Appreciative Inquirly (หรือเปล่าคะ)


การมองหาคุณค่าของคนจากสิ่งที่ดีๆ

เมื่อวันก่อนมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ผู้ประสานงานโครงการฯ ซึ่งจะมาช่วยพอลล่าทำงาน ใครงการ HPH ที่ทางพรพ.ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ก็นึกอยู่ในใจ ว่าจะถามอะไรดี พอดีนึกถึงเทคนิคอย่างหนึ่งขึ้นมาได้ คือ AI นั่นเอง ถามไปแล้วละค่ะ ค่อยมาดูว่า ใช่เลยนะสิ่งที่เราสัมภาษณ์ คิดว่าเราคงได้คนที่ดี ขยัน ทำงานเก่ง เรียนรู้ไว อ่อนน้อมถ่อมตน สื่อสารดี มนุษยสัมพันธ์ดี มีความรู้ (อันนี้ สเปกตัวเองตั้งไว้ในใจ) เรามาดู AI กันนะคะ ว่าคืออะไร ท่านผอ. เขียนไว้ค่ะ (อันนี้ลอกมา ค่ะ)

          Appreciative หมายถึง การให้คุณค่าต่อสิ่งดีๆ ในผู้คนหรือในโลกรอบตัว

          Inquiry หมายถึงการสำรวจ ค้นหา ถามหาศักยภาพและโอกาสใหม่ๆ

          AI เป็นการค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในผู้คน ในองค์กร และในโลกรอบตัว  ซึ่งให้ความมีชีวิตต่อองค์กร ส่งผลให้ทำงานได้ผลดีและสร้างสรรค์มากที่สุด ในทุกแง่มุม

          AI เป็นศิลปะในการใช้คำถามต่อผู้คนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในศักยภาพของระบบและโอกาสพัฒนา

          AI เป็นเรื่องของจินตนาการและนวตกรรม 

          AI เป็นการค้นหาเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในความรู้สึกทั้งในอดีตและปัจจุบันของทุกคน

          AI ค้นหาสิ่งที่ผู้คนแสดงออกในเรื่องต่อไปนี้: ความสำเร็จ, สินทรัพย์, ศักยภาพที่ซ่อนเร้น, นวัตกรรม, จุดแข็ง, ความภาคภูมิใจ, โอกาส, ตัวเทียบเคียง, วาระสูงสุดขององค์กร, ค่านิยมที่มีชีวิต, ประเพณี, ความสามารถเชิงกลยุทธ์, เรื่องราว, การแสดงออกถึงภูมิปัญญา, จิตวิญญาณขององค์กร, วิสัยทัศน์สำหรับอนาคตที่มีคุณค่า  

          AI เริ่มต้นจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นแก่นของความดีงาม (positive core) ซึ่งทุกองค์กรมีอยู่แล้ว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมาย   

ทำไมต้อง Appreciative Inquiry

          การมุ่งเน้นแก้ปัญหา มักจะได้ผลเพียงเล็กน้อย และก่อให้เกิดความรู้สึกเชิงลบว่าปัญหาเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก ไม่ได้รับความร่วมมือ สาเหตุของปัญหาก็ซับซ้อนและอยู่นอกเหนืออำนาจที่จะจัดการได้  เมื่องานไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเกิดความเครียดต่อผู้รับผิดชอบ และยิ่งกดดันคนรอบตัว  สร้างบรรยากาศที่เป็นลบให้มากขึ้น มีการกล่าวโทษกันและกัน

          ความรู้สึกเชิงลบร่วมกับปริมาณปัญหาที่เราต้องเผชิญ ทำให้เรารู้สึกว่ายากที่จะทำอะไรได้ และมีแต่ความสิ้นหวัง

          AI มิได้เริ่มต้นจากปัญหา แต่มิได้ละเลยต่อปัญหา  เพียงแต่เริ่มต้นจากอีกด้านหนึ่ง ด้านที่เป็นความดีงามในสิ่งต่างๆ ซึ่งจะก่อเกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า

ขั้นตอนในการทำ Appreciative Inquiry

          ขั้นตอนในการทำ AI มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของแก่นของความดีงามที่มีอยู่แล้วในองค์กร ซึ่งอาจจะมองว่ามีขั้นตอน 7 ขั้นตอน หรือมองว่าประกอบด้วย 4 D’s ก็ได้

ารางที่ 10.1 ขั้นตอนในการทำ Appreciative Inquiry

4 D’s

7 Steps

1. Discovery: ค้นหาแก่นของความดีงาม (the positive core) ภายในองค์กร

1. เลือกหัวข้อที่เป็นประเด็นเชิงบวก (positive topic) เพื่อเป็นจุดเน้นในการสำรวจ

2. สร้างคำถามเพื่อสำรวจประเด็นที่เลือกไว้

3. ใช้คำถามเข้าไปสัมภาษณ์หรือแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นที่เลือกไว้

4. สรุปกระแสหลัก (theme) ที่ปรากฎในเรื่องราวต่างๆ

2. Dream: สร้างจินตนาการว่าถ้าองค์กรอยู่ในภาวะที่ดีที่สุด อะไรจะเกิดขึ้น

3. Design: สร้างข้อความกระตุ้น (provocative propositions)

5. จากกระแสหลักเหล่านี้ สร้างภาพอนาคตร่วมกัน อาจจะใช้ข้อความกระตุ้น

4. Destiny: พัฒนาทักษะที่จำเป็น จัดโครงสร้างองค์กร เพื่อเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย

6. ค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างอนาคตดังกล่าว

7. ใช้ข้อความกระตุ้นและกลวิธีต่างๆ เพื่อชี้นำพฤติกรรมของบุคคล กลุ่ม และองค์กร

หลักการพื้นฐานของ Appreciative Inquiry

            1) หลักการสร้าง (The Constructionist Principle)

          ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงต้องมีศิลปะในการทำความรู้จักองค์กร  AI เป็นวิธีการสร้างความรู้เกี่ยวกับความจริง ความดีงาม และความเป็นไปได้ ด้วยมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของมวลสมาชิกมากกว่าโครงสร้างของสิ่งที่ไม่มีชีวิตต่างๆ  

          2) หลักการเกิดขึ้นควบคู่กัน (The Principle of Simultaneity)

          การค้นหาและการเปลี่ยนแปลงเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยกัน  คำถามที่เราใช้คือเมล็ดพันธุ์ของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเติบโตกลายเป็นคำพูดและเรื่องราวสำหรับการสร้างอนาคต

          ความเข้าใจผิดสำคัญประการหนึ่งคือ คิดว่าการวิเคราะห์และการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเป็นคนละขั้นตอนกัน  ที่จริงแล้วทุกคำถามจะสร้างการเปลี่ยนแปลงขึ้นในเชิงสัมพันธภาพของมวลสมาชิก ทำให้เกิดบทสนทนาเกี่ยวกับสิ่งที่ดี สิ่งที่ดีกว่า และสิ่งที่เป็นไปได้  โดยไม่สำคัญว่าคำถามจะนำมาสู่คำตอบอะไรหรือได้รับการตอบสนองอย่างไร

            3) หลักความงามแห่งบทกวี (The Poetic Principle)

          องค์กรมีลักษณะเหมือนหนังสือที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเป็นผู้ประพันธ์ได้ตลอดเวลา  อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดและเป็นบ่อเกิดของความหวัง  เราสามารถศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือองค์กรใดๆ  การตั้งคำถามที่หลากหลาย สอดคล้องกับเป้าหมายของการค้นหาและบริบทขององค์กร จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด

            4) หลักการคาดการณ์ (The Anticipatory Principle)

          จินตนาการร่วมของมวลสมาชิกเกี่ยวกับอนาคต คือทรัพยากรที่ไม่จำกัดในการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างสร้างสรรค์   ภาพฝันสำหรับอนาคตจะเป็นตัวชี้นำพฤติกรรมในปัจจุบัน  การตั้งคำถามที่นำมาสู่ภาพฝันเชิงบวกร่วมกันคือความสำเร็จของ AI ภาพฝันเชิงบวกจะนำไปสู่การกระทำเชิงบวก เป็นการนำอนาคตมาขับเคลื่อนปัจจุบันอย่างมีพลัง

            5) หลักพลังเชิงบวก (The Positive Principle)

          การสร้างโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องใช้ความผูกพันและพลังเชิงบวก เช่น ความหวัง ความตื่นเต้น ความเอื้ออาทร ความสนิทสนม ความรู้สึกเป็นเรื่องเร่งด่วน และความสนุกในการสร้างสิ่งที่มีความหมายร่วมกัน  ยิ่งใช้คำถามเชิงบวกมากเท่าไร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยิ่งประสบความสำเร็จและความยั่งยืนมากกว่า

ตัวอย่างคำถามที่ใช้ใน Appreciative Inquiry

            คำถามต่อไปนี้เป็นแนวทางเพื่อให้เห็นวิธีการค้นหาสิ่งที่ดีงาม ในการค้นหาจริง อาจจะใช้คำถามเหล่านี้ร่วมกับคำถามเฉพาะตามประเด็นที่องค์กรต้องการพัฒนา

          1) คำถามเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเริ่มต้นทำงาน

·       คุณมาเริ่มทำงานที่องค์กรนี้เมื่อไร มีสิ่งดึงดูดหรือเหตุจูงใจอะไร

·       สิ่งที่คุณมีความประทับใจมากที่สุดในองค์กรของคุณคืออะไร

·       องค์กรนี้แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร และทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร

          2) คำถามเพื่อเรียนรู้ในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จที่สุด

·       เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น

·       อะไรทำให้คุณมีความรู้สึกที่ดีต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น

·       คุณมีส่วนร่วมอย่างไรในเหตุการณ์ครั้งนั้น สิ่งที่ทำเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความสำเร็จอย่างไร?

·       คนอื่นมีบทบาทอย่างไร มีผลต่อความสำเร็จอย่างไร

·       ภาวะผู้นำ ความร่วมมือ ระบบ องค์กร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จขึ้นมาได้ ช่วยอย่างไร

          3) ภาพในอนาคตขององค์กร
          สมมติว่าหลังจากที่คุณเข้านอนคืนนี้แล้ว หลับสนิทไป 3 ปี เมื่อตื่นขึ้นมาและมาถึงที่ทำงาน คุณพบว่าองค์กรของคุณได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นองค์กรที่คุณเคยฝันไว้  ทั้งด้านผู้คน การมีปฏิสัมพันธ์ พลังในการทำงาน

·       ขอให้บรรยายในสิ่งที่คุณเห็น  ภาวะผู้นำในแต่ละระดับเป็นอย่างไรบ้าง 

·       การเปลี่ยนแปลงในสิ่งเล็กๆ ที่เราสามารถทำได้ทันทีเพื่อให้เกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในการเคลื่อนองค์กรไปสู่อุดมคติคืออะไร

·       การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เราสามารถทำได้และเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้องค์กรปรับรูปไปในอนาคตคืออะไร

          4) คุณค่าที่ต้องสานต่อ
          องค์กรที่มีประสิทธิผลจะมีการเปลี่ยนแปลงและสร้างนวตกรรม  ในการเคลื่อนไปสู่อนาคตในฝัน จะมีการรักษาสิ่งที่เป็น “positive core” ที่องค์กรทำได้ดีที่สุดไว้ และปล่อยสิ่งที่ไม่จำเป็นไป ขอให้ระบุจุดแข็ง ค่านิยม คุณภาพ วิธีการทำงาน ที่คุณอยากเก็บรักษาไว้เพื่อให้องค์กรเคลื่อนไปสู่อนาคตในฝันมาสัก 3 ประการ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 21628เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2006 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท