อาหารปิ้งๆย่างๆ+ไขมัน เพิ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม


 

...

เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารประเภทปิ้งๆ ย่างๆ มีสารก่อมะเร็ง (heterocyclic amines / HAs) หรือเจ้า "เอชเอ" (ชื่อตรงกับกิจกรรมพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่ทำหมอปวดหัวไปตามๆ กัน แค่ได้ยินชื่อก็ปวดหัวนิดหน่อยแล้ว) โดยเฉพาะเนื้อที่ปิ้งหรือย่างจนไหม้เกรียม

วันนี้มีผลการศึกษาที่พบว่า สารก่อมะเร็งนี้จะออกฤทธิ์ได้ดีถ้ากินคู่กับน้ำมันพืชมาฝากครับ

...

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงน้ำมันที่กินได้ตามธรรมชาติ 4 กลุ่มใหญ่ๆ ก่อน

(1). ไขมันอิ่มตัว

  • พบมากในกะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

...

  • ไขมันกลุ่มนี้เป็นไขมันอิ่มตัว จัดเป็นไขมันชนิด "เลว"
  • ไขมันอิ่มตัวทำให้ไขมันในเลือดชนิดเลว (โคเลสเตอรอล) ชนิด LDL เพิ่มขึ้น

...

(2). ไขมันโอเมกา-9

  • พบมากในน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง

...

  • ไขมันกลุ่มนี้เป็นไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (MUFA) จัดเป็นไขมันชนิด "ดีมาก"
  • กลุ่มนี้ทำให้ไขมันในเลือดชนิดเลวหรือ LDL ลดลง และทำให้ไขมันในเลือดชนิดดีหรือ HDL เพิ่มขึ้นได้ในคนบางคน

...

  • ข้อควรระวังคือ น้ำมันมะกอกไม่ทนความร้อนสูง ถ้านำไปใช้ทอดอาจเกิดควัน (ไขมันชนิดดีมากจะเสื่อมสภาพไปด้วย) ถ้าจะทอด > ควรใช้น้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันรำข้าวแทน

...

(3). ไขมันโอเมกา-6

  • พบมากในน้ำมันพืชส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่กะทิ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม เช่น น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ

...

  • ไขมันกลุ่มนี้เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) จัดเป็นไขมันชนิด "ดีปานกลาง"
  • ถ้ากินแต่น้อยจะช่วยลดโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL)

...

  • ถ้ากินมากจะลดทั้งโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) และโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เปรียบคล้ายคนที่ทำร้ายทั้งคนเลว (LDL) และคนดี (HDL) ประเภท "ใครขวาง-ข้าฯ ยิงเรียบ" หรืออะไรทำนองนั้น

...

(4). ไขมันโอเมกา-3

  • พบมากในปลาที่ไม่ผ่านการทอด โดยเฉพาะปลาทะเล เช่น ปลากระป๋อง ฯลฯ เมล็ดปอ (แฟลกซีด) น้ำมันปลา

...

  • ไขมันกลุ่มนี้เป็นไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (PUFA) จัดเป็นไขมันชนิด "ดีมากเป็นพิเศษ"
  • การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การกินโอเมกา-3 ให้มากหน่อยมีส่วนทำให้การอักเสบในร่างกายลดลง ทำให้ความเสี่ยง (โอกาสเป็น) โรคเรื้อรังหลายชนิดลดลง

...

  • ปลาน้ำจืดก็มีโอเมกา-3 ทว่า... มีน้อยกว่าปลาทะเล
  • น้ำมันถั่วเหลืองก็มีโอเมกา-3 ทว่า... มีโอเมกา-6 สูงด้วย

...

ถ้าจะเลือกน้ำมันพืชที่ดีกับสุขภาพ โดยเฉพาะดีกับโคเลสเตอรอลชนิดดีหรือ HDL แล้ว

เรียนเสนอให้เลือกน้ำมันพืชกลุ่ม (2) ได้แก่ น้ำมันรำ น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันคาโนลา และกินปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอดสัปดาห์ละ 2-5 ครั้ง

...

ถ้าไม่กินปลา... ควรใช้น้ำมันรำข้าวกับน้ำมันถั่วเหลืองอย่างละครึ่ง ถ้าจะทำอาหารทอดควรใช้น้ำมันรำข้าวอย่างเดียว โดยไม่ต้องผสมน้ำมันถั่วเหลือง เนื่องจากน้ำมันถั่วเหลืองมีไขมันโอเมกา-6 ซึ่งไม่ทนความร้อนสูง

ไขมันกลุ่ม PUFA หรือกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโอเมกา-3 หรือโอเมกา-6 มีจุดอ่อนที่ไม่ทนความร้อนสูง โดยเฉพาะความร้อนจากการทอด ปิ้ง และย่าง

...

ขอสรุปอีกครั้ง

  • ไขมันอิ่มตัว > ไม่ดีกับสุขภาพ
  • โอเมกา-9 ดีกับสุขภาพมาก
  • โอเมกา-6 ปริมาณต่ำๆ ดีกับสุขภาพ แต่ไม่ทนความร้อนสูง
  • โอเมกา-3 ดีกับสุขภาพมากเป็นพิเศษ แต่ไม่ทนความร้อนสูง

...

การกินอาหารให้ดีกับสุขภาพในระยะยาว... ควรเน้นการกินโอเมกา-9 ได้แก่ ใช้น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันคาโนลาปรุงอาหาร

นอกจากนั้นควรเสริมโอเมกา-3 ไปหน่อย เช่น กินปลาทะเลที่ไม่ผ่านการทอด 2-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ปลาน้ำจืดก็ใช้ได้ (ดีรองลงไป) ถ้าไม่กินปลา... ควรใช้น้ำมันรำข้าวผสมน้ำมันถั่วเหลือง หรือกินถั่วเหลืองต้ม

...

กล่าวถึงน้ำมันไปตั้งนาน... ต่อไปจะกลับมาเรื่องสารก่อมะเร็ง

สารก่อมะเร็งในอาหาร (HA) พบมากในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง หรือทอด เช่น หมูปิ้งทางภาคเหนือ (ปิ้งไปด้วยราดน้ำมันหมูจนชุ่มโชก แถมยังไหลเยิ้มลงบนถ่าน เกิดควันมากมาย ปิ้งแต่ละครั้งควันคละคลุ้งไปทั่ว)

...

ทีมนักวิจัยจากสวีเดนทำการศึกษาใหม่พบว่า เจ้า HA ลำพังตัวมันอย่างเดียวไม่ก่อให้เกิดมะเร็งได้มากเท่าไร

ทว่า... ถ้ากินร่วมกับไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งที่ชื่อว่า "โอเมกา-6" ซึ่งมีมากในน้ำมันพืชแล้ว โอกาสเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้น

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์เอมิลี โซเนสชเต็ตท์ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยลุนท์ มาลโม สวีเดน (Dr. Emily Sonestedt, of Lund University, Malmo)

การศึกษานี้ทำในหนู แบ่งหนูเป็น 2 กลุ่มย่อย ให้กินสารก่อมะเร็ง HA ทั้งสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินน้ำมันพืชที่มีโอเมกา-6 สูง อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารไขมันต่ำ

...

ผลการศึกษาพบว่า หนูกลุ่มที่ได้รับสารก่อมะเร็งจากการปิ้ง ย่าง หรือทอดเนื้อ (หรือปลา) ด้วยความร้อนสูง หรือได้รับสาร 'HA' ไม่เพิ่มความเสี่ยง (โอกาสเป็น) มะเร็ง

ทว่า... ถ้าได้รับสารก่อมะเร็ง 'HA' ด้วย ได้รับไขมันพืชชนิดโอเมกา-6 ด้วย จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น

...

นอกจากนั้นยังทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป 11,699 คน ติดตามไป 10 ปี (the Malmo Diet and Cancer study)

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 'HA' ไม่มีความเสี่ยง (โอกาสเป็น) มะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 'HA' ด้วย และกินไขมันโอเมกา-6 สูงด้วย เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

...

อาจารย์โซเนสชเต็ดท์กล่าวว่า การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า ผู้หญิงที่กินขนมปังขาว คุกกี้ และเค้ก (ขนมหวาน) เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยง (โอกาสเป็น) มะเร็งเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกเริ่ม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุน หรือคัดค้านต่อไป ทว่า... การเลือกน้ำมันที่ดีหน่อยมาใช้ เช่น น้ำมันรำข้าว ฯลฯ การกินอาหารไขมันต่ำ การลดอาหารปิ้งๆ ย่างๆ หรืออาหารทอดให้น้อยลงน่าจะดีกับสุขภาพในระยะยาว

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

 

...

 

 

ที่มา                                                             

...

  • Thank Reuters > Omega-6 fatty acid intake tied to breast cancer > [ Click ] > September 28, 2008. // SOURCE: International Journal of Cancer, October 1, 2008.

...

  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง... ควรปรึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือหมออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้

...

  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา + อ.ณรงค์ ม่วงตานี > สนับสนุนเทคนิค iT. 
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์แพทย์ชุมชน (CMU) แม่สัน-เมืองยาว โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง > 1 ตุลาคม 2551.

 

... 

หมายเลขบันทึก: 215653เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท