บทที่ ๕ ภายในชีวิต


เราเป็นส่วนหนึ่งของใครบางคน

CHAPTER 5

ภายในชีวิต

            แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า กล้องจุลทรรศน์เล็ก ๆ อย่างนี้ จะมีความสามารถได้ขนาดนั้นวันนี้ครูชาติยาได้เตรียมสไลด์เซลล์เยื่อบุข้างแก้มและสไลด์เยื่อผิวใบชบา มาให้นักเรียนศึกษา นักเรียนในห้องต่างแย่งกันดูความมหัศจรรย์แห่งชีวิต

            “เป็นยังไงจ๊ะ นักเรียน” ครูชาติยายิ้มกริ่ม กับความสำเร็จที่สามารถชักจูงนักเรียนให้หันมาสนใจการเรียนได้  ครูชาติยารู้ว่ารากฐานของความสำเร็จของนักเรียนในอนาคตก็คือการศึกษาเล่าเรียนนี่เอง

            “คุณครูครับ อะไรกันครับนี้  น่ากลัวจังเลย”

            “ครูกำลังให้พวกเธอศึกษาส่วนประกอบของเซลล์จ๊ะ  กล้องจุลทรรศน์ทางซ้ายเป็นเซลล์สัตว์ และทางขวาคือเซลล์พืช ขอให้นักเรียนแบ่งเป็นสองกลุ่ม ปรับภาพจากกล้องจุลทรรศน์ให้ชัด สังเกตส่วนประกอบของเซลล์และก็วาดรูปเซลล์ที่นักเรียนเห็นมาให้ครูด้วย  ถ้าเข้าใจแล้ว ทำจ๊ะ”

            “คร๊าบ”   ภาพที่นักเรียนกระตือรือร้นในการค้นคว้าหาคำตอบยิ่งทำให้ครูชาติยา มีความตั้งใจในการสอน  มีนักเรียนหลายคนที่พ่ายแพ้ต่อจิตใจของตัวเอง ทำให้ต้องออกเรียนกลางคัน ซึ่งชีวิตของนักเรียนเหล่านั้นจึงต้องผกผันไปจากการศึกษาอย่างน่าเสียดาย

            กิจกรรมการเรียนได้ดำเนินไปด้วยความสนุกสนาน ในขณะที่ครูชาติยาก็คอยให้ความรู้อย่างใกล้ชิด

            “นักเรียนค่ะ  เซลล์พืชและเซลล์สัตว์มีส่วนประกอบบางชนิดคล้ายคลึงกัน เช่น มีเนื้อหุ้มเซลล์ไชโทพลาซึมและนิวเคลียสเหมือนกัน แต่ก็มีส่วนประกอบบางส่วนที่แตกต่างกัน  พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีโครงสร้างของเซลล์และเนื้อเยื่อที่แข็งแรงมากกว่าเนื้อเยื่อของสัตว์  เนื่องจากในเซลล์พืชมีโครงสร้างผนังเซลล์ที่แข็งแรง ส่วนเนื้อเยื่อของสัตว์มีลักษณะ อ่อนนุ่ม  นักเรียนลองจับผิวหนังที่แขนของตัวเองดูสิค่ะ”

            นักเรียนในห้อง ม.1/2  แบ่งกลุ่มกันดูเซลล์พืชและเซลล์สัตว์  และได้วาดรูปมาให้ครูชาติยา   ครูชาติยาได้นำรูปทั้งสอง แล้วขีดเขียนทำเครื่องหมาย พร้อมคำอธิบายสักครู่หนึ่งจึงติดไว้ที่กระดาน

                “นักเรียนค่ะ เซลล์ของสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ไม่ว่าจะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันอย่างไรก็จะมีส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่คล้ายคลึงกันอยู่ 3 ส่วนใหญ่ ๆ ค่ะ คือ 1. ผนังเซลล์ (Cell  Wall)       เป็นผนังที่คลุมเยื่อหุ้มเซลล์ไว้  พบเฉพาะในเซลล์พืชเท่านั้น  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยเซลลูโลส (Cellulose) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำให้เซลล์พืชแข็งแรงและคงรูปอยู่ได้ เช่นเนื้อไม้เป็นต้น ผนังเซลล์มีช่องให้น้ำ แร่ธาตุ และสารอาหารผ่านเข้าและออกจากเซลล์ได้ ค่ะ”

            “คุณครูครับ  แล้วผนังเซลล์มีหน้าที่ทำอะไรครับ” ศุทธวัตร เป็นคนถาม

            “ขอบใจจ๊ะที่ถาม  เพื่อน ๆจะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น  ผนังเซลล์จะเป็นผนังแข็งห่อหุ้มเซลล์  ช่วยเพิ่มความแข็งแรง ป้องกันอันตรายให้แก่เซลล์พืชและป้องกันการระเหยของน้ำ เข้าใจใช่ไหมจ๊ะ”  “ครับ”

            ครูชาติยายิ้มและกล่าวต่อ  “ และยังมีเยื่อหุ้มเซลล์ (Cell  membrane) ซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ ล้อมรอบเซลล์ อยู่ถัดจากผนังเซลล์เข้ามา ประกอบด้วยสารโปรตีนและไขมัน ทำหน้าที่การแลกเปลี่ยนสารระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ “

นักเรียนทุกคนต่างรู้สึกว่า ภายในของชีวิตพืชและสัตว์นั้น  ช่างน่าพิศวงและน่าตื่นเต้น

            “ ส่วนประกอบสำคัญส่วนที่ 2 คือ นิวเคลียส (Nucleus) ซึ่งเป็น ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของเซลล์ พบทั้งในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นทรงกลมหรือทรงรี  อยู่ตรงกลางหรือค่อนไปข้างใดข้างหนึ่งของเซลล์ โดยปรกติ 1เซลล์จะมี  1นิวเคลียสค่ะ ยกเว้นเซลล์ของพารามีเซียม จะมี  2  นิวเคลียส หน้าที่สำคัญของนิวเคลียสก็คือ ควบคุมกระบวนการทำงานของเซลล์สิ่งมีชีวิตและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลาน..”

            “ เหมือนดวงกมลใช่ไหมครับ  อ้วนเหมือนแม่ ” เสียงเพื่อนในห้องส่งเสียงเฮลั่น เมื่อสิ้นสุดเสียงของวีรยุทธ

            “วี.....ระ....ยุทธ” ครูชาติยาส่งเสียงสูง

            “ เอ้า เรามาเรียนกันต่อ  ส่วนประกอบที่ 3 คือ ไซโทพลาซึม (Cytoplasim)  เป็นของเหลวข้นอยู่รอบนิวเคลียส เป็นที่รวมของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในเซลล์ รวมทั้งเป็นแหล่งที่เกิดปฎิกิริยาเคมีต่างๆ ที่ช่วยให้เซลล์ดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเป็นแหล่งที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง   ทั้ง 3 ประการนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์   มีใครสงสัยหรือจะถามอะไรครูเพิ่มเติมหรือเปล่าค่ะ”

            ห้องเรียนสร้างสรรค์ของรติวิทย์ เป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ ซึ่งคุณครูชาติยาได้อบรมสั่งสอนว่า หาต้องการรู้  ต้องหมั่นถาม

            “ คุณครูค่ะ แล้ว แล้ว เซลล์พืชกับเซลล์สัตว์ มีโครงสร้างแตกต่างกันบ้างไหมค่ะ” ดวงกมลถามอย่างเอียงอาย

            “ มีสิค่ะ  เซลล์พืชมีรูปร่างคล้ายกล่อง มีลักษณะแข็ง เพราะมีอะไรใครตอบครูได้บ้าง”

            “ เพราะมีผนังเซลล์ครับ”  วีรยุทธแย่งตอบ เมื่อเห็นดวงกมลเป็นผู้ถาม

            “ ถูกต้องค่ะ ส่วนเซลล์สัตว์นั้น  มีรูปร่างไม่แน่นอน มีลักษณะอ่อนนุ่ม  เพราะมีเพียง....”

            “ เยื่อหุ้มเซลล์ค่ะ “  ดวงกมลลุกขึ้นตอบพร้อมกับเชิดหน้าไปทางวีรยุทธ

            “ จ๊ะ  ส่วนนิวเคลียส นั้น เซลล์พืชอยู่ด้านข้าง เซลล์สัตว์อยู่ตรงกลาง  และพืชบางเซลล์มีครอโรพาสต์ ซึ่งมีหน้าที่ดักจับพลังงานแสง เพื่อนำมาใช้สร้างอาหารในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ส่วนเซลล์สัตว์ไม่มี”     เสียงกริ่งดังเตือนหมดเวลา   สำหรับคาบเรียนความลี้ลับของชีวิตในวันนี้

            รติวิทย์ นั่งนิ่งนึกอยู่ภายในใจ   ภายในชีวิตของเรานี้มีสิ่งซับซ้อนอยู่มากมาย และทำให้รู้ว่า เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของพ่อและแม่ จริง ๆ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #เซลล์
หมายเลขบันทึก: 215921เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2008 04:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ใจกลั่น นาวาบุญนิยม

ชอบอ่านค่ะ เอาไปให้นักเรียนอ่านด้วย เพิ่งจะมาเป็นครูวิทย์นะคะ ดีใจมากที่ได้นิทานวิทย์มาอ่าน หนุกดีค่ะ

ใจกลั่น นาวาบุญนิยม

ชอบอ่านค่ะ เอาไปให้นักเรียนอ่านด้วย เพิ่งจะมาเป็นครูวิทย์นะคะ ดีใจมากที่ได้นิทานวิทย์มาอ่าน หนุกดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท