7 วิธี ถนอมสุขภาพปอดให้ดีไปนานๆ


 

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า การสูบบุหรี่มีส่วนทำให้อายุคนเราสั้นลงประมาณ 12 ปี ความจริงถ้าสั้นลงอย่างเดียวก็ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไร

ทว่า... ปัญหาอยู่ที่สุขภาพช่วงท้ายของชีวิตมักจะไม่ค่อยดีไปด้วย โดยจะเสี่ยงป่วยหนัก เช่น ถุงลมโป่งพองระยะสุดท้าย อาจถึงต้องเจาะคอ (เพื่อช่วยการหายใจ) ใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล และนอนไม่ค่อยหลับจนถึงวันตาย ฯลฯ

...

เรื่อง "นอนไม่หลับจนถึงวันตาย" นี่... คุณแม่ผู้เขียนเป็นคนเล่าให้ฟังเอง เนื่องจากคุณพ่อสูบบุหรี่ และเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่อายุ 52 ปี

หลังจากคุณพ่อเสียชีวิต อีกประมาณ 15 ปีต่อมา... คุณแม่ก็เริ่มมีอาการถุงลมโป่งพองมากขึ้นทีละน้อย และได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในโรงพยาบาล ซึ่งคุณแม่บอกว่า "นอนหลับได้น้อยมากๆ (เนื่องจากคนพลุกพล่าน เสียงดัง และมีการวัดชีพจรบ้าง ความดันเลือดบ้างทุกๆ 15-30 นาที)"

...

ภาพจากหนังสือ "ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ" โดยท่านอาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ [ อ้างอิงไว้ด้านล่าง ]

...

ท่านอาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ตีพิมพ์เรื่อง "ภัยบุหรี่" ในหนังสือ"ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ"

ท่านทำกราฟที่แสดงสมรรถภาพปอดไว้ในเรื่อง "ภัยบุหรี่" ที่ทำให้พวกเราเข้าใจชีวิตได้ง่ายขึ้นมาก

...

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า สมรรถภาพปอดของคนเราลดลงตามอายุ อายุเพิ่มขึ้นจะมีสมรรถภาพปอดลดลง

ทว่า... สมรรถภาพปอดที่ลดลงตามอายุขัยจะไม่เป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญ ยกเว้นแต่จะมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ฯลฯ ดังกราฟเส้นที่ 1 (เส้นบนสุด)

...

ภาพจากหนังสือ "ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ" โดยท่านอาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ [ อ้างอิงไว้ด้านล่าง ]

...

ทีนี้ถ้าสูบบุหรี่... บุหรี่จะทำให้สมรรถภาพปอดลดลงเร็วกว่าอายุ หรือ "ปอดแก่เกินวัย" อย่างรวดเร็วดังกราฟเส้นที่ 2

กราฟเส้นที่ 3,4 แสดงผลของการเลิกบุหรี่ ซึ่งจะทำให้สมรรถภาพปอดดีขึ้นมาก แม้จะไม่ดีเท่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ (กราฟเส้นที่ 1) ก็ตาม

...

ความต่างกันอยู่ที่ว่า ยิ่งเลิกบุหรี่ตอนอายุน้อย ผลดีต่อสุขภาพจะยิ่งมากขึ้น ดังตัวอย่างถ้าเลิกเมื่ออายุ 45 ปี (กราฟเส้นที่ 3) จะทำให้สมรรถปอดดีกว่าคนที่เลิกตอนอายุ 65 ปีมากมาย (กราฟเส้นที่ 4)

ถ้าจะถามว่า ทำอย่างไรคนไทยรุ่นใหม่จึงจะมีปอดใหญ่ (มีความจุมาก) และมีสมรรถภาพสูงพอที่จะแข่งขันกับนานาชาติ เช่น แข่งกีฬาระหว่างประเทศ ฯลฯ ได้

...

 

ภาพจากหนังสือ "ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ" โดยท่านอาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ [ อ้างอิงไว้ด้านล่าง ]

...

คำตอบคือ ต้องเตรียมการกันตั้งแต่เด็กให้มีรูปร่างสูง เนื่องจากคนสูงมักจะมีปอดใหญ่กว่าคนตัวเตี้ยชัดเจน

ปัจจัยที่ทำให้เด็กตัวสูงมีหลายอย่าง นอกจากพันธุกรรม เช่น พ่อแม่สูงหรือไม่ ฯลฯ แล้ว ปัจจัยที่จะส่งผลให้สมรรถภาพปอดดีขึ้นได้แก่

..

(1). นอนให้พอ

  • การนอนให้พอตั้งแต่หัวค่ำ และไม่นอนดึกเกินตั้งแต่เด็กช่วยให้ความสูงเพิ่มขึ้น คนที่รูปร่างสูงมีต้นทุนปอด (ความจุ) สูงกว่าคนที่มีรูปร่างเตี้ย (ตัวอย่างคนรูปร่างเตี้ยก็ไม่ใช่ใครที่ไหน... ผู้เขียนนี่เอง)

...

(2). ได้รับนมแม่

  • การได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนเป็นอย่างน้อยมีส่วนเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย
  • การป่วยบ่อยๆ ในวัยเด็กมีส่วนทำให้ส่วนสูงน้อยลง ซึ่งจะทำให้ปอดเล็กกว่าคนที่ตัวสูงกว่าได้

...

(3). ระวังอย่าให้ป่วยบ่อยตั้งแต่เด็ก

  • การได้รับวัคซีนและการรักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือด้วยสบู่ให้ถูกวิธีก่อนกินอาหาร ก่อนดื่มน้ำ หลังออกจากห้องน้ำ หลังเล่นกับสัตว์ และก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง ฯลฯ มีส่วนป้องกันโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคติดเชื้อ

...

(4). ได้รับสารอาหารมากพอ

  • การได้รับสารอาหารที่จำเป็นมากพอ โดยเฉพาะแคลเซียม มีส่วนทำให้คนตัวสูงขึ้น นั่นหมายถึง "ต้นทุนปอด (ความจุปอด)" มากขึ้นไปด้วย

...

(5). ระวังอย่าให้อ้วน

  • ภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในวัยเด็กเพิ่มความเสี่ยง (โอกาส) ที่จะหยุดสูงเร็วกว่าวัยอันควร ซึ่งจะส่งผลทางอ้อม ทำให้ต้นทุนปอด (ความจุปอด) ไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร

...

  • คนที่อ้วนมากๆ มีโอกาสกรนมากขึ้น สมรรถภาพปอดลดลง และเสี่ยง (มีโอกาสเป็น) โรคหยุดหายใจในระหว่างการนอนหลับเพิ่มขึ้น

...

(6). ออกแรง-ออกกำลัง

  • การออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิค (aerobics) หรือการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ต่อเนื่อง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ (ว่ายต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่ายๆ หยุดๆ แล้วพักไปกินขนมปังไส้ไอศกรีมแบบผู้เขียนตอนเด็กๆ) ฯลฯ มีส่วนเสริมสร้างสมรรถภาพปอดให้ดีขึ้นได้

...

(7). ไม่ทำร้ายปอด

  • การไม่สูบบุหรี่ ไม่สูบยาสูบ ไม่หายใจเอาควันบุหรี่มือสอง (ควันบุหรี่ที่คนอื่นสูบเข้าไป) ไม่เผาใบไม้-ขยะ (พบมากทางภาคเหนือ ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไรที่ลำปางกับเชียงใหม่มีสถิติมะเร็งปอดสูงที่สุดในประเทศ) ไม่จุดธูปหรือเทียนในบ้านหรือห้องที่มีการระบายอากาศไม่ดี มีส่วนช่วยถนอมปอดได้มาก

...

  • อาจารย์ พญ.รติกรแนะนำว่า คนที่สูบบุหรี่ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร ถ้าเลิกบุหรี่ก็จะได้รับประโยชน์จากการเลิกบุหรี่
  • แม้แต่คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง (COPD) แล้ว... ถ้าเลิกบุหรี่ก็จะได้รับประโยชน์จากการเลิกมากมายเช่นกัน

...

ขอให้กำลังใจพวกเราที่คิดจะไม่สูบบุหรี่ ไม่หายใจเอาควันบุหรี่มือสองเข้าไป หรือถ้าสูบบุหรี่แล้วคิดจะเลิก

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

ขอแนะนำ                                            

...

  • คำแนะนำเลิกบุหรี่
  • โทรศัพท์ Quitline 1600

...

  • หนังสือ "ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ" เขียนโดย ท่านอาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ พิมพ์ครั้งที่ 1. เมษายน 2551. ราคา 98 บาท.

... 

ที่มา                                                             

...

  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ พญ.รติกร อัศวรุ่งนิรันดร์ > ภัยบุหรี่ ใน: ดูแลสุขภาพอย่างมืออาชีพ > Nanmeebooks (www.nanmeebooks.com) > พิมพ์ครั้งที่ 1. เมษายน 2551. หน้า 99-105. 
  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์แพทย์ พยาบาล คลังเลือด และบุคลากรโรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ที่ให้การดูแล รักษาคุณแม่อย่างดีที่สุดในช่วงสุดท้ายของชีวิต.

...

  • Thank JPTS > Hiroyasu Iwatsuki & Junko Iwatsuki > Relationship of the lung volume to height, arm spam, upper arm length and the second digital proximal phalangeal length > [ Click ] , [ Click ] > J of Physical therapy Science. Vol 11(1999). No.2 pp 101-104. 
  • Thank Chest J > Norman G. G. Hepper, Ward S. Fowler, H. Frederic Helmholz Jr > Relationship of height to lung volume in healthy men > [ Click ] > Chest. 1960;37:314-320.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 2 ตุลาคม 2551.

... 

หมายเลขบันทึก: 215659เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าสูบแล้วตายคนเดียวคงไม่มีคนว่า แต่ปัจจุบันตามหน้าห้างหรือที่จอดรถห้าง ตามสถานที่สาธารณะก็ยังมีคนสูบอยู่ครับ เมื่อก่อนตอนที่ผมเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อนๆก็สูบกันเยอะครับ อาจพลอยทำให้คนอื่นเดือดร้อนตามไปด้วยจริงๆ คนที่สูบอยู่เลิกเถอะครับ เพื่อตัวเองและเพื่อบุคคลรอบข้าง ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณ... คุณ hall

  • ขอขอบคุณข้อคิดเห็นที่จะมีประโยชน์ต่อคนไทยหมู่มากต่อไปครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท