86. “บั้งไฟพญานาค”


“บั้งไฟพญานาค”

                บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ของการเกิดลูกไฟสีชมพูพวยพุ่งขึ้นจากกลางลำน้ำโขงสู่อากาศ โดยลูกไฟนั้นไม่มีควัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง พุ่งสูงประมาณ 20-30 เมตร แล้วหายไปโดยไม่มีการโค้งลงมา เช่น บั้งไฟทั่วไป ขนาดของลูกไฟมีตั้งแต่ขนาดเท่าหัวแม่มือ กระทั่งขนาดเท่าฟองไข่ไก่ เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่แน่นอน ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึง 2-3 ทุ่ม สถานที่เกิดมักเป็นลำน้ำโขง ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย อำเภอปากคาด อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และบริเวณอื่นๆ บ้าง เช่น ตามห้วยหนองที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขง

          วันเวลาที่เกิดบั้งไฟพญานาค จะเป็นปรากฏการณ์ที่แน่นอน คือตรงกับ วันออกพรรษา วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาของลาว (พนิดา 2538 : 77)

                ความเชื่อและตำนาน

ลำน้ำโขง

          คนไทยทางภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงและคนลาวแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีความเชื่อกันมานานแล้วว่า แม่น้ำโขง เกิดจากการเดินทางของนาคตนหนึ่งชื่อว่า ปู่เจ้าศรีสุทโธ นาคตนนี้เมื่อเลื้อยไปเจอภูผาหรือก้อนหินก็เลี้ยวหลบ ผิดกับนาคตนอื่นๆ ที่จะเลื้อยผ่าตรงไปเลย เส้นทางการเดินของเจ้าศรีสุทโธจึงมีลักษณะคดเคี้ยวไปมา เรียกกันว่า ลำน้ำคดหรือลำน้ำโค้ง แล้วต่อมาเพี้ยนเป็น ลำน้ำโขง (สกู๊ปพิเศษ 2544 : หน้าปกใน)

ตำนานการเกิดบั้งไฟพญานาค

           ครั้งเมื่อพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พญาคันคาก ได้จุติอยู่ในครรภ์ของพระนางสีดา เมื่อเติบใหญ่ได้บำเพ็ญเพียรภาวนา จนพระอินทร์ชุบร่างให้เป็นชายหนุ่มรูปงาม พระอินทร์ได้ประธานนางอุดรกุรุตทวีปเป็นคู่ครอง พญาคันคากและนางอุดรกุรุตทวีป ได้ศึกษาธรรม และเทศนาสอนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

          มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายครั้นได้ฟังธรรมจากพระโพธิสัตว์คันคากก็เกิดความเลื่อมใสจนลืม ถวายเครื่องบัดพลี พญาแถน ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ก่อกำเนิดเผ่าพันธุ์และบันดาลน้ำฝนแก่โลกมนุษย์

         พญาแถนครั้นไม่ได้รับเครื่องบัดพลีจากมนุษย์และสรรพสัตว์ รวมทั้งเทวดาที่เคยเข้าเฝ้าเป็นประจำ ไปฟังธรรมกับพญาคันคากจนหมดสิ้น จึงบังเกิดความโกรธแค้นยิ่งนัก

                พญาแถนโกรธแค้นที่เหล่ามนุษย์และสรรพสัตว์หันไปบูชาพญาคันคาก จึงสาปแช่งเหล่ามวลมนุษย์ไม่ให้มีฝนตกเป็นเวลาเจ็ดปี เจ็ดเดือน เจ็ดวัน ทำให้เกิดความแห้งแล้งไปทุกหย่อมหญ้า เหล่ามวลมนุษย์จึงได้เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์ทูลถามและขอความช่วยเหลือ

                พญาคันคาก  รู้ด้วยญาณจึงบอกมนุษย์ว่า  เพราะพวกเจ้าไม่บูชาพญาแถน ท่านจึงพิโรธ จึงบันดาลมิให้มีฝนตกลงมา ความแห้งแล้งมีมาเจ็ดปี พญานาคีผู้เป็นใหญ่ในเมืองบาดาลที่เข้าเฝ้าพระโพธิสัตว์คันคากอยู่ขณะนั้นได้รับฟังจึงยกทัพบุกสวรรค์โดยไม่ฟังคำทัดทานของพระโพธิสัตว์คันคาก

                แต่พญานาคีพ่ายแพ้กลับมาและบาดเจ็บสาหัสด้วยต้องอาวุธของพญาแถน พระโพธิสัตว์คันคากเกิดความสงสารด้วยเห็นว่าพญานาคีทำไปด้วยต้องการขจัดความทุกข์ให้เหล่ามวลมนุษย์ จึงได้ให้พรแก่พญานาคีและเหล่าบริวาร  ขอให้บาดแผลเจ้าทั้งกายให้หายขาด กลายเป็นลวดลายงามดั่งเกล็ดมณีแก้ว หงอนจงใสเพริศแพร้วเป็นสีเงินยวง ความเจ็บปวดทั้งปวงจงเหือดหายไปจากเจ้า อันว่าตัวเจ้านั้นต่อแต่นี้ให้ศรีชื่น เป็นตัวแทนความเย็นในเวินแก้วแท้นอ” (คัดลอกจากบทการแสดง ปรับบางคำให้เป็นภาษากลาง)

                นับจากนั้นเป็นต้นมาพระพญานาคีได้ปวารณาตนเป็นข้าช่วงใช้พระโพธิสัตว์ไปทุกๆ ชาติ แต่ความแห้งแล้งยังคงอยู่กับเหล่ามวลมนุษย์ พระโพธิสัตว์คันคากจึงได้วางแผนบุกสวรรค์ โดยให้พญาปลวกก่อจอมปลวกสู่เมืองสวรรค์ พญาแมงงอด แมงเงาเจ้าแห่งพิษ (แมงป่องช้าง) ให้จำแลงเกาะติดเสื้อผ้าพญาแถน พญานาคีให้จำแลงเป็นตะขาบน้อยซ่อนอยู่ในเกือกพญาแถน เมื่อองค์พระโพธิสัตว์คันคากให้สัญญาณจึงได้กัดต่อยปล่อยพิษ

                พญาแถนพ่ายร้องบอกให้พระโพธิสัตว์คันคากปล่อยตนเสีย แต่พระโพธิสัตว์คันคากกลับบอกว่าขอเพียงพญาแถนผู้เป็นใหญ่ให้พรสามประการ ก็จะมิทำประการใด

                หนึ่งให้ฝนตกลงมาตามฤดูกาล เหล่ามวลมนุษย์จะจุดบั้งไฟบวงสรวงพญาแถน

                สองแม้ว่าฝนตกลงมาดั่งใจมาดแล้ว ให้ในทุ่งนามีเสียงกบเขียดร้อง

                สามเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งข้าว) ตัวข้าพญาคันคากจะส่งเสียงว่าวสนูให้พ่อฟังเป็นสัญญาณว่า ปีนั้นข้าวอุดมสมบูรณ์

                พญาแถนได้ฟังคำขอพรสามประการ(ความจริงแล้วสำหรับความคิดผมเองเป็นการขอประการเดียว และมีการบวงสรวงบูชา พญาแถนคงเห็นว่าคุ้ม) จึงได้ให้พรตามปรารถนา นับเนื่องจากนั้นมากลางเดือนหกของทุกๆ ปี ชาวอีสานจะร่วมกันทำบั้งไฟแห่ไปรอบๆ หมู่บ้านแล้วจุดบูชาพญาแถน

       ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคีผู้เฝ้าติดตามเรื่องราวพระองค์ บังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่งนัก รู้ด้วยญาณว่าพระองค์คือพญาคันคากมาจุติ จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวก ตั้งใจปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์

                ค่ำคืนหนึ่งพญานาคีเผลอหลับไหลคืนร่างเดิม ทำให้เหล่าภิกษุที่ร่วมบำเพ็ญเพียรทั้งหลายตื่นตระหนก ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องจึงขอให้พญานาคีลาสิกขา เนื่องจากนาคเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นภิกษุมิได้

                พญานาคียอมตามคำขอพระพุทธองค์ แต่ขอว่ากุลบุตรทั้งหลายทั้งปวงที่จะบวชในพระพุทธศาสนาให้เรียกขานว่า นาคีเพื่อเป็นศักดิ์ศรีของพญานาคก่อนแล้วค่อยเข้าโบสถ์ จากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เรียกขานกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า พ่อนาค

ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมและจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาและเหล่าเทวดา กระทั่งครบกำหนดวันออกพรรษา พญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

                นับเนื่องจากนั้น ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จึงได้มีปรากฏการณ์ประหลาดลูกไฟสีแดงพวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขงสู่ท้องฟ้า ปรากฏมาให้เห็นตราบเท่าทุกวันนี้ ทุกคนเรียกขานว่า บั้งไฟพญานาค” (เขมชาติ 2544 : 256-258)

ที่มา : http://guru.sanook.com/pedia/topic/

คำสำคัญ (Tags): #“บั้งไฟพญานาค”
หมายเลขบันทึก: 216855เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2008 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีจ้ะ
  • แวะมาเยี่ยม  ทำงานหนัก ดูแลสุขภาพด้วยนะ
  • คิดถึงจ้ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท