเข้ไล่จับ กระต่ายขาเดียว ปลาเป็นปลาตาย ตุ๊กตาหิน หมากเก็บ ฯลฯ การเล่นใดก็ตามที่เขาฮิตเล่นกันที่โรงเรียน ก็ขอให้พ่อแม่แบ่งเวลาไปนั่งดูเด็ก ๆ เขาเล่นกัน แล้วกลับมาซุ่มซ้อม สอนลูกให้เป็นเหมือนชาวบ้านเขา

 

6. เป็นเพื่อนกับลูกขณะเล่น ก็คือ ขอให้คุณลงไปเล่นกับลูกให้สนุก ฝึกไปด้วยเล่นไปด้วย เมื่อเด็กยั้งตัวเองไม่ได้ ก็ต้องจับตัวเอาไว้ หัวเราะไปด้วย สนุกไปด้วย แต่จับตัวเด็กเอาไว้ จนถึงคิวของเด็ก พยายามหลีกเลี่ยงการสั่งสอนมากมาย จนทำลายบรรยากาศการเล่น หรือคอยตำหนิดุว่า โดยที่คุณลงทุน แค่ยืนมองลูกเล่นเท่านั้น

 

7. ขณะเล่นด้วยกัน ก็ต้องฝึกให้เด็กรู้จักความพ่ายแพ้ และชัยชนะ ถ้าถูกขี้โกง อย่ามองข้าม ต้องโวยวาย และหยุดเล่น แยกเด็กออกมาให้ดูคนอื่นเล่น เพื่อเด็กจะได้มีเวลาแยกแยะว่า จะปรับปรุงวิธีการ และยอมรับกติกาได้หรือไม่ ถ้าคิดว่าทำได้ ก็ให้โอกาสเล่นต่อ และเมื่อทำไม่ได้อีก ก็แยกเด็กออกอีก อย่าปล่อยให้เด็กขี้โกง และอย่ายืดกฎเกณฑ์ กติกาการเล่นออกเพื่อเด็ก เนื่องจากถ้าทำบ่อย ๆ เด็กจะเรียนรู้ และนำไปใช้ที่โรงเรียน ว่า กติกาการเล่นไม่จำเป็นต้องทำตาม และสามารถเปลี่ยนกติกาได้ตามใจผู้เล่น ผลที่สุดจะทำให้ ไม่มีใครอยากเล่นกับเด็ก
หมายเลขบันทึก: 217499เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2008 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

***ได้อ่านวิธีการดีๆ และจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ในทุกปีการศึกษาจะพบเด็กที่มีปัญหาการคบเพื่อน เป็นโจทย์ที่มีให้แก้ไขทุกปีค่ะ

***คงได้อ่านวิธีการดีๆ จากประสบการร์ครงอีกนะคะ ขอบคุณค่ะ

น้องอ๊อฟ อยู่กับเด็ก ๆ ทุกวันมีความสุขดีน่ะ ก็เลยมีแฟนเด็กจ้า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท